เจลแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ล้างมือ ตัวช่วยฆ่าเชื้อโรค ในยุคโควิด19 ระบาดที่มีวางไว้ให้สะดวกใช้งาน แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเมื่อแม่แชร์เตือนภัยลูกเผลอกินแอลกอฮอล์
เตือนภัยลูกเผลอกิน เจลแอลกอฮอล์ อันตรายใกล้ตัว!!
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กนะคะ เจอมากับตัวเองเลยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา…ขณะที่คุณพ่อตัดสินใจจะกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อไปร่วมงานทำบุญกระดูก 100 วันคุณตา เพียงคนเดียวเนื่องจากกลัวเสี่ยงโควิดระบาด เลยไม่อยากพาลูกไปด้วย เมื่อคุณพ่อออกเดินทางไปเพียงไม่ถึง 15 นาที ก็มีเรื่องตกใจเกิดขึ้น..ในขณะที่คุณแม่ กำลังเข้าไปทำกับข้าวให้ลูกชายในครัว แม่ก็ได้ยินเสียงลูกชายไอแคร๊กๆ ออกมา แล้วร้องเรียก แม่คร๊าบ แม่คร๊าบ พร้อมร้องไห้ เราก็ออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นก็พบว่ามีขวดแอลกอฮอล์ที่เป็นขวดเติมขวดเล็กสำหรับพกพา เปิดฝาอยู่ เรารู้ทันทีว่าลูกน่าจะกระดกแอลกอฮอล์เข้าปากไปแน่นอนตอนนั้นตกใจมาก ลูกก็ร้องไห้ หน้าแดงคอแดง แม่รีบเอาน้ำดื่มกรอกปากลูกให้มากที่สุดจนลูกอ้วกพุ่งออกมาเป็นน้ำเมือกๆ แม่ก็กรอกน้ำลงไปอีก พยายามให้ลูกอ้วกออกมาให้เยอะที่สุด เค้าก็อ้วกออกมา 4-5 รอบ เป็นน้ำพุ่งๆ เมือกๆ เรารีบโทรตามคุณพ่อให้กลับมาบ้านด่วน อาจต้องพาลูกไป ร.พ.สักพักลูกมีอาการเหมือนเมาๆ หน้าแดงกร่ำถึงคอ บอกแม่ๆ ง่วงๆ พานอนๆ นมๆๆ ขอนมหน่อย เราก็ใจคอไม่ดี รอพ่อให้กลับมาบ้าน…รีบเปิดเน็ตหาวิธีแก้พิษเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีข้อมูลน้อยมาก แต่ก็เจออยู่ข้อมูลนึงคือ ให้ดื่มน้ำเยอะๆ ให้อาเจียนออกมา และให้จิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้พิษเจือจาง ถ้ามีนมให้ดื่มนม…เมื่อพ่อกลับมาถึงบ้าน ลูกชายรีบวิ่งไปหาพ่อทันที ยังมีอาการอึกอั๊กๆ จะอ้วก เลยพาเข้าห้องน้ำไปอ้วก แล้วให้กินนม กินไปได้ครึ่งขวด ก็เหมือนจะอาการดีขึ้น เลยติดต่อไปทางเพื่อนที่อยู่ ร.พ. เพื่อนบอกให้ลองสังเกตอาการ เพราะเราไม่รู้ว่ากินไปเยอะแค่ไหน หรืออาจแค่จิบเข้าไป แล้วพอรู้ว่าไม่อร่อยก็บ้วนทิ้งแต่มันยังติดอยู่ที่ปาก เลยให้สังเกตอาหารถ้าไม่ซึม ก็ไม่เป็นไร หรือถ้าให้ชัวร์คือพาไปหาหมอ…แต่ผ่านไปประมาณ 10 นาที ลูกมีอาการดีขึ้น ไม่ซึม กลับวิ่งเล่นปกติ ร้องเพลง เล่นกับพ่อ แต่ก็ยังไม่นอนใจ เลยตัดสินใจเก็บของเก็บกระเป๋าเดินทางไปพร้อมพ่อ เพื่อไปหาหมอและสังเกตอาการ คุณพ่อไม่กล้าทิ้งแม่และลูกไว้ลำพัง เพราะมันไม่สะดวกเลยในยุคโควิดแบบนี้…เมื่อพาไปพบหมอที่คลีนิคใกล้บ้าน หมอไม่อยู่อีก พยาบาลบอกจากที่ดูอาการไม่น่าเป็นห่วง ให้คอยสังเกตอาการเอา เพราะลูกไม่มีอาการซึมเลย ยังร่าเริงปกติ…เมื่อขึ้นรถมาสักพัก ก็บ่นแต่หิว และซัดแฮมเบอร์เกอร์ไป 1 ชิ้นเต็มๆ กินอิ่ม ก็ขอนอน หลับมา พอตื่นก็ร้องเพลงกล่อมคนในรถ พ่อกับแม่ก็มองหน้ากันว่า ดูจากอาการ ลูกคงไม่เป็นอะไรแล้ว…สอบถามไปทางเพื่อนซึ่งเป็นคุณหมอจากอาการที่เกิดขึ้น หมอบอกว่าน่าจะไม่ต้องเป็นห่วง อาการเข้าข่ายปกติแล้ว แม่ก็เบาใจ…มาถึงวันนี้ ลูกชายยังปกติ กินอิ่ม นอนหลับ และเล่นทั้งวันเหมือนเดิม#ขอให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ เลยว่าเด็กก็คือเด็ก เค้าไม่รู้ว่าอะไรกินได้หรือไม่ได้ คนเป็นพ่อแม่ต้องเก็บให้ดี ต้องระวังให้มากที่สุดปล.ยังงงกันทั้งพ่อและแม่ว่าลูกไปเอาขวดแอลกอฮอล์ขวดนั้นมาจากไหน เพราะปกติของพวกนี้เราจะเอาไว้บนหลังตู้ ให้สูงกว่ามือเค้าอยู่แล้ว หรือสันนิษฐานได้ว่าขวดนี้ที่มีแอลกอฮอล์อยู่ติดก้นขวดมันเบา อาจพลัดตกลงมาจากด้านบนตู้ แล้วลูกเห็นเป็นขวดน้ำสีๆ เลยยกมากินขอขอบคุณเรื่องราวอุทธาหรณ์ที่นำมาแบ่งปันจาก Tonnam kids shop
ทำความรู้จัก เจลแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ล้างมือ
เจลแอลกอฮอล์สูตรพื้นฐาน เพื่อการเตรียมเจลแอลกอฮอล์ 1,000 มล. :
ส่วนประกอบ
1. Carbopol 940 (คาร์โบพอล 940) 3.6 กรัม
2. Ethyl alcohol 95% (เอทิล แอลกอฮอล์ 95%) 540 มล.
3. Trichosan 1.2 กรัม
4. Triethanolamine (ไตรเอทาโนลามีน) 9.6 มล.
5. น้ำสะอาด 646.6 มล.
จากส่วนประกอบจะเห็นได้ว่า แอลกอฮอล์ คือสารสำคัญที่อยู่ในเจลล้างมือหลายชนิด และเพื่อให้มันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจลล้างมือจะมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูง มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่วางขายทั่วไปในร้านค้า ปริมาณแอลกอฮอล์ในเจลล้างมือบางชนิดอาจสูงถึง 80% ขึ้นไป
เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ : เป็นพิษแค่ไหน??
การใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์บนมือของเรานั้นส่วนมากมีความปลอดภัย หาคุณถูเจลล้างมือบนมือของคุณ เป็นเวลาประมาณ 30 วินาที ปริมาณแอลกอฮอล์ส่วนเกินนั้นจะระเหยไปเอง ดังนั้น ถ้าคุณหยิบจับอาหารหลังจากที่ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มันจะไม่มีแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่บนมือของคุณ และไม่มีโอกาสที่จะเป็นพิษต่อร่างกาย
ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำไม่ใช่การห้ามไม่ให้ลูกใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แต่ควรฝึกให้เด็ก ๆ ใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์อย่างถูกต้อง และเก็บให้พ้นมือของพวกเขา เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขามาเปิดฝา และกินเข้าไปในปริมาณมาก
ทำอย่างไร?? เมื่อลูกเผลอกินแอลกอฮอล์เจล
ปริมาณเจลแอลกอฮอล์ล้างมือจากการกดปั๊ม หรือบีบขวด 1 ครั้ง หรือประมาณ 2 – 2.5 มิลลิลิตร (ml.) ไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรเก็บเจลล้างมือแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ หรือสารเคมีใด ๆ เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก พยายามใช้เจลล้างมือที่เป็นขวดปั๊มแทนแบบฝาเกลียว ที่จะสามารถหมุนออกมาได้จะปลอดภัยกว่า เพราะขวดลักษณะดังกล่าวจะทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่กดใช้ออกมาหนึ่งครั้งถูกจำกัด
แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อลูกเผลอรับประทานเจลแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ล้างมือเข้าไป เราควรจะต้องปฎิบัติตัว ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับการรับประทานสารพิษเข้าได้ ดังนี้
ยาพิษที่ไม่มีฤทธิ์กัด ตัวอย่าง : แอลกอฮอล์ (เอทธิลแอลกอฮอล์) ,แอสไพริน ,ผลไม้ป่ามีพิษ , เห็ดพิษ ,ยาแผนปัจจุบัน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- มองหาภาขนะบรรจุยาพิษที่ตกอยู่ใกล้ผู้ป่วย นำไปโรงพยาบาลด้วย
- ถ้าทราบว่า เพิ่งรัปประทานยาเข้าไป พยายามทำให้อาเจียน ถ้าไม่ออกให้ดื่มน้ำมาก ๆ พยายามล้วงคอให้อาเจียน นำเศษอาเจียนไปให้แพทย์ดูด้วย (ถ้าทำได้)
- ถ้ากินยาพิษเข้าไประยะหนึ่งแล้ว อย่าทำให้อาเจียนเพราะพิษถูกดูดซึมภายหลัง
เอทิลแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล (Ethyl Alcohol หรือ Ethanol) เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 % ผลิตจากพืชประเภทน้ำตาลและพืชจำพวกแป้งเช่นเดียวกันกับแอลกอฮอล์ที่ผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะเป็นชนิดของแอลกอฮอล์ที่สามารถรับประทานได้ แต่ด้วยความเข้มข้นที่สูงกว่าในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป ทำให้ผู้ดื่มมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษและในบางรายรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงเหมาะสำหรับทำความสะอาด เช็ด ถู เพื่อฆ่าเชื้อ
ทั้งนี้ เอทานอลสำหรับล้างแผล เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของเอทานอล และ Isopropanol ไม่สามารถนำมารับประทานได้เพราะในขั้นตอนการผลิต มีสารเคมีต่างๆที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะมีการผสมสีเพื่อให้สังเกตุได้ง่าย
อาการของผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายในระดับต่าง ๆ
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกิดอาการครึกครื้น สนุกสนานร่าเริง
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวเสียไป ไม่สามารถควบคุมได้ดีเท่าภาวะปกติ
- ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็จะเกิดอาการเดินไม่ตรงทาง
- ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดอาการสับสน
- ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกิดอาการง่วง งง และซึม
- ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกิดอาการสลบ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจถูกกด ชีพจรช้าลง การหายใจช้าลง จนถึงอาจหยุดหายใจ และตายได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com/www.sbs.com.au/www.posttoday.com/คู่มือประชาชนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุข
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
หมดกังวลเรื่องอุบัติเหตุ! ด้วย 4 วิธีป้องกันอันตราย ให้ลูกน้อยมีอิสระ เรียนรู้ได้เต็มที่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่