ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ลูกน้อยของคุณกำลังเฝ้าดูและพยายามจะทำตามทุกการกระทำของคุณ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในพัฒนาการปกติของเด็กทั่วไป แต่สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของลูก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังให้ดีเลยค่ะ โดยเฉพาะเรื่องของปลั๊กไฟ กับสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ ที่อาจทำให้ ลูกถูกไฟช็อต โดยไม่คาดคิดมาก่อน
ดังกรณีที่ คุณแม่ท่านหนึ่ง ได้แชร์ประสบการณ์ ลูกถูกไฟช็อต จากสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ เพราะหนูน้อยอยากจะเลียนแบบแม่ ด้วยการลองเสียบสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ อย่างที่เห็นแม่ทำอยู่เป็นประจำ และผลที่ได้รับก็คือ ลูกถูกไฟช็อต จนมือเป็นแผลไหม้
คุณแม่เล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเธอ สายชาร์จฝั่งหนึ่งเสียบอยู่คาเต้าเสียบ เธอไม่คาดคิดว่า หนูน้อยจะหยิบสายชาร์จอีกฝั่งขึ้นมาและเสียบเข้าไปในเต้าเสียบอีกอัน และทันใดนั้นเอง ก็เกิดเสียงไฟฟ้าช็อต พรึ่บ เกิดประกายไฟ และควันสีดำ ส่งผลให้หนูน้อยกระเด็นไปไกล 2-3 ฟุตและนิ่งไป สักพักก็เริ่มกรีดร้องและร้องไห้ เธอรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที
ในช่วงแรกคุณหมอมีความกังวลว่า หนูน้อยจะได้รับการบาดเจ็บภายในหรือไม่ ส่งผลกระทบต่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือเปล่า จึงต้องขอให้นอนดูอาการที่โรงพยาบาลก่อน แต่โชคยังดี ที่ไม่พบการบาดเจ็บในส่วนอื่น นอกจากแผลไหม้ที่ฝ่ามือของหนูน้อย
เธอตำหนิตัวเอง รู้สึกผิดมากๆ ที่ทำให้ลูกของเธอได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่เธอพยายามจะป้องกันทุกอย่างให้บ้านนี้ปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกของเธอ เธอมีทั้งที่ปิดปลั๊กไฟ ที่กั้นประตู ฝาครอบเตาแก๊ส แต่เธอก็ดันพลาดให้กับเรื่องที่เธอคิดไม่ถึงจนได้ จึงฝากเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์กับคุณแม่ทุกท่าน ให้ระวังอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับเด็กคนอื่นอีกเลย
- เตือนภัยแม่ซื้อ นาฬิกาโทรศัพท์ สมาร์ทวอทช์เด็ก ให้ลูกยังไม่ทันใช้ ชาร์จเสร็จไฟลุก (มีคลิป)
- อุทาหรณ์เพราะ สายสิญจน์ บัง! ลูกเอายางรัดข้อมือ แม่รู้อีกทีกลายเป็นแผลลึก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ช่วยลูกอย่างไร หาก “ลูกถูกไฟช็อต”
ไฟฟ้าช็อตเป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย อาจเกิดขึ้นเพราะความประมาท การใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างผิดวิธี หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น
อาการเมื่อถูกไฟช็อต
ผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตอาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไปตั้งแต่บาดแผลไหม้เล็กน้อยจนถึงเสียชีวิต ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อาการของผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตแตกต่างกันไป เช่น ลักษณะของผิวหนังส่วนที่สัมผัสถูกไฟฟ้า ชนิดของกระแสไฟฟ้า ตำแหน่งและทางเดินของกระแสไฟฟ้าในร่างกาย และระยะเวลาสัมผัส
โดยบางรายอาจเพียงทำให้ล้มลงกับพื้น หรือของหล่นจากมือเมื่อถูกไฟฟ้าช็อต แต่ถ้าไฟฟ้าช็อตแล้วตกจากที่สูงก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ อาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายถ้าเป็นแบบรุนแรง แล้วตามมาด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็ว หมดสติ อาจมีอาการหยุดหายใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในทันที
ในบางรายอาจหมดสติไปชั่วครู่ และอาจจะรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมีความรู้สึกหวาดผวา หลังจากฟื้นขึ้นมาแล้ว หรือบางรายอาจทำให้เป็นแผลไหม้ และไม่รู้สึกเจ็บถ้าเกิดแผลไหม้ผิวหนังแล้วกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำเช่นเดียวกับบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ หรือเนื่องจากการชักกระตุกหรือตกจากที่สูงอาจทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่นๆ หักได้ หรือมีอาการซีดเหลืองจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเกิดขึ้นได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต
- รีบปิดสวิตช์ไฟหรือถอดปลั๊กไฟทันที
- ถ้าทำไม่ได้ ควรช่วยให้ผู้ที่ถูกไฟช็อตหลุดจากกระแสไฟที่วิ่งอยู่ด้วยความระมัดระวัง โดยยืนบนฉนวนที่แห้ง เช่น ไม้กระดาน กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้า แล้วใช้ด้ามไม้กวาด ไม้กระดาน ขาเก้าอี้ไม้ หรือไม้เท้าหรือไม้ที่แห้ง เขี่ยสายไฟให้พ้นจากผู้ป่วยหรือดันร่างกายส่วนที่สัมผัสไฟให้หลุดออกจากสายไฟ ไม่ควรให้โลหะหรือวัตถุที่เปียกน้ำเป็นอันขาด ควรใช้ไม้หรือฉนวนไฟฟ้าที่แห้ง และไม่ควรแตะต้องถูกตัวผู้ป่วยโดยตรงจนกว่าจะหลุดพ้นออกจากสายไฟเสียก่อน
- ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้ทำการนวดหัวใจพร้อมกันไปจนกว่าจะหายใจได้เอง และถ้าผู้ป่วยหายใจได้เองแต่หมดสติควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น และให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยหมดสติจากสาเหตุอื่นๆ
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ควรตรวจการหายใจอย่างใกล้ชิด ถ้าหยุดหายใจให้เป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
การรักษา
ควรตรวจดูอาการต่อไปนี้ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่หลังจากถูกไฟฟ้าช็อต เช่น ดูอาการเต้นของหัวใจว่าผิดจังหวะหรือไม่ ดูภาวะช็อก ภาวะขาดน้ำ บาดแผลไหม้ กระดูกหัก เป็นต้น และให้การรักษาไปตามอาการที่พบ
ควรให้การดูแลรักษาแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกสำหรับบาดแผลไหม้ ในบางครั้งแม้แผลภายนอกจะดูเล็กน้อยแต่เนื้อเยื่อส่วนลึกอาจถูกทำลายรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ หรือมีเลือดออก หรือติดเชื้อแทรกซ้อนในเวลาต่อมา ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังในส่วนนี้ด้วย
การป้องกัน
ควรติดตั้งและซ่อมแซมสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยสูงอยู่เสมอ และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยความระมัดระวังเสมอไม่ควรประมาท
ผู้ช่วยเหลืออย่าตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ให้มีสติเสมอ ก่อนทำการช่วยเหลือให้โทรแจ้งการแพทย์ฉุกเฉินทันที เพื่อทีมแพทย์จะได้เดินทางมาระหว่างที่กำลังช่วยเหลือเบื้องต้น ให้ทำตามขั้นตอนวิธีการที่แนะนำ อย่าทำอะไรแรงโดยพลการอย่างเด็ดขาด เพราะชีวิตที่สูญเสียไปมันไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
ฉะนั้น จึงขอให้คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นดูแลความปลอดภัยในบ้านอยู่ตลอดเวลา อย่าประมาทกับเรื่องไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยและทุกคนในครอบครัวค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : babyology.com.au, cprkids.com.au, healthcarethai.com