♠ ช่วยลูกให้แยกความจริง ออกจากโทรทัศน์
บางครั้งบางคราวเด็กๆ ก็สับสนระหว่างภาพที่ปรากฏในรายการโทรทัศน์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง คุณพ่อคุณแม่คือคนสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะการดูโทรทัศน์อย่างมีสติให้ลูกได้เข้าใจและมองโลกให้ลึกกว่าแค่ภาพที่เห็น
- บอกความจริงที่ซ่อนอยู่ มีบางฉากในละครหรือภาพยนตร์ที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่นางเอกกินไอศกรีมปริมาณมหาศาลอย่างเอร็ดอร่อย ถ้าลูกมาบอกว่าอยากจะทำแบบนั้นบ้าง คุณอาจจะให้อีกมุมมองที่แตกต่าง “รู้ไหมจ๊ะว่าจริงๆ แล้ว ไม่มีใครกินไอติมมากขนาดนั้นได้หรอก เพราะตอนถ่าย แสงไฟร้อนๆ จะทำให้ไอติมละลายหมด”
- ระวังเรื่องเสียง เพลงเป็นสิ่งที่กระทบอารมณ์ได้มากที่สุด และดึงดูดความสนใจได้มากที่สุดด้วยในช่วงโฆษณาหรือฉากต่อสู้บู๊ดุเดือด คุณควรหรี่เสียงโทรทัศน์ลงบ้าง
- ให้ความกระจ่างฉากต่อสู้ ถ้าหากมีฉากบู๊ต่อสู้โหดๆ ชนิดเลือดตกยางออก คุณต้องอธิบายให้ลูกรู้ด้วยว่านักแสดงต้องซ้อมฉากนี้อย่างดี และถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง จะไม่เหมือนในทีวี แต่จะมีคนเจ็บและอาจจะถึงตายได้ เพราะฉะนั้น ลูกไม่ควรลอกเลียนแบบฉากเหล่านี้เด็ดขาด
- เช็กความเข้าใจ มีบางฉากในละครหรือภาพยนตร์ที่ไม่มีทางเป็นความจริงได้เด็ดขาด แต่เด็กๆ อาจไม่คิดอย่างนั้น คุณอาจตรวจดูบ้างก็ได้ว่าลูกคิดอย่างไร ถามคำถามจากเรื่องที่เขาดู เช่น “ลูกเชื่อไหมว่า ลูกโป่ง 1,000 ลูกจะทำให้บ้านลอยได้”
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามควบคุมจำกัดเวลาที่ลูกใช้ไปกับการบริโภคสื่อไม่สร้างสรรค์ เช่น รายการการ์ตูนที่มีเนื้อหารุนแรง สื่อออนไลน์ที่นำเสนอการแก้ไขปัญหาโดยการตบตีทะเลาะวิวาท รายการวิทยุที่พูดสบถสาบาน ควรควบคุมและจำกัดเวลาให้ลูกบริโภคสื่อในช่วงระยะเวลาที่พอเหมาะ ไม่ได้หมายความว่า ต้องห้ามปราม จำกัดสิทธิ์ไม่ให้ดูทีวีที่เนื้อหารุนแรง ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้เด็กอยากรู้อยากเห็น ขาดภูมิคุ้มกัน รับสภาพปัญหาความเลวร้ายไม่ได้ และมีพฤติกรรมลักลอบบริโภคสื่อ โดยแอบดูรายการที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเพียงลำพัง เพื่อไม่ให้ถูกต่อว่า ซึ่งนั่นจะทำให้เขาขาดคำแนะนำในการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นนอกจากการจำกัดเวลาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรห่วงใยและดูแลเขาอย่างใกล้ชิดในขณะที่เขาบริโภคสื่อต่างๆ ด้วย
√ ลูกติดดูทีวีมาก เบี่ยงเบนวิธีไหนดี!
สมาคมกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กแนะนำว่า เด็กแรกเกิดถึง 18 เดือนไม่ควรดูทีวีเลย เด็กวัย 18 เดือนถึง 4 และเด็กวัย 4 ขวบขึ้นไปไม่ควรดูนานกว่าวันละ 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้มีปัญหาดังต่อไปนี้
- ขาดทักษะด้านอื่นๆ หรือพัฒนาการช้า เพราะไม่มีเวลาเหลือพอสำหรับกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์มากกว่า เช่น การเล่นสมมติ การวาดรูป – ระบายสี และการสื่อสาร
- พูดคุยกับผู้อื่น ทำให้พูดช้า อ่านหนังสือได้ช้า และผลการเรียนไม่ดี- ขาดทักษะในการหาทางออกเมื่อเกิดความเบื่อหน่าย ไม่สบายใจ หรือหงุดหงิด เพราะขาดความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ หรือเมื่อมีปัญหาคับข้องใจก็จะใช้วิธีดูทีวีเพื่อฆ่าเวลาหรือเพื่อช่วยให้ลืมปัญหาที่แม้เป็นการชั่วคราวก็ยังดี
- การไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายหรือขี่จักรยานทำให้ขาดทักษะด้านการเคลื่อนไหว ทำให้กลายเป็นคนงุ่มง่าม อ่อนแอหรือติดโรคง่าย และทำให้เป็นโรคอ้วน เนื่องจากการนั่งอยู่หน้าจอทีวีทำให้แทบไม่ได้ใช้พลังงานใดๆ เลย แถมยังอาจกินขนมขบเคี้ยวไปพลางอีกต่างหาก
- อยากกินขนมหรืออยากได้ของเล่นที่อยู่ในโฆษณาทำให้มีปัญหาไม่ยอมกินข้าวเพราะอิ่มขนมที่ไม่มีประโยชน์ แถมสิ้นเปลืองเงินทองด้วย
- เด็กจะเลียนแบบและซึมซับสิ่งที่เห็นจากทีวี ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ดีตามมา เช่น ความก้าวร้าว และในบางครั้งการเลียนแบบฮีโร่ซึ่งมีความสามารถพิเศษ เช่น เหาะได้ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องคอยอธิบายอยู่ใกล้ๆ
- หากดูรายการที่น่ากลัวก็อาจเก็บไปฝันร้าย
- บางคนใช้ทีวีเลี้ยงลูก เปิดรายการเด็กให้ดูตลอดทั้งวันเพราะคิดว่าไม่มีพิษมีภัย จริงอยู่ว่าตอนนี้เราเลือกโปรแกรมให้ลูกได้ แต่อีกหน่อยเขาใช้รีโมทเป็นก็จะเลือกเปิดดูรายการต่างๆ เอง ยิ่งถ้ามีทีวีอยู่ในห้องส่วนตัวของเด็กก็ยิ่งอันตราย ทางที่ดีอย่าให้ลูกติดทีวีตั้งแต่ต้น สอนให้เขารู้ว่าเรานั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือล้อมวงกันเล่านิทาน ก็มีความสุขได้
- มีค่านิยมที่ผิด เช่น ต้องหน้าตาดีและมีหุ่นผอมบางเหมือนนางแบบจึงจะสวย ไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจ เนื่องจากทีวีไม่สามารถนำเสนอได้ทั้งหมด
- มีปัญหาพฤติกรรมผิดปกติ คล้ายเด็กไฮเปอร์ สมาธิสั้น หรือเด็กออทิสติก หมอเคยพบเด็กอายุ3 ขวบมีปัญหาเรื่องไม่พูด ไม่สบตา และชอบเล่นคนเดียว คุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นออทิสติกหรือไม่ พอพาไปพบจิตแพทย์เด็ก คุณหมอก็บอกให้ที่บ้านปิดทีวี เพราะเด็กดูตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน ในที่สุดลูกก็สบตาและพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้นภายในเวลาแค่ 2 วันเท่านั้นเอง
ถ้าจะให้ลูกเลิกติดทีวี คุณแม่ต้องใจแข็งค่ะ ถ้าเขาโวยวายก็อย่าตามใจ หากิจกรรมอื่นให้ทำแทน อย่าให้เขาว่าง เพราะจะคิดถึงทีวีมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2 – 3 สัปดาห์ก็เปิดทีวีให้ดูใหม่ โดยดูได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง และเลือกเฉพาะโปรแกรมดีๆเท่านั้น (ไม่ให้ดูประเภทต่อสู้) เขาจะได้ชินกับการไม่มีทีวีและรู้จักใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้มากขึ้น และอธิบายถึงข้อเสียของการดูทีวี ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- หมอเตือน!! ดูทีวีทำร้ายลูกร้ายแรง สร้างพฤติกรรมผิดปกติ
- เทคนิคดึงดูดลูกๆให้สนใจหนังสือ
- คลิปหนูน้อยน่ารักแสนอ่อนไหว ดู การ์ตูนเพนกวิ้น แล้วร้องไห้เป็นตุเป็นตะ
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids