หมากฝรั่งติดคอ ลูกเคี้ยวไม่ทันระวัง เผลอกลืน พ่อแม่ต้องช่วยยังไง อันตรายหรือไม่ หากกลืนลงท้องไปจะไปพันลำไส้เหมือนคำขู่ที่ตอนเด็กเคยได้ยินจริงหรือ??
หมากฝรั่งติดคอ ลูกทำไงดี! กลืนลงท้องเลยได้ไหม?
หมากฝรั่งกับเด็ก เนี่ยเป็นสิ่งที่ขัดใจกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก มาแทบทุกรุ่น เรียกว่าส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นกันเลยทีเดียว เมื่อตอนเราเป็นเด็ก เราก็มักจะโดนขู่ต่าง ๆ นานาเพื่อไม่ให้กล้ากินหมากฝรั่ง แต่สมัยเด็กก็ไม่เคยเห็นด้วยกันผู้ใหญ่ แต่ไหงโตขึ้นมาเข้าสู่ฐานะพ่อแม่ เรากลับห่วงลูกเกี่ยวกับ หมากฝรั่งไม่ต่างกัน กลัว หมากฝรั่งติดคอ บ้าง กลัวลูกกลืนหมากฝรั่งแล้วจะเป็นอันตรายไหมบ้าง หากลูกกลืนหมากฝรั่งลงท้องแล้ว มันจะไปอยู่ส่วนไหนของร่างกายกันนะ
ตอนเด็กๆ มีใครเคยโดนขู่ไม่ให้เคี้ยวหมากฝรั่ง บ้างไหมครับ แบบว่า “ระวังนะ เผลอกลืนหมากฝรั่งเข้าไป มันจะเข้าไปพันลำไส้ ค้างในท้องเป็นปีๆ “
เอ่อ… มันไม่ใช่เรื่องจริงนะครับ ฮะๆหมากฝรั่งส่วนใหญ่ทำมาจาก ยางสังเคราะห์ (พวก polyisobutylene) ผสมกับสารให้ความหวาน เช่น น้ำตาล ไซลิทอล (xylitol) และซอร์บิทอล (sorbitol) ใส่สารแต่งกลิ่น (flavoring agents) และผสมสารกันเสีย (preservatives)ถ้าเราเผลอกลืนหมากฝรั่งลงไป ก็คล้ายกับการกลืนอาหารธรรมดาทั่วไป เพราะถึงแม้ว่ายางสังเคราะห์ในหมากฝรั่งนั้นจะไม่สามารถย่อยสลายด้วยน้ำย่อยในร่างกาย แต่มันก็ไม่สามารถไปพันลำไส้ได้เพราะเมื่อหมากฝรั่งถูกกลืนลงไปแล้ว มันจะค่อย ๆ เคลื่อนลงไปตามระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงลำไส้ใหญ่ และถูกขับถ่ายออกมาในรูปของอุจจาระในที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรให้เด็กเล็กเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะนอกจากอาจจะเผลอกลืนหมากฝรั่งลงไปได้แล้ว ยังเสี่ยงที่หมากฝรั่งจะติดคอได้อีกด้วยที่มา : เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
ระวัง! กลืนหมากฝรั่งลงไป จะไปพันลำไส้…เป็นข่าวปลอม
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่คำเตือน เรื่องกลืนหมากฝรั่ง ทำให้ลงไปพันลำไส้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 1556
กลืนหมากฝรั่งลงไปแล้วจะติดอยู่ในท้องนานถึง 7 ปี !!
อีกหนึ่งคำขู่ยอดฮิตที่เด็ก ๆ มักได้รับหากเราเคี้ยวหมากฝรั่งแล้วเผลอกลืนลงไป มันจะอยู่ในท้องเราได้นานถึง 7 ปีจริงหรือ??
สำหรับการหาคำตอบของคำถามนี้ เราต้องมาทำความรู้จักกับกระบวนการย่อยอาหารของมนุษย์เราเสียก่อนว่า มีกระบวนการทำงานเช่นไร
การย่อยอาหารพื้นฐานของมนุษย์มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีหลัก ๆ คือ
- การเคี้ยว ซึ่งเป็นกระบวนการย่อยเชิงกลที่ใช้ในการบดอาหารให้ละเอียด และมีขนาดเล็กลง
- กระบวนการย่อยเชิงเคมีในการเปลี่ยนแปลงขนาดโมเลกุลของอาหารโดยเอนไซม์ในน้ำลาย และกระเพาะอาหาร รวมถึงกรดที่ช่วยย่อยให้สิ่งที่เรารับประทานเข้าไปนั้นผ่านทางเดินอาหารไปได้อย่างง่ายดาย
ตามหลักแล้ว เมื่อเรารับประทานอาหาร ฟันและลิ้นจะทำงานสัมพันธ์กันเพื่อเคี้ยวอาหารให้กลายเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวเพื่อให้สามารถดูดซึมสารอาหารได้ตามกระบวนการดูดซึมของร่างกาย ก่อนที่อาหารจะเคลื่อนย้ายลงไปตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินอาหาร จากนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยน้ำย่อยอาหาร และถูกขับออกจากร่างกายไปในที่สุด แต่หมากฝรั่งไม่ใช่อาหารที่ร่างกายสามารถย่อยได้ตามกระบวนการย่อยอาหาร นั่นเป็นเพราะหมากฝรั่งมีส่วนประกอบของยางสังเคราะห์อยู่ด้วย
ส่วนประกอบของ หมากฝรั่ง !!
หมากฝรั่งส่วนใหญ่ทำมาจาก ยางสังเคราะห์ (พวก polyisobutylene) ผสมกับสารให้ความหวาน เช่น น้ำตาล ไซลิทอล (xylitol) และซอร์บิทอล (sorbitol) ใส่สารแต่งกลิ่น (flavoring agents) และผสมสารกันเสีย (preservatives)
ยางบิวไทล์(Butyl rubber) หรือถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Synthetic Natural Rubber” เป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างทางเคมี และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยางธรรมชาติ แต่มีคุณสมบัติในเรื่องของความทนต่อแรงดึงและความทนทานต่อการฉีกขาดต่ำกว่าเล็กน้อย ยางสังเคราะห์ชนิดนี้จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของหมากฝรั่งที่ขายกันอยู่ตามท้องตลาด เนื่องจากช่วยให้มีความเหนียว และสามารถเคี้ยวได้ นอกจากนี้ยังมักนิยมนำไปใช้ผลิตจุกนม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และรวมไปทั้งยางในรถยนต์อีกด้วย
เมื่อกลืนหมากฝรั่งลงไป มันจะเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารลงไปในกระเพาะอาหารเป็นก้อน ในขณะที่เอนไซม์สามารถย่อยคาร์โบไฮเดรต น้ำมัน และแอลกอฮอล์ได้ในหมากฝรั่ง แต่ไม่สามารถย่อยยางสังเคราะห์ได้ เป็นผลให้หมากฝรั่งยังคงอยู่ในท้อง ในระบบย่อยอาหาร แต่จะอยู่นานถึง 7 ปีจริงหรือ??
หมากฝรั่งที่เผลอกลืนโดยไม่ตั้งใจเป็นเพียงสิ่งไม่มีประโยชน์ชิ้นเล็ก ๆ เหมือนกับอาหารบางประเภทที่เป็นชิ้นเล็กๆ เช่น เมล็ดทานตะวันหรือเมล็ดแตงโม เป็นแค่อาหารส่วนน้อยที่ไม่ได้มีผลกระทบมากนักต่อกล้ามเนื้อในการบีบรัดเพื่อเคลื่อนย้ายอาหารไปตามทางเดินอาหาร ร่างกายสามารถจัดการกับชิ้นหมากฝรั่งที่เราเผลอกลืนลงไปได้ โดยจะถูกกำจัดออกจากร่างกาย พร้อมกากอาหารที่ร่างกายไม่ต้องการผ่านทางลำไส้ใหญ่ และถูกขับถ่ายออกมาในรูปของอุจจาระในที่สุด
สรุป
การกลืนหมากฝรั่งลงท้อง ไม่เป็นอันตรายมากนัก และไม่ทำให้มันติดอยู่ในกระเพาะอาหารยาวนานถึง 7 ปี เพราะร่างกายสามารถย่อย และกำจัดส่วนที่เหลือออกจากร่างกายได้ผ่านทางอุจจาระ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวว่า หากเราลองไปค้นอุจจาระเราจะพบว่าหมากฝรั่งแทบจะยังคงอยู่ในสภาพเดิม นั่นเป็นเพราะมันไม่สามารถย่อยสลายได้ยังไงล่ะ
อย่างไรก็ตามการกลืนหมากฝรั่งสำหรับเด็ก ก็ยังคงมีอันตรายอยู่บ้าง เช่น ทำให้หมากฝรั่งติดคอ สำลัก และอาจทำให้ลำไส้เด็กอุดตันได้ หากกลืนหมากฝรั่งในปริมาณมาก ๆ แม้สิ่งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยก็ตาม
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.scimath.org
หมากฝรั่งติดคอ!!
เราอาจรู้สึกระคายเคืองหรือรู้สึกไม่สบายได้ระยะหนึ่งหลังจากกลืนหมากฝรั่ง ให้ลองสังเกตดูว่าคุณไม่มีปัญหากับการกลืนช่วงคอ นั่นแสดงว่า หมากฝรั่งคงเลื่อนลงท้อง และจะผ่านกระบวนการย่อยอาหารของร่างกายจนถึงขั้นตอนการนำออกมากในรูปแบบอุจจาระ แต่หากมีปัญหาในการกลืนควรพบแพทย์ แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจดูอย่างละเอียดอีกครั้ง
ไม่ควรทำให้อาเจียน หากมีความรู้สึกว่ามีของ หรืออาหารติดที่คอ ยังไงก็ตามคุณสามารถใช้น้ำยาบ้วนปาก น้ำเกลือ และจิบน้ำอุ่นๆ ก็ได้ วิธีนี้ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ แต่หากรู้สึกนานแล้วยังไม่หายดีควรไปพบแพทย์
ในส่วนของเเด็ก และเด็กเล็ก ที่ไม่สามารถบอกอาการของตัวเองได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเมื่อมีอาหารติดคอเด็กเอาไว้ในยามฉุกเฉิน เพราะอันตราย และความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นมีได้เสมอ การช่วยลูกได้ทันก็จะช่วยป้องกัน และลดการสูญเสียได้
อาการเตือน เมื่อลูก “อาหารติดคอ”
– สำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
– หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด
– พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก
– หายใจเร็วผิดปกติ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น…เมื่อลูกอาหารติดคอ
ให้รีบช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำ และตบแรง ๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก จนอาหารกระเด็นหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปาก หรือจับเด็กห้อยศีรษะ และตบหลังเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เศษอาหารตกมาอุดที่กล่องเสียงจนขาดอากาศหายใจได้
ในกรณีที่สำลักแล้วหายใจไม่ออก ริมฝีปากเขียว ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ควรรีบใช้วิธีช่วยเหลือแบบ Heimlich โดยให้ลูกนั่ง หรือยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย คุณแม่ยืนทางด้านหลัง ใช้แขนสอดสองข้างโอบลำตัว กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ ดันมือลงตรงตำแหน่งลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องดันให้อาหารหลุดออกมา
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลูกจากภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนั้น คุณแม่จะต้องตั้งสติให้ดี รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุดอย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก โรงพยาบาลเปาโล
ข้อมูลอ้างอิงจาก Mahidol Channel
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แม่เตือนภัย ลูก 2 คนป่วย ลำไส้อักเสบ พร้อมกัน! หลังกิน เยลลี่ลูกตา
แม่โพสต์เตือน! ระวัง “ขนมปนเปื้อนสารพิษ” ลูกป่วยหนักเข้ารพ. อันตรายถึงชีวิต!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่