ติดตั้งคาร์ซีท ในรถกระบะได้ไหม? ปลอดภัยหรือไม่? - Amarin Baby & Kids
ติดตั้งคาร์ซีท

ติดตั้งคาร์ซีท ในรถกระบะได้ไหม? ปลอดภัยหรือไม่?

Alternative Textaccount_circle
event
ติดตั้งคาร์ซีท
ติดตั้งคาร์ซีท

ตามกฎหมายบังคับให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี นั่งในคาร์ซีทเมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ แล้วคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้รถกระบะล่ะควร ติดตั้งคาร์ซีท อย่างไรให้ปลอดภัยกับลูกน้อย?

ติดตั้งคาร์ซีท ในรถกระบะได้ไหม? ปลอดภัยหรือไม่?

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 บัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศ โดยสาระสำคัญคือ ให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปีต้องนั่ง “คาร์ซีท”

โดยพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2565 ประกาศใช้มีสาระสำคัญ เกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กในมาตรา 123 กล่าวว่า เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี หรือผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 135 ซม.ต้องนั่งคาร์ซีท บูสเตอร์ซีท หรือคาดเข็มขัดนิรภัย หากไม่ปฏิบัติ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และจะมีผลในอีก 120 วันข้างหน้า หรือวันที่ 5 กันยายน 2565

“คาร์ซีท” เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีเมื่อมีการนำบุตรหลานออกเดินทางทั้งใกล้หรือไกล สามารถปกป้องและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้กับเด็ก องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า การใช้ “คาร์ซีท” ช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กได้ถึงร้อยละ 70

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีจะต้องนั่งคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัยของตัวเด็กเอง สำหรับบ้านไหนที่ใช้รถกระบะกันอยู่ ก็จะมีคำถามว่าสำหรับรถกระบะแล้วควร ติดตั้งคาร์ซีท ตรงไหน ถึงจะปลอดภัยและไม่ผิดกฎหมาย ทีมกองบรรณาธิการ ABK มีคำตอบค่ะ

ก่อนที่จะดูว่าจะต้อง ติดตั้งคาร์ซีท อย่างไรในรถกระบะ มาทำความรู้จักประเภทของรถกระบะกันก่อนค่ะ

ประเภทรถกระบะ รถกระบะมีกี่แบบ?

รถกระบะเป็นประเภทสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงต้องมีความหลากหลายของสินค้าให้เลือกใช้ โดยหลัก ๆ แล้ว จะแบ่งเป็นตัวถัง 3 ประเภทคือ แบบตอนเดียว แบบตอนครึ่ง และแบบสองตอน

ตัวถังตอนเดียว

เป็นตัวถังแบบหัวเก๋งเดี่ยว ไม่มีพื้นที่หลังคนขับใดๆ สำหรับขนของได้เยอะสุดๆ ส่วนใหญ่ใช้คำว่า Standard cab แต่ก็มีบางยี่ห้อ ใช้ชื่อต่างออกไป เช่น Single cab S-cab

ตัวถังตอนครึ่ง

หลายคนรู้จักกันว่าเป็น กระบะมีแค็ป ซึ่งจะมีพื้นที่ด้านหลังคนขับเพิ่มมาเล็กน้อย ไว้ให้พอใส่สัมภาระแบบหลบแดดฝนได้ ริเริ่มตั้งแต่ยุค 70 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันมักทำช่วงตัวถังตอนครึ่งช่วงหลัง ให้สามารถเปิดได้ด้วย คล้ายเป็นประตูเสริม เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนสัมภาระแบบไม่ต้องพับเบาะ ซึ่งชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ก็จะแตกต่างไปตามแต่ละยี่ห้อ เช่น Spacecab, Smart cab, Xtracab, Open cab, Mega cab, King cab, X-cab, Freestyle cab

ตัวถังสองตอน

รถกระบะแบบที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะมีห้องโดยสารตอนที่ 2 เพิ่มเข้ามา เริ่มนิยมใช้กันในยุค 90 เป็นต้นมา พร้อมเบาะนั่ง และประตูเปิดเข้าออกได้ง่าย โดยส่วนใหญ่แล้วจะรู้จักกันในชื่อของดับเบิ้ลแค็ป

จะเห็นได้ว่ารถกระบะมีทั้งแบบไม่มีเบาะหลัง หรือมีแต่พื้นที่อาจจะไม่กว้างพอที่จะติดตั้งคาร์ซีท และมีทั้งแบบเบาะนั่งด้านหลังที่กว้างขวางพอ ๆ กับรถเก๋ง ดังนั้น มาดูกันว่าสำหรับรถกระบะแล้วจะสามารถ ติดตั้งคาร์ซีท ตรงจุดไหนได้บ้าง และปลอดภัยหรือไม่ กันค่ะ

คาร์ซีท
คาร์ซีท

ติดตั้งคาร์ซีท ในรถกระบะได้ไหม? ปลอดภัยหรือไม่?

จากความเห็นของพ่อแม่หลายคนที่ซื้อรถกระบะกันมาแล้ว คงจะหนักใจไม่น้อยเพราะการจะเปลี่ยนรถมาเป็นรถเก๋งเพื่อ ติดตั้งคาร์ซีท นั้นคงไม่เหมาะ เพราะหลาย ๆ บ้านก็ต้องใช้รถกระบะในการทำงาน ขนของ แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ค่ะ มาดูกันว่าจะ ติดตั้งคาร์ซีท ที่จุดไหนในรถกระบะได้บ้าง จุดไหนที่ปลอดภัยที่สุด

ที่นั่งด้านข้างคนขับ

หากอ้างอิงตามกฎหมายไทยที่จะเริ่มบังคับใช้นั้น ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องติดตั้งคาร์ซีทบนเบาะหลังเหมือนกับบางประเทศ (ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ต้องนั่งบนคาร์ซีทที่เบาะหลังเท่านั้น เว้นแต่กรณีรถไม่มีเบาะหลังจึงจะสามารถใช้เบาะหน้าได้) ผู้ปกครองจึงสามารถติดตั้งคาร์ซีทบนเบาะหน้าได้หากมีความจำเป็น เช่น กรณีใช้รถกระบะแค็บที่ไม่มีเบาะหลัง หรือเป็นรถแบบ 2 ที่นั่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันล้วนแต่ติดตั้งระบบถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารด้านหน้ามาให้ ซึ่งถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการติดตั้งคาร์ซีท เนื่องจากการพองตัวของถุงลมนิรภัยมีความรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายต่อเด็กที่นั่งโดยสารอยู่ได้ รถหลายรุ่นจึงมีปุ่มปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยสำหรับการติดตั้งคาร์ซีทโดยเฉพาะ ซึ่งโดยมากแล้วจะอยู่บริเวณด้านข้างของแผงคอนโซลหน้าฝั่งผู้โดยสาร จำเป็นต้องเปิดประตูออกเสียก่อนจึงจะสามารถเห็นปุ่มที่ว่านี้ได้ (รถบางรุ่นอาจถูกออกแบบให้อยู่ในตำแหน่งที่ต่างออกไปจากนี้)

ส่วนวิธีการปิดการทำงานก็ขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น บางรุ่นถูกออกแบบให้สามารถหมุนปิดการทำงานได้ทันที บางรุ่นอาจจำเป็นต้องเสียบกุญแจเสียก่อนจึงจะสามารถหมุนปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยได้ โดยสัญลักษณ์รูปถุงลมนิรภัยอาจปรากฏขึ้นบนหน้าปัดเพื่อแสดงว่าถุงลมนิรภัยถูกปิดอยู่ แต่ก็จะไม่กระทบต่อการทำงานของถุงลมนิรภัยที่เหลือแต่อย่างใด
สำหรับบ้านไหนที่มีกระบะแบบที่นั่งตอนเดียว ก็ลองหาดูนะคะว่ามีปุ่มปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยในบริเวณด้านข้างคนขับหรือไม่

ที่นั่งตอนหลัง

สำหรับรถตัวถังสองตอน ที่บริเวณที่นั่งด้านหลังมีความกว้างพอ ๆ กับรถเก๋ง สามารถเปิดปิดประตูได้จากตอนที่สองของตัวถังได้นั้น ก็ควรติดตั้งคาร์ซีทบริเวณที่นั่งตอนหลัง โดยรถบางรุ่นจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า ISOFIX ซึ่งเป็นจุดยึดที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งคาร์ซีทโดยเฉพาะ ช่วยให้การติดตั้งทำได้ง่ายขึ้น แถมยังมีความมั่นคงแข็งแรงกว่าการยึดด้วยสายเข็มขัดนิรภัยอีกด้วย แต่หากรถรุ่นที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ ไม่มี ISOFIX การติดตั้งคาร์ซีทกับสายเข็มขัดนิรภัย ก็ถือว่าปลอดภัยเช่นกันค่ะ

ISOFIX

ISOFIX

 

ที่นั่งบริเวณแคป

แม้ที่นั่งบริเวณนี้จะมีความกว้างไม่มากพอที่จะติดตั้งคาร์ซีทขนาดใหญ่ และรถบางรุ่นก็ไม่มีเข็มขัดนิรภัยตรงที่นั่งบริเวณแคปอีกต่างหาก สำหรับกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบก่อนว่าที่นั่งบริเวณแคปในรถของคุณพ่อคุณแม่นั้น มีเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ หากมี ควรหาคาร์ซีทที่สามารถวางไว้ตรงจุดนั้นได้พอดี ไม่ควรให้ฐานของคาร์ซีทเลยจากเบาะนั่ง

และสำหรับหลาย ๆ บ้านที่ติดตั้งคาร์ซีทโดยให้ด้านข้างหันไปทางหน้ารถ เพื่อให้ฐานของคาร์ซีทพอดีกับเบาะนั่งนั้น ขอบอกว่าการติดตั้งแบบนี้อันตรายมาก ๆ ค่ะ เพราะอาจจะทำให้คาร์ซีทคว่ำลงมาได้หากเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับในกรณีที่รถของคุณพ่อคุณแม่ ไม่มีเข็มขัดนิรภัยตรงที่นั่งบริเวณแคป การจะนำคาร์ซีทไปวางไว้โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ก็อันตรายเช่นกัน เพราะคาร์ซีทสามารถคว่ำลงมาหรือกระเด้งไปนอกรถได้เช่นกันค่ะ

ดังนั้น หากไม่สามารถหาคาร์ซีทที่มีขนาดพอเหมาะกับที่นั่งบริเวณแคป หรือไม่มีเข็มขัดนิรภัยตรงที่นั่งบริเวณแคป แนะนำให้ติดตั้งคาร์ซีทในบริเวณที่นั่งข้างคนขับแล้วปิดระบบถุงลมนิรภัยที่ด้านข้างคนขับแทนนะคะ

ติดตั้งถูกต้อง ป้องกันอันตรายได้!!

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรถประเภทไหนก็ตาม การติดตั้งคาร์ซีทให้ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ การใช้คาร์ซีทให้เหมาะสมกับวัย ส่วนสูง และน้ำหนักของลูกก็สำคัญเช่นกัน เพราะการใช้คาร์ซีทที่สูงกว่าวัยลูก เผื่อลูกโตนั้น ในบางครั้งท่านั่งของคาร์ซีทแบบเด็กโต ก็ไม่เหมาะกับสรีระของเด็กเล็กหรือทารก และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ลูกก็อาจจะได้รับอันตรายจากการใช้คาร์ซีทที่ไม่เหมาะสมกับวัยได้ อ่านต่อ วิธีเลือกซื้อ “คาร์ซีท” ให้เหมาะกับช่วงอายุของลูก

ดูคลิปเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกคาร์ซีท ได้ที่นี่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เด็กทารกจำเป็นต้องใช้คาร์ซีท จริงหรือ?

 

ให้ลูก นั่งคาร์ซีท หรือ อุ้มนั่งตัก แบบไหนปลอดภัยกว่า?

รีวิวคาร์ซีท 10 แบรนด์ยอดนิยม แข็งแรง ปลอดภัยทุกการเดินทาง

เช็คลิสต์! ยาสำหรับเดินทาง พาลูกเที่ยว พกยาอะไรบ้าง?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.modernmom.com, chobrod.com, www.sanook.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up