ข่าวลือ แก๊งลักเด็ก ไม่เชื่อแค่อย่าประมาท - Amarin Baby & Kids
ข่าวลือแก๊งค์ลักเด็กจริงหรือไม่

ข่าวลือ แก๊งลักเด็ก ไม่เชื่อแค่อย่าประมาท

Alternative Textaccount_circle
event
ข่าวลือแก๊งค์ลักเด็กจริงหรือไม่
ข่าวลือแก๊งค์ลักเด็กจริงหรือไม่

“รถตู้ดัดแปลงเป็นห้องแล็ปมีเตียง มีอุปกรณ์ผ่าตัด มีตู้แช่ ตระเวนล่าเหยื่อเด็กๆ เวลาเย็น จับขึ้นรถวางยาสลบ แล้วควักลูกตา คว้านเครื่องใน จากนั้นโยนศพทิ้งออกนอกรถ! รถตู้มหาภัยดังกล่าวมีนับสิบคัน ตระเวนออกล่าเหยื่อตามที่ต่างๆ!” ข้อความชวนช็อกที่แชร์กันในโลกโซเชียลเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันได้ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง 7 – 8 ปีแล้วตั้งแต่ยังใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์ แถมระบุอย่างชัดเจนว่า ทางตำรวจ สภ.บ้านหนองเหล็ก จ.สุรินทร์จับกุมตัวหนึ่งในคนร้ายได้ ซึ่งสารภาพว่าได้กระทำเรื่องโหดร้ายนี้จริง!

ทางตำรวจก็มิได้นิ่งนอนใจในข่าวลือนี้ ระดมตำรวจทั่วเมืองสุรินทร์ตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ในที่สุดก็พบว่านี่เป็นข่าวโคมลอย และที่สำคัญ “สถานีตำรวจ บ้านหนองเหล็ก” ในโพสนี้ …ไม่มีอยู่จริงในโลก…

ครับ..แม้ว่าข่าวลวงโลกยังคงแพร่กระจายกันไม่หยุด แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการลักพาเด็กๆ จากอ้อมอกพ่อแม่นั้น มันมีอยู่จริงๆ ในสังคมบ้านเรา

“สาวแสบฉกทารกขณะที่น้าชายวัย 12 เผลอหลับหน้าร้านเกม!” (21 พ.ค. 2558)

“จับหญิงขโมยเด็กแรกคลอดจากโรงพยาบาล หลังจากลักไป 4 ปี!” (5 พ.ย.2558)

“แก๊งลักเด็กอาละวาด จ้องตะครุบเด็กหญิงวัยประถมขึ้นรถตู้ ดีที่เพื่อนขว้างก้อนหินใส่ โจรขับรถหนีเตลิด!” (4 มิ.ย. 2557)

“หนุ่มใหญ่จับ 2 พี่น้อง บังคับขายไอศกรีม!” (11 มิ.ย. 2557)

ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคออนไลน์ การสื่อสารที่ฉับไว ย่อมมีทั้งสิ่งดีงาม และมากทั้งสิ่งน่ากลัว วันนี้จึงมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

  1. ชวนลูกคุยข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวในทีวี หนังสือพิมพ์ หรือในโซเชียลออนไลน์ หากเกี่ยวกับกรณีเด็กหาย หรือมนุษย์อันตรายต่อเด็ก ก็นำมาเล่าให้เด็กๆ ฟัง แล้วลองชวนคุยกันในปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ลูกได้รู้ว่าเรื่องที่ว่ามันมีอยู่และเป็นอันตรายอย่างไร (แต่ไม่ต้องดราม่าให้ลูกกลัว)
  2. พ่อแม่จะต้อง เข้าใจและเรียนรู้”โลกออนไลน์”ให้ได้ โลกยุคไอที เด็กเชียวชาญการใช้อินเตอร์เนต ในขณะที่พ่อแม่มากมายเปิดคอมพิวเตอร์ยังไม่เป็น! ทั้งที่ภัยแฝงเร้นในโลกไอทีน่ากลัวจนคาดไม่ถึง จึงถือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่เลยทีเดียว ที่จะต้อง “อินเทรน”ให้ได้ เพื่อการสอดส่อง(อย่างเนียนๆ) และตักเตือนลูกทันทีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น
  3. ห้ามให้คนแปลกหน้าอุ้มลูก หากลูกยังแบเบาะและมีพี่เลี้ยง จะต้องกำชับพี่เลี้ยงอย่างจริงจังว่า ห้ามให้คนอื่นที่ไม่ใช่ญาติสนิทอุ้มอย่างเด็ดขาด เหตุเพราะมีข่าวน่าตกใจหลายครั้งแล้ว ที่พอเด็กน้อยถึงมืออีกฝ่าย ก็โดนอุ้มวิ่งหนีหายไปเลย
  4. สอนลูกไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้า ซึ่งทรชนพวกนี้ก็มักมาในคราบผู้ใหญ่ใจดี ตลก ยิ้มแย้มแต่กลับมีพฤติกรรมไม่น่าไว้ใจ เช่น พยายามกันเด็กออกมาจากกลุ่มเพื่อน ให้มาอยู่กับเขาตามลำพัง ชวนให้ช่วยบีบนวด ชวนให้เล่นเกมที่มีการถูกเนื้อต้องตัว ชวนให้จับของลับของสงวน ถ้าเป็นเด็กโตหน่อยอาจถูกชวนดูหนังโป๊ วิดีโอลามก ชวนกินยากินเหล้า ต้องสอนให้เด็กรู้ว่านี่เป็นแผนล่อลวงเพื่อจะทำร้ายเด็กทั้งสิ้น ให้เด็กรีบปฏิเสธ (เช่น พูดดังๆ ว่า “ไม่”) และหนีไปให้ห่างโดยเร็วที่สุด
  5. สอนลูกถึงเล่ห์กลของคนร้าย กลวิธีของคนร้ายนั้นสารพัดเจ้าเล่ห์ยิ่งกว่าหมาจิ้งจอกในนิทาน เช่น แกล้งเข้ามาขอความช่วยเหลือให้ช่วยหาของ ให้ช่วยหาเงินที่หล่นหาย ช่วยตามหาหมา แมว สัตว์เลี้ยงอื่นที่เดินหลง หรือดึงกระเป๋า ของใช้ของเล่นของเด็กแล้ววิ่งไป เพื่อให้เด็กวิ่งตาม หรือเอาของไปเพื่อบังคับให้กระทำการบางอย่าง เพื่อแลกเปลี่ยนกับของชิ้นนั้น หรือโกหกให้เด็กตกใจจนตั้งสติไม่ทัน
  6. สอนลูกให้รู้จักร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ หากมีใครมาจับตัว มาฉุดลากดึงให้พยายามสะบัดหนีและตะโกนดังๆ ว่า “ช่วยด้วยๆๆ ผม (หนู) ถูกจับ” หรือ “ไฟไหม้ๆๆๆ” เพื่อหยุดยั้งคนร้าย เพราะผู้คนรอบข้างจะหันมาสนใจทันที หรือให้เดินหลบเข้าไปขอความช่วยเหลือในร้ายก๋วยเตี๋ยว ร้านมินิมาร์ท ป้อมตำรวจ ป้อมยาม

สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องสอนลูกว่า โลกเรานี้นอกจากมีผู้ใหญ่ที่รู้สึกรัก หวังดี ต่อเด็กๆ อย่างจริงใจ ยังมีผู้ใหญ่อีกประเภทหนึ่ง ที่เห็นเด็กๆ เป็นเพียง “เหยื่อ” ที่คอยจ้องเอาเปรียบและทำร้ายเด็กๆ เช่น ทารุณกรรม ใช้แรงงานเด็ก ล่วงละเมิดทางเพศ หรือล่อลวงไปในทางมิชอบ

 

บทความโดย : นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพประกอบ : Beeclassic

เบอร์โทรศัพท์สำคัญที่ควรมีไว้ติดบ้าน

  • ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์  มูลนิธิกระจกเงา  โทรศัพท์  02-6427991-2  ต่อ 11
  • ร่วมด้วยช่วยกัน หมายเลขโทรศัพท์ 1677 หรือ 142  เรียกร่วมด้วยช่วยกัน
  • จส.100 ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1137 หรือ 142 เรียก จส.100
  • กองบังคับการปรามปราบการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (ปตส.)  โทร. 0-2513-32180, 0-2511-4874
  • ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศดส.)โทร. 0-2282-1815

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up