ประทัดระเบิด– ประทัด พลุไฟ ดอกไม้ไฟ เหมือนจะเป็น สิ่งที่อยู่คู่กับเด็กไทยมายาวนานทุกยุคทุกสมัย เมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น ลอยกระทง ออกพรรษา ประทัดก็เข้ามามีบทบาท และช่วยสร้างสีสันให้ช่วงเวลาแห่งความสุขเสมอ แต่หากบ้านไหนปล่อยให้เด็กๆ เล่นประทัด ตามลำพัง โดยไม่สอนเรื่องข้อควรระวัง ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างกรณีไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ได้ สืบเนื่องจากมีเด็กนักเรียนชั้น ม.1 ในจังหวัดชัยภูมิ ได้รับบาดเจ็บ อาการสาหัส จากการเล่นประทัด โดยเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุวัตถุระเบิดใส่เด็กนักเรียน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย
ที่เกิดเหตุพบเด็กนักเรียนชาย ชั้นม.1 2 ราย มีแผลฉกรรจ์จากการเผาไหม้ อีกรายพบบาดเจ็บมีแผลฉกรรจ์ที่มือด้านขวา ร้องด้วยความเจ็บปวด จนท.จึงรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำส่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รักษาตัวต่อเป็นการด่วน
จากรายงานการบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการบาดเจ็บ-พิการ จากการเล่นประทัดดอกไม้ไฟเพิ่มสูงขึ้น และพบว่า ร้อยละ 40 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัด เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการของเด็ก ตลอดจนไม่มีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครองในขณะที่เด็กเล่นประทัด
อันตรายจาก ประทัดระเบิด สอนลูกให้ระวังไว้ วัยซนเสี่ยงเจ็บสูง!
ในช่วงเทศกาล ต่างๆ เช่น ลอยกระทง และออกพรรษา ร้านค้ามักนำประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ วางจำหน่ายกันอย่างคึกคัก ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถหาซื้อได้ง่าย เด็กเป็นวัยที่รักสนุกแต่อาจยังขาดวุฒิภาวะในการระแวดระวังภัย ซึ่งอันตรายจากการเล่นประทัด มีหลายข้อด้วยกัน ดังนี้
1.อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด
ที่ส่งผลเสียหาย ต่อชีวิต ทำให้เกิดการบาดเจ็บ และทรัพย์สินที่เสียหายไป ทำให้ผิวหนังไหม้ และอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญ และที่ร้ายแรงคือถึงขั้นทำให้ตาบอด หรือนิ้วขาดได้ นอกจากนี้ การเก็บดอก ประทัด ดอกไม้ไฟ เป็นจํานวนมากไว้ในบ้าน อาจเป็นต้นเหตุที่ทําให้เกิดการเสียดสีกันหรือการล้มหรือหล่นของกองดอกไม้เพลิง จนเกิดปฏิกิริยากันเองและเกิดการลุกติดไฟและระเบิดขึ้นได้
สอนลูกอย่างไรให้รอดชีวิตจาก ไฟไหม้บ้าน !!
อุทาหรณ์ อุบัติเหตุในเด็กเล็ก พร้อม 6 วิธี ลดเสี่ยงเกิดเหตุ
อันตรายลูกโป่งอัดแก๊ส ภัยใกล้ตัวลูกน้อย
2.อันตรายจากการได้รับสารเคมีต่างๆ
สารเคมีในประทัด มีอยู่หลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อาทิ สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต จะทําให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน สารซัลเฟอร์หรือกํามะถัน จะทําให้เกิดอาการตาแดง ผิวหนัง อักเสบ หายใจขัด เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ สารโปตัสเซียมไนเตรต ถ้าสัมผัสสารนี้จะทําให้ เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุผิวหนัง ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทําให้คลื่นไส้ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อน แรงได้สําหรับ สารแบเรียมไนเตรต สารนี้จะมีพิษมากจะทําให้เกิดการระคายเคืองต่อหูตา จมูก และผิวหนัง สารนี้อาจทําลายตับ ม้าม และยังทําให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายอาจทําให้เสียชีวิตได้เป็นต้น
3.อันตรายจากเสียงของระเบิดจากพลุและดอกไม้เพลิง
ระดับความดังของเสียงประทัด ดอกไม้ไฟ แตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด โดยระดับเสียงจากประทัดบางชนิด สามารถดังได้สูงสุดถึง 130 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับความดังที่เป็นอันตรายต่อประสาทหู มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหากเสียงดังมาก แม้ได้ยินเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงอีกด้วย
4.อันตรายจากความร้อน
ดอกไม้เพลิงบางชนิดให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงมากคือ ประมาณ 1,200 – 1,800 ํF ซึ่งอาจทําให้ ผิวหนังไหม้หรือตาบอดได้เช่น ดอกไม้เพลิงที่เรียกว่า ไฟเย็น เมื่อจุดแล้วจะให้สีสันต่างๆ เป็นต้น
พฤติกรรมที่ทำให้เกิดอันตรายจาก ประทัดระเบิด
1. ดัดแปลง เช่น จุดในภาชนะ ขวดแก้ว โลหะ และท่อพลาสติก ถอดชนวนผูกรวมกัน บรรจะแล้วจุดชนวน
2.จุดในสถานที่เสี่ยงสูง เช่น แนวสายไฟ เสาไฟฟ้า อาคารบ้านเรือน กองวัสดุติดไฟง่าย สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
3. คึกคะนอง เช่น โยนใส่กลุ่มคน ผู้โดยสารบนรถ หรือ ผู้ที่กำลังขับขี่ยานพาหนะ
ข้อแนะนำ ในการเล่นประทัด ดอกไม้ไฟ
1.ไม่เล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟหรืออาคารบ้านเรือน
2.ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟมาเล่นตามลำพัง
3.หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธี ควรอ่านคำแนะนำก่อน และควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน
4.ไม่ควรจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุที่จุดแล้วแต่ไม่ติดซ้ำอีกรอบ เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงในภายหลังได้
5.ไม่เก็บประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน หรือที่มีแดดส่องถึง เพราะอาจเกิดการเสียดสี และทำให้ระเบิดได้
6. ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้บริเวณที่เล่น ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
7. ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้เล่นเองเด็ดขาด
หากเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล และพันบาดแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเหนือแผลเพราะจะทำให้เส้นประสาท หรือหลอดเลือดเสียหายได้
สอนลูกเรื่องประทัด
ควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ห้ามเด็กเล่น ประทัด พลุ ดอกไม้ไฟตามลำพัง ควรอ่านคำแนะนำและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ปกครองและครูต้องสอนให้เด็กรู้ว่า ประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็ก เช่น อาจทำให้ตาบอด นิ้วขาดกลายเป็นคนพิการ และสอนไม่ให้เด็กเก็บประทัด พลุ ดอกไม้ไฟที่จุดแล้วไม่ระเบิดมาเล่น เพราะอาจจะระเบิดโดยไม่คาดคิด ซึ่งผู้ปกครองควรดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะช่วงเทศกาล ตลอดจนเด็กต้องได้รับการฝึกทักษะการหนีเมื่อเผชิญสถานการณ์อันตราย
การเล่นประทัดหากเล่นโดยขาดความรู้และความระมัดระวัง ก็อาจทำให้บาดเจ็บได้ค่ะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังการเล่นประทัด ด้วย ข้อควรระวังต่างๆ ตลอดจนข้อแนะนำที่มีประโยชน์ให้ลูกฟัง คงไม่ยากแน่นอนค่ะ ที่ลูกๆ จะกลายเป็นคนที่มี ความฉลาดในการคิดดีและมีคุณค่า(TQ) ต่อไปในอนาคต ด้วยทักษะนี้จะช่วยให้ลูกรู้จักการไตร่ตรองสิ่งถูกผิด และคิดเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : khaosod.co.th,envocc.ddc.moph.go.th,thaihealth.or.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
6 อันตรายนอกบ้าน ที่ควรสอนลูกให้ระวัง!
วิธีรับมือลูกเล่นซนนอกบ้าน สอนลูกรู้จักบรรทัดฐานสังคม พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ
4 ข้อควรคำนึง เล่นกับลูก ให้สนุก-ปลอดภัย ช่วยลูกมีพัฒนาการที่ดีได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่