นาทีชีวิต!! CPR ช่วยลูกอย่างไรเมื่อลูก สำลักอาหาร - Amarin Baby & Kids
สำลักอาหาร cpr

นาทีชีวิต!! CPR ช่วยลูกอย่างไรเมื่อลูก สำลักอาหาร

Alternative Textaccount_circle
event
สำลักอาหาร cpr
สำลักอาหาร cpr

สำลักอาหาร นาทีชีวิต หากลูกเกิดภาวะสำลักไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอม หาก cpr ช่วยชีวิตถูกวิธีมีโอกาสรอด ทักษะช่วยชีวิตที่พ่อแม่ต้องรู้

นาทีชีวิต!! CPR ช่วยลูกอย่างไรเมื่อลูก สำลักอาหาร

การสำลักอาหาร เรื่องเล็ก ๆ ที่ส่งผลไม่เล็กต่อชีวิต การเสียชีวิตจากภาวะทางเดินหายใจ หรือหลอดอาหารถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม (choking) เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กเล็ก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด กะทันหัน  แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีความพร้อม ความรู้ความเข้าใจ ในการรับมือและป้องกันเบื้องต้น ก็จะสามารถช่วยลูกได้ทันการณ์ ช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เด็กก็จะได้รับการดูแลและช่วยเหลือด้วยวิธีการที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที

เด็กทารก สำลักนม ร้องไม่มีเสียง
เด็กทารก สำลักนม ร้องไม่มีเสียง

แค่สำลักอาหาร ทำไมถึงอันตรายถึงชีวิต !!

ในเด็กทารกที่ยังไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดอาการ สำลักอาหาร ได้ การสำลักนมในเด็กทารกจนเสียชีวิตนั้น แม้จะเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็พบได้เรื่อย ๆ ดังที่เราเห็นได้จากข่าวเศร้าตามหน้าสื่อต่างๆ  ทำไมทารกถึงสำลักนมจนเสียชีวิตได้

  • นมแม่ที่ไหลพุ่งแรงมากจนลูกดูดไม่ทัน ซึ่งโดยปกติเด็กที่ดูดนมแม่จะไม่ค่อยภาวะอันตรายนี้ เพราะนมจะไหลออกมาเมื่อเด็กออกแรงดูดเท่านั้น แต่ในนมแม่ที่มีมาก และไหลพุ่งแรงจนทำให้ลูกดูดไม่ทัน จนสำลักก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
  • ทารกที่มีความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวกับการดูดกลืน เช่น เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะความผิดปกติของการกลืน เป็นต้น
  • ขวดนม การใช้ขวดนมให้ลูกดูด จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสำลักนมได้มากกว่าดูดจากเต้านมแม่โดยตรง
  • จุกขวดนมที่ผิดขนาด ไม่ได้มาตรฐาน มีรูที่ใหญ่เกิดไปไม่เหมาะสมกับช่วงวัย ทำให้ปริมาณน้ำนมไหลออกมามากกว่าปกติ ทารกจึงสำลักนมได้ ปริมาณน้ำนมที่มากนั้น อาจผ่านเข้าไประบบทางเดินหายใจ คือ ผ่านกล่องเสียงลงไปในสายเสียง ถ้าปริมาณน้ำนมมากจนเกินไปก็จะทำให้หายใจไม่ออก เพราะลมเข้าไปไม่ทัน จึงเกิดภาวะขาดออกซิเจน หรือน้ำนมปริมาณมากเข้าไปกระตุ้นให้เกิดกล่องเสียงหดตัวเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการทางเดินหายใจอุดกลั้นฉับพลัน อันนำมาซึ่งการเสียชีวิตได้

เด็กโตที่สามารถรับประทานอาหารได้แล้ว อาการสำลักอาหารมักเกิดจากการที่เด็กนำอาหาร หรือสิ่งของเข้าปากด้วยความอยากรู้อยากเห็น หรือเกิดการสำลักขณะที่กินอาหารเร็วเกินไป หรือพูดขณะที่กำลังมีอาหารอยู่ในปาก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ใหญ่สำลักนั้นมักเกิดจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หัวเราะขณะกินอาการหรือดื่มน้ำเร็วเกินไป

อาหารที่มักทำให้เกิดอาการสำลัก ได้แก่ ถั่วลิสง หมากฝรั่ง ป๊อปคอร์น ลูกอม ไส้กรอก ผักและผลไม้ชิ้นใหญ่ๆ เช่น มะเขือเทศเชอรี่ ลูกองุ่น และวัสดุเล็ก ๆ อย่างยางลบ

สัญญาณเตือน เมื่อลูก “อาหารติดคอ”

  1. สำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรง และต่อเนื่อง
  2. หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด
  3. พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก
  4. หายใจเร็วผิดปกติ
สำลักอาหาร วิธีปฐมพยาบาลลูกน้อย
สำลักอาหาร วิธีปฐมพยาบาลลูกน้อย

วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อสำลักอาหาร

เมื่อ “ตัวคุณเอง”สำลักอาหาร

ในกรณีที่เรารับประทานอาหารอยู่คนเดียว แล้วจู่ ๆ เกิดสำลักอาหารขึ้นมา ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  1. รวบรวมสติ แล้วดื่มน้ำ แต่หากไม่มีน้ำ พยายามยืดคอตรง ๆ เพื่อเปิดหลอดอาหารให้กว้างขึ้น แล้วไอออกมาแรง ๆ
  2. กำมือหนึ่งข้างนำมาวางบริเวณเหนือสะดือ (กรณีคนอ้วนหรือคนท้อง เปลี่ยนตำแหน่งเป็นร่องอก ) แล้วใช้มือข้างที่เหลือนำมากุมมือที่กำไว้ กระทุ้งให้สิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย หากแรงกดไม่พอ ลองใช้ขอบโต๊ะ หรือเก้าอี้ช่วยเพิ่มแรงกด
  3. ออกไปหาคนช่วยเหลือ หรือโทร. เรียกหน่วยกู้ชีพ

เมื่อ “คนอื่น”สำลักอาหาร

ต้องสังเกตอาการ หากเห็นว่า เขาจะหายใจไม่ออก เอามือกุมคอ พยายามจะพูดแต่ไม่มีเสียง ต้องรีบถามเลยว่าสำลักอาหารใช่หรือไม่ หากเขาส่งสัญญาณว่าใช่ ปฏิบัติดังนี้

  1. ไปทางด้านหลังของผู้ที่สำลักอาหาร
  2. เอามือสองข้างโอบรอบพุงของคนที่กำลังสำลัก
  3. มือข้างหนึ่งกำไว้แล้วเอามือที่เหลือมากุม บริเวณเหนือสะดือ แต่ใต้ลิ้นปี่
  4. ออกแรงกระทุ้งแรง ๆ ในลักษณะกระชากสองมือเข้าหาตัวเอง
  5. ทำเรื่อย ๆ จนผู้ที่สำลักอาหารมีอาการไอ หรือพูดให้ได้ยินเสียง ก็ถือว่าดีขึ้น

เมื่อ “เด็กเล็ก”สำลักอาหาร

  1. สังเกตอาการ อ้าปากร้องแต่ไม่มีเสียง แสดงว่ามีสิ่งแปลกปลอมกั้นหลอดลม
  2. จับเด็กนอนคว่ำ และตบแรง ๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก จนอาหารกระเด็นหลุดออกมา
  3. กรณีที่สำลักแล้วหายใจไม่ออก ริมฝีปากเขียว ให้เด็กนั่งหรือยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย ผู้ใหญ่ยืนด้านหลัง ใช้แขนสอดสองข้างโอบลำตัว กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ ดันมือลงตรงตำแหน่งลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว เพื่อดันให้อาหารหลุดออกมา

    เลือกอาหารให้เหมาะสมกับวัย ป้องกันอาการ สำลักอาหาร ได้
    เลือกอาหารให้เหมาะสมกับวัย ป้องกันอาการ สำลักอาหาร ได้

เมื่อ “ผู้สูงอายุ”สำลักอาหาร

  1. ยืนด้านหลังผู้สูงอายุ
  2. ใช้มืออ้อมจากด้านหลังมากำมือประสานไว้ที่หน้าท้องผู้สูงอายุ เหนือสะดือเล็กน้อย กระแทกมือขึ้นด้านบนบริเวณกะบังลมอย่างรวดเร็ว
  3. โทร 1669 หรือนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

สำหรับผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในการรับประทานอาหาร รับประทานแค่พอดีคำ เพราะการทำงานของระบบการกลืนอาหาร การทำงานของช่องปาก กลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืนลดลง มีโอกาสที่อาหารจะเหลือค้างในคอหอยนานขึ้นและมากกว่าปกติ เสี่ยงต่อการสำลักอาหาร และหากเกิดเหตุต้องรีบช่วยให้เร็ว จะเพิ่มโอกาสรอดมากขึ้น

อ่านต่อ>>คลิปสาธิตวิธีการช่วยเหลือ เมื่ออาหารติดคอ และข้อพึงระวัง คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up