ช่วยเหลืออย่างไร เมื่อเจอคนสำลัก
วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับเด็กทารก
หากสังเกตเห็นว่าอยู่ดี ๆ เด็กมีอาการที่แปลกไปคือ ดูเจ็บปวดและหายใจเสียงดัง ร้องไห้หรือไอไม่ได้ บางครั้งก็ไม่สามารถส่งเสียงร้องหรือหายใจได้ นั่นอาจหมายความว่าเด็กกำลังมีอาการสำลัก
สิ่งที่ต้องทำเมื่อเด็กสำลักคือ
- ตบหลัง นั่งลงและจับเด็กนอนคว่ำหน้าให้ขนานกับต้นขาและประคองหัวเด็กไว้ จากนั้นใช้สันมือตบเข้าไปแรง ๆ 5 ครั้ง ระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้างของเด็ก
- ตรวจเช็คดูในปากของเด็กว่ามีอะไรอยู่ไหม ถ้ามีให้รีบใช้ปลายนิ้วหยิบออก ควรระวังไม่ให้สิ่งที่ติดอยู่ในปากของเด็กไหลกลับเข้าไปในคออีก
- หากการช่วยเหลือด้วยการตบหลังยังไม่สามารถเอาสิ่งแปลกปลอมที่ขวางทางเดินลมหายใจของเด็กได้ ให้ใช้วิธีกดที่หน้าอกของเด็ก ด้วยการจับให้เด็กนอนหงายหน้าขึ้นขนานกับต้นขา จากนั้นใช้นิ้ว 2 นิ้วกดลงไปตรงกลางใต้ราวนมของเด็ก 5 ครั้ง ตรวจดูภายในปากของเด็กว่ามีอะไรหลุดออกมาหรือไม่ แล้วหยิบออกอย่างระมัดระวัง
- หากช่วยเหลือด้วยวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล ระหว่างที่รอรถพยาบาลมาถึงนั้นให้ช่วยเหลือด้วยการตบหลังและกดหน้าอกสลับกัน จนกว่าสิ่งที่เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจจะหลุดออกมาหรือรถพยาบาลมาถึง
- หากเด็กไม่หายใจให้เริ่มทำการกดหน้าอกหรือป้๊มหัวใจด้วยวิธีสำหรับเด็กทารก ซึ่งอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาได้
วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่
เมื่อสังเกตเห็นคนที่มีอาการสำลักให้พยายามกระตุ้นให้ผู้สำลักไอเพื่อให้สิ่งที่เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจหลุดออกมาด้วยตัวเอง หากผู้สำลักไม่สามารถพูดคุย ร้อง หรือไอด้วยตัวเองได้ สามารถให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีการดังนี้
- กระตุ้นให้ผู้ที่สำลักไอออกมา กรณีที่ผู้สำลักไม่สามารถไอให้สิ่งที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาเองได้ ให้่ช่วยประคองหน้าอกของผู้สำลัก แล้วเอียงตัวของผู้ที่สำลักไปด้านหน้า เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดในคอหลุดออกมา
- หากการพยายามกระตุ้นให้ผู้สำลักไอด้วยตัวเองไม่ได้ผล ให้ประคองตัวผู้ที่สำลักโค้งไปทางด้านหน้า แล้วใช้สันมือตบเข้าไปแรง ๆ ระหว่างกระดูกสะบักทั้ง 2 ข้าง ควรทำซ้ำ 5 ครั้ง ตรวจสอบว่ามีอะไรหลุดออกมาหรือไม่ ถ้ามีให้รีบหยิบออก
- หากช่วยเหลือด้วยวิธีการตบหลังไม่ได้ผล ให้ยืนซ้อนหลังผู้สำลัก แล้วกดกระแทกที่ท้อง 5 ครั้ง โดยใช้แขนทั้ง 2 ข้าง โอบแนบกับผู้ที่สำลักเหนือสะดือ แต่ให้ต่ำกว่าระดับหน้าอก แล้วกำมือเป็นกำปั้น จากนั้นให้ดึงกระแทกกำปั้นทั้ง 2 ข้างเข้าหาตัวและขึ้นทางด้านบนอย่างเร็วและแรง ห้ามใช้วิธีการกระแทกที่ท้องกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
- หากยังสำลักอยู่ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล ระหว่างที่รอรถพยาบาลให้ตบหลัง และกระแทกที่ท้องซ้ำจนกว่าสิ่งที่ติดในช่องคอผู้สำลักจะหลุดออกมา หรือจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง กรณีที่ผู้ที่สำลักหมดสติไป ให้ตรวจดูว่าเขายังหายใจอยู่ไหม
- หากไม่หายใจ ให้เริ่มทำการกดหน้าอกหรือป้๊มหัวใจซึ่งการปั๊มหัวใจนั้นอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาได้
เน้นชัด ๆ กับการใช้วิธี เฮมลิก แมนูเวอร์ (Heimlich Maneuver)
เป็นวิธีที่ใช้ช่วยผู้ที่มีอาการสำลักโดยทั่วไป ถ้าเกิดว่าไม่มีใครอยู่ใกล้ๆ ที่พอจะช่วยคุณได้เลย คุณสามารถใช้วิธีนี้ช่วยตนเองจากอาการสำลักได้
โดยเริ่มจาก ให้สังเกตผู้ประสบเหตุ ถ้ายังมีเสียงอยู่บ้าง แสดงว่าสิ่งแปลกปลอมยังไม่อุดกั้น 100% ยังพอมีเวลาปฐมพยาบาล ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือสามารถใช้วิธีเฮมลิก แมนูเวอร์ (Heimlich Maneuver) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดังนี้
- พยายามตั้งสติและถามเขาก่อนว่าสำลักอาหารใช่ไหม
- หากเขาพยักหน้าหรือทำหน้านิ่ง ๆ อึ้ง ๆ ให้รีบไปประกบหลัง แล้วเอามือทั้งสองข้างโอบรอบเอวเขาไว้
- กำมือหนึ่งข้าง (เก็บนิ้วโป้ง) หันด้านนิ้วโป้งวางไว้เหนือสะดือ (บริเวณใต้ลิ้นปี่) แล้วเอามือที่เหลือมากำมือที่กุมไว้อีกที
- ออกแรงกระทุ้ง ในลักษณะกระชากสองมือเข้าหาตัวเองแนวเฉียงขึ้นด้วยความเร็วและแรง ทำหลาย ๆ ครั้ง ให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา
- หากกระทุ้งที่ท้องแล้วไม่ได้ผล ให้โน้มตัวผู้ป่วยลง โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าระดับหัวไหล่
- ออกแรงตบสะบักของผู้ป่วยด้วยสันมือประมาณ 5 ครั้ง สลับกับกระทุ้งที่ท้องจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
น่าอ่าน >> เด็กหนุ่มสำลักอาหาร เกือบเสียชีวิต โชคดีเพื่อนใช้วิธีเฮมลิก แมนูเวอร์ช่วยไว้ทัน (มีคลิป)
สำลักอาหาร กรณีอยู่คนเดียว
วิธีปฐมพยาบาลในกรณีสำลักอาหารและอยู่คนเดียว โดยเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่ใช้ขอบโต๊ะ ขอบพนักเก้าอี้ หรือขอบวัสดุที่แข็งแรงมั่นคง เป็นตัวช่วย
- พาตัวเองไปใกล้ ๆ ขอบโต๊ะหรือขอบพนักเก้าอี้
- ยืนให้ตำแหน่งใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือชนกับขอบโต๊ะหรือขอบแข็ง ๆ
- ออกแรงกระแทกตัวเองกับขอบโต๊ะหรือขอบเก้าอี้แรง ๆ เพื่อให้เกิดแรงดันที่กะบังลม จนร่างกายดันเอาอาหารที่อุดกั้นหลอดลมอยู่ออกมา
วิธีของ Heimlich Maneuver ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์เท่านั้น และผู้ช่วยเหลือควรมีความชำนาญพอสมควร ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังพอมีสติ หายใจเองได้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลมากกว่า เนื่องจากการตัดสินใจใช้วิธีดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์พิจารณาให้การรักษา และนำสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจด้วยวิธีที่เหมาะสม ปลอดภัย ได้แก่ การดมยาสลบ และใช้กล้องส่องตรวจทางเดินหายใจ
หมดสติไปแล้ว ตัวอ่อนปวกเปียก ไม่ต้องอุ้มกระทุ้งท้องอีกแล้ว เริ่มกดหน้าอกปั๊มหัวใจทันที!!
เมื่อผู้ประสบเหตุเกิดการสำลักอาหารจนหมดสติ ร่างกายของเขาจะทิ้งน้ำหนักตัว ตัวอ่อนปวกเปียก ไม่สามารถจับมายืนกระทุ้งเพื่อใช้วิธีเฮมลิก แมนูเวอร์ได้ ในบางกรณีเขาอาจจะหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว ดังนั้นเมื่อพบผู้สำลักอาหาร และหมดสติแล้ว ควรรีบเรียกรถพยาบาลมาช่วยเหลือ แล้วจับให้นอนหงาย และเริ่มกดหน้าอกปั๊มหัวใจทันที แรงกดหน้าอกอาจทำให้อาหารที่อุด หลุดออกมาได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.rajavithi.go.th/https://www.pobpad.com/เพจ ห้องฉุกเฉินต้องรู้/www.si.mahidol.ac.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เมื่อมีลูกคนที่สอง พ่อแม่ต้องรับมืออย่างไร ไม่โดดเดี่ยวพี่คนโต!!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่