CyberBullying และ Sexting หมอมินบานเย็น จิตแพทย์ชื่อดัง “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจในเพจ “ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย” ได้เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับทักษะสังคมของเด็กวัยรุ่นในโลกปัจจุบันที่น่าเป็นห่วง ภายใต้ศัพท์ใหม่ที่ว่า CyberBullying และ Sexting
Cyber Bullying
“Cyber Bullying คือการรังแกของเด็กและเยาวชนรูปแบบใหม่ที่ทำผ่านการใช้เทคโนโลยีอิเล็คโทร นิคส์ ไม่ว่าจะเป็น มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โดยผ่านการใช้อินเตอร์เน็ต เช่น social media อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แชท และ websiteต่างๆ”
Sexting
และ “Sexting เป็นศัพท์ใหม่ทางจิตวิทยา หมายถึง การส่งต่อ การได้รับ ข้อมูล รูปภาพ รูปถ่าย ที่มีลักษณะไม่เหมาะสมทางเพศ อาจจะมีการส่งต่อสิ่งที่ได้ไปให้คนอื่น ผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์อื่นๆ เป็นรูปแบบหนึ่งของ Cyberbullying”
Case Study ที่คุณหมอมินบานเย็นยกมาเล่า เป็นเรื่องของเด็กหญิงแอนนา เธอมีอายุเพียง 14 ปี เป็นเด็กเรียนเก่ง มีเพื่อนมาก และถูกเลี้ยงดูมาภายใต้ครอบครัวที่อบอุ่น แอนนามีแฟนชื่อคริส เป็นเด็กรุ่นพี่ที่โรงเรียนอายุ 16 ปี วันหนึ่งขณะที่คริสบอกแอนนาว่าอยากมีรูปแอนนาสวยๆ เก็บไว้ดูคนเดียว แอนนานึกสนุกถ่ายรูปเปลือยส่วนบนของตัวเอง ด้วยท่าทางเซ็กซี่เหมือนดาราในมิวสิควิดีโอ ซึ่งในขณะที่ส่งให้คริสนั้น คริสกำลังคุยกับเพื่อนผู้ชายอีก 2-3 คน พวกเขาเห็นเข้าจึงขอให้คริสส่งเข้าทางไลน์ คริสไม่รู้จะปฏิเสธเพื่อนอย่างไร จึงส่งให้และกำชับว่าห้ามส่งต่อให้ใคร
ไม่นานรูปเปลือยของแอนนาก็กลายเป็นที่พูดถึงทั้งโรงเรียน และทุกคนก็รู้จักแอนนาในชั่วข้ามคืน ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าวัยรุ่น 20% เคยส่งภาพเปลือยให้กับคนอื่นที่ไว้ใจเช่น เพื่อน หรือ แฟน แต่ในกรณีนี้แอนนาก็ลาออกจากโรงเรียนนี้และไม่มีใครพบเธออีกเลย
ในกรณีนี้คุณหมอมินได้อธิบายไว้ว่า
พ่อแม่ควรแนะนำลูกๆให้ดี เตรียมตัวตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะมีอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ต่างๆใช้ ด้วยความเป็นเด็ก บางทีก็ไม่ได้คิดให้ดีก่อนที่ส่ง หรือ โพสต์อะไรลงไป ทำไปด้วยความคึกคะนอง สนุกสนาน และรู้เท่าไม่ถึงการณ์
จริงๆแล้วโดยปกติสื่อสังคมออนไลน์จะกำหนดอายุคนใช้งานอยู่ที่ 13 ปี ซึ่งตรงกับอายุที่เหมาะสมตามที่ชมรมจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนั้นเด็กอายุน้อยกว่านี้ก็ไม่สมควรที่จะใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพราะเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่อันตรายและเด็กยังไม่มีทักษะควบคุมหรือ ป้องกันตัวเองดีพอเวลาที่ใช้งานสื่อเหล่านี้
พ่อแม่มักจะไม่ลืมสอนลูกๆว่า อย่าคุยกับคนแปลกหน้า อย่าไปไหนกับคนที่ไม่รู้จัก หรือถ้ามีใครมาเคาะประตูบ้านแล้วไม่รู้จักอย่าเปิดให้เข้ามา ถ้าคุยโทรศัพท์กับคนที่เราไม่รู้จักแม่จะบอกเราว่าห้ามบอกข้อมูลส่วนตัวไป บ่อยๆที่พ่อแม่มักต้องคอยดูว่าลูกจะไปที่ไหน เพื่อนที่ลูกเล่นด้วยเป็นใคร ลูกกำลังดูอะไรอยู่ในทีวี กำลังอ่านหนังสืออะไรอยู่ แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเร็วแบบนี้ พ่อแม่อาจจะมองข้ามการแนะนำลูกในเรื่องของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือ การใช้อินเตอร์เน็ต
พ่อแม่ควรบอกลูกว่าการที่ลูกคุยกับคนที่ไม่รู้จักที่อยู่ในอินเตอร์เน็ต เช่น คนที่มาขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ค โดยเห็นแค่รูปโปรไฟล์กับชื่อ คนเหล่านั้นก็เสมือนกับคนแปลกหน้าที่จะต้องระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รูปภาพ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะติดต่อกันส่วนตัว เช่น นัดไปเจอกันข้างนอก
พ่อแม่ควรจะต้องคุยกับลูกว่าในกรณีจำเป็น พ่อแม่อาจจะต้องขอดูข้อมูลต่างๆในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพราะมีความเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย แต่พ่อแม่ก็จะบอกลูกก่อน ตรงนี้ควรตกลงให้ยอมรับกันทุกฝ่ายก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกเข้าถึงอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์และอินเตอร์เน็ต
แนะนำลูกถึงวิธีการป้องกันไม่ให้กลายเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดี หรือคนที่จะมารังแก ก็คือ การตั้งค่าความปลอดภัยในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ หากมีใครที่มากระทำสิ่งที่ไม่ดีผ่านสื่อ ควรที่จะ block และ report ไปที่ศูนย์ของสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆ และควรจะบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจเวลาที่มีปัญหาหรือถูกรังแก อย่างน้อยๆก็มีคนช่วยคิดแก้ไข แต่ก่อนอื่นก็ต้องทำให้ลูกไว้ใจพ่อแม่พอที่จะพูดคุยเรื่องเหล่านี้ด้วยได้ ซึ่งต้องเริ่มจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
Cyberbullying ถ้าปล่อยไว้จะทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น เครียด ซึมเศร้า ไม่ไปโรงเรียน การเรียนตกต่ำลงไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งป้องกันได้ หากพ่อแม่ใส่ใจและเห็นความสำคัญของการป้องกันปัญหานี้ ก่อนที่สายไป
แม้ว่าโซเชี่ยลมีเดียที่นำมาซึ่งความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ชีวิตประจำวันที่ง่ายขึ้น แต่ก็อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่น่ากลัวจนคิดไม่ถึง โดยเฉพาะกับเด็กๆและวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดีย
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
เรื่องโดย #หมอมินบานเย็น
ภาพโดย : ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย