ยกเลิกเลยไหม? ปักชื่อนักเรียน เมื่อชื่อนำไปสู่คดี ลักพาตัว - Amarin Baby & Kids
ปักชื่อนักเรียน ลักพาตัวเด็ก

ยกเลิกเลยไหม? ปักชื่อนักเรียน เมื่อชื่อนำไปสู่คดี ลักพาตัว

Alternative Textaccount_circle
event
ปักชื่อนักเรียน ลักพาตัวเด็ก
ปักชื่อนักเรียน ลักพาตัวเด็ก

ปักชื่อนักเรียน กับ การลักพาตัวเด็ก เกี่ยวข้องกันอย่างไร เมื่อการปักชื่อบนเสื้อ ให้ผลร้ายมากกว่าที่คิด ถึงเวลายกเลิกหรือยัง หาคำตอบของคุณจากข้อดีข้อเสียกัน

ยกเลิกเลยไหม? ปักชื่อนักเรียน เมื่อชื่อนำไปสู่คดี ลักพาตัว!!

ประเทศไทยได้เริ่มมีชุดนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยการแต่งเครื่องแบบนักเรียนมีพื้นฐานมาจากการแต่งตัวให้เข้ากับกาลเทศะของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เครื่องแบบของนักเรียนชายส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกางเกงขาสั้นหรือขายาวสีดำและเสื้อเชิ้ตสีขาวและอาจมีเนคไทด้วย ส่วนเครื่องแบบของนักเรียนหญิง ส่วนใหญ่แล้วประกอบไปด้วยเสื้อครึ่งตัวและกระโปรง ในบางประเทศอนุญาตให้นักเรียนหญิงใส่กางเกงขายาว การใช้เสื้อสูทเหมือนเสื้อแจ็กเกตทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชายนั้นถือเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะในประเทศที่อากาศหนาว ในขณะที่บางประเทศมีเครื่องแบบนักเรียนที่เป็นมาตรฐานให้ใช้สำหรับทุกโรงเรียน และบางประเทศมีเครื่องแบบนักเรียนแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน ในหลายโรงเรียนก็มีการจัดทำเข็ม ตราสัญลักษณ์ หรือ ปักชื่อนักเรียน ติดหน้าอกด้วย

ปัจจุบันเครื่องแบบนักเรียนไทย มีรูปแบบการแต่งกายของผู้เข้าศึกษาในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ประกอบกับระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนต่าง ๆ เอง

สำหรับการ ปักชื่อนักเรียน บนอกเสื้อนั้น ถ้าสังเกตุจากประวัติความเป็นมาของชุดนักเรียนที่กล่าวมาขั้นต้นนั้น จะพบว่ามีการกำหนดให้ปักอักษรย่อนามจังหวัด และหมายเลขประจำตัวนักเรียนมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบัน การปักอักษรย่อก็ยังมีการดำเนินการกันอยู่ และยังเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องแบบชุดนักเรียนตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 แต่สำหรับการปักชื่อนักเรียนนั้น ไม่ได้มีระเบียบระบุไว้ แต่น่าจะเป็นรูปแบบที่แต่ละโรงเรียนหรือต้นสังกัดกำหนดขึ้นมาเอง เพื่อความเหมาะสมนอกเหนือจากระเบียบที่กำหนด

ที่มา : https://skm.ssru.ac.th
ปักชื่อนักเรียน ควรไปต่อหรือไม่
ปักชื่อนักเรียน ควรไปต่อหรือไม่

รณรงค์เลิก ปักชื่อนักเรียน บนชุดนักเรียน

จากการที่มีข่าวของผู้หญิงคนหนึ่งได้ซื้อหนังสือจากร้านขายหนังสือมือสอง โดยที่หนังสือเล่มนั้นมีรูปติดบัตรนักเรียนของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งติดมาด้วย เมื่อเธอลองนำเอาชื่อเจ้าของรูป จากอกเสื้อนักเรียนในรูปดังกล่าวไปค้นหาในโปรแกรมสืบค้น จนเจอเรื่องน่าขนลุก เพราะเด็กผู้หญิงคนนั้น ปัจจุบันคือคนร้ายในคดีสะเทือนขวัญ สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ ปัจจุบันเราสามารถค้นหาใครก็ได้บนโลกอินเตอร์เน็ต ว่าเขามีประวัติ หรือข้อมูลส่วนตัวอะไรบ้างที่หลุดมาไว้บนโลกไซเบอร์นี้ โดยมีข้อมูลเพียงชื่อบนเสื้อนักเรียนในรูป!!

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้โลกออนไลน์ต่างรณรงค์ให้เลิกปักชื่อนักเรียนบนชุดนักเรียน ซึ่งมีหลายคนที่เห็นด้วย และหนึ่งในนั้นคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่กำลังพิจารณาในเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ดี ทางรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ระบุถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในนโยบายของกระทรวงศึกษา เพราะทาง ผอ.ของแต่ละโรงเรียนสามารถตัดสินใจเองได้เลย เนื่องจากกระทรวงศึกษาไม่มีกฎบังคับให้ต้องปักชื่อบนชุดอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

ชื่อ-นามสกุล นั้นสำคัญไฉน??

จากการที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้ให้อำนาจกับทางโรงเรียนแต่ละโรงเรียนตัดสินใจเกี่ยวกับการ ปักชื่อนักเรียน บนเสื้อนักเรียน ไม่มีกฏบังคับนั้น ทำให้เกิดทางเลือกขึ้นว่าจะอยู่ทีมไหน ระหว่าง ทีมปักชื่อบนเสื้อ กับทีมยกเลิกการปักชื่อบนเสื้อ ก่อนตัดสินใจใด ๆ เราคงต้องมาศึกษาข้อดี ข้อเสียของการปักชื่อนักเรียนบนเสื้อ กันดีกว่า

ฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิก หยิบยกข้อดีมาดังนี้

  • เพียงชื่อ นามสกุล นำไปสู่การตีสนิทอย่างแนบเนียน : ป้องกันเหตุลักพาตัว เหตุร้ายอื่น ๆ

นางกัสมาภรณ์ บัวภิบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านกล้วย จังหวัดชัยนาท ได้ออกประกาศแจ้งเตือนผู้ปกปครอง และนักเรียนในโรงเรียนให้ระวังชายแปลกหน้าต้องสงสัยว่าจะเข้ามาลักเด็ก หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีแปลกหน้าเข้ามาทำทีตีสนิทนักเรียนหญิงรายหนึ่งที่บริเวณหน้าโรงเรียน โดยอ้างว่าพ่อแม่ให้มารับแทน แต่โชคดีที่ผู้ปกครองท่านอื่นรู้จักกับพ่อแม่ของเด็กนักเรียนรายนี้ จึงถามว่ารู้จักชายคนแปลกหน้าคนดังกล่าวหรือไม่ แต่เด็กนักเรียนบอกไม่รู้จัก จึงไม่ยอมให้ไปด้วย ขณะที่ชายแปลกหน้าคนดังกล่าวได้รีบเดินหนีไป

ที่มา : https://www.tnews.co.th

เจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศญี่ปุ่น ได้คุมตัวชายวัย 23 ปี ต้องสงสัยว่าลักพาตัวหญิงสาวไปกักขังนาน 2 ปี โดยเด็กสาวเปิดเผยว่า เมื่อ 2 ปีก่อน คนร้ายอ้างตัวเป็นทนายความส่วนตัวของพ่อแม่ของเธอ และให้มารับตัวเธอที่บ้านในจังหวัดไซตามะ ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว โดยบอกให้เธอขึ้นรถของเขา หลังจากกุเรื่องว่าพ่อแม่ของเธอกำลังจะแยกทางกัน หลังจากนั้นก็ขังเธอไว้ในอพาร์ตเมนต์ตลอดเวลา

ที่มา : BBCnewsThai

นอกจากคดีการลักพาตัวที่ได้หยิบยกขึ้นมาดังกล่าวแล้ว ยังมีคดีอีกมากมายที่เด็กถูกลักพาตัวไป เมื่อมีการจับคนร้ายได้ จึงได้ทราบว่าวิธีการของคนร้ายมักใช้การตีสนิทกับเด็ก โดยดูชื่อ – นามสกุล ของเด็ก จากชุดนักเรียน หรือกระเป๋า และสืบค้นจนพบที่อยู่บ้าน หรือใช้ทริคในการตีสนิทด้วยการเรียกชื่อเด็ก เมื่อเด็กเข้าใจว่าคน ๆ นี้รู้จัก ก็หลงเชื่อใจ จนนำไปสู่การลักพาตัวเด็กได้โดยง่าย ในเรื่องนี้นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงา พบว่าปัญหาเด็กหาย มักจะอยู่ในลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. จุดที่พบว่าเด็กถูกลักพาตัวมากที่สุด คือ หน้าบ้าน และหน้าโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พ่อแม่คิดว่าปลอดภัยจนชะล่าใจ
  2. การลักพาตัวเด็กส่วนใหญ่จะไม่มีการฉุดกระชากลากถู หรือทำร้ายเด็ก แต่จะใช้วิธีการหลอกล่อเด็ก เช่น การตีสนิท การให้ขนม ชวนไปซื้อของเล่น อ้างว่าพ่อแม่ให้มารับ  เป็นต้น เมื่อเป็นการตามไปแต่โดยดีจึงไม่มีพิรุธใด ๆ ให้คนรอบข้าง ใกล้เคียงสังเกต และช่วยเหลือได้
  3. บางรายเข้ามาร่วมเล่นกับเด็กบ่อย ๆ ทำตีสนิท เพื่อให้เด็กวางใจก่อนลงมือลักพาตัว

    เด็กถูกลักพาตัว
    เด็กถูกลักพาตัว

ดังนั้น การปักชื่อนักเรียน ลงบนเสื้อให้เห็นเด่นชัด จึงเป็นจุดอันตรายที่มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กมาใช้ประโยชน์ได้โดยง่ายดาย โดยพบได้ในหลาย ๆ กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ในประเทศญี่ปุ่นมีการรณรงค์กันในเรื่องนี้ ลามไปถึงการติดป้ายชื่อพนักงานบริการหลายแห่งให้เริ่มยกเลิก เพราะการติดชื่อทำให้เกิดคดี Stalker (พวกติดตามคนที่ชื่อชอบอย่างโรคจิต) โดยเฉพาะผู้หญิง ที่มีการสืบค้นจากชื่อจนตามไปถึงบ้าน เกิดคดีต่าง ๆ นานา

  • ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการปักเสื้อ 

การยกเลิกการ ปักชื่อนักเรียน บนเสื้อนักเรียน ช่วยในเรื่องการประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการปักเสื้อ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง นอกจากจะต้องซื้อเครื่องแบบนักเรียนแล้ว ยังต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการปักชื่ออีกด้วย มากไปกว่านั้น การไม่ปักชื่อบนเสื้อ ทำให้สามารถส่งต่อเสื้อที่ไม่ใช้แล้วให้กับผู้อื่นได้ง่าย โดยไม่ต้องไปเลาะชื่อเดิมออก หรือบางคนไม่สะดวกใจที่จะส่งเสื้อผ้าต่อโดยมีชื่อของลูกติดไปด้วย ถึงแม้ว่าจะทำการเลาะออกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีร่องรอยให้เห็น

ฝ่ายไม่สนับสนุน หยิบยกข้อเสียของการไม่ปักชื่อบนเสื้อ ดังนี้

  • ช่วยระบุตัวตน กรณีฉุกเฉิน

กรณีที่เกิดอุบัติเหตุชื่อที่ปักบนขุดนักเรียนจะช่วยระบุตัวตนของผู้ประสบเหตุ ทำให้สามารถติดต่อโรงเรียนหรือผู้ปกครองได้ และยังช่วยในกรณีที่นักเรียนหลงทางได้อีกด้วย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เด็กอนุบาล

  • ความเสี่ยงที่จะมีบุคคลภายนอกแอบอ้างเข้ามาภายในโรงเรียน

บุคคลภายนอกจะปลอมแปลงเป็นนักเรียน เพื่อเข้ามาก่อเหตุไม่หวังดีในโรงเรียนได้ เพราะไม่มีชื่อบนชุดนักเรียน ทำให้ผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาได้ง่าย และตรวจสอบได้ยากขึ้น

  • ช่วยให้ครูจดจำนักเรียนได้ง่าย

เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสะดวกในการดูแลเด็กของคุณครู การปักชื่อลงบนเสื้อก็ทำให้ครูจำเด็ก ๆ ได้

AMBER Alert ฟีเจอร์ช่วยแจ้งเตือน ค้นหา เด็กหาย
AMBER Alert ฟีเจอร์ช่วยแจ้งเตือน ค้นหา เด็กหาย

จากเหตุผลข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างที่เรานำมาหยิบยกให้ได้คิดพิจารณากันว่า การปักชื่อนักเรียน ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวให้แก่สาธารณะเห็นได้โดยง่ายนั้น เป็นสิ่งที่ยังคงต้องรักษาไว้ หรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสังคมปัจจุบัน เพราะการลักพาตัวเด็ก คดีเด็กหาย คนหาย นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม จากสถิติที่มีอยู่สูงในปัจจุบัน โดยขอเสนอสถิติเด็กหายในประเทศไทย จากฟีเจอร์ AMBER Alert ซึ่งเป็นฟีเจอร์ในการช่วยแจ้งเตือน ค้นหา เด็กหาย โดยมีวัตถุประสงค์ในการแจ้งเตือนเด็กหายให้ได้ไวที่สุด เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ได้แสดงสถิติไว้ ดังนี้

ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเด็กหายกว่า 130 ราย โดยเจอเด็กที่หายจำนวน 72 ราย (56%) และอยู่ระหว่างการติดตาม จำนวน 58 ราย (44%) ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เด็กหายนั้นมีหลายสาเหตุ ทั้งสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง หนีปัญหาจากเศรษฐกิจ (หนีหนี้) มีอาการป่วย หรือถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไปค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยการหายที่เกิดจากการถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไปค้ามนุษย์ จะอยู่ที่ประมาณ 5% ของเด็กสูญหายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองแค่สถิติ เราอาจจะคิดว่าตัวเลขคดีมันไม่ได้เยอะ แต่หากเรามาดูที่เนื้อหาเคสเด็กถูกลักพาตัวในไทยแล้ว เราจะเห็นว่า เคสเหล่านี้อาจจะเกิดน้อยก็จริง แต่เวลาเกิดแล้ว มันกระทบจิตใจของคนในสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งหลายครั้งเจ้าหน้าที่สามารถติดตามช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นได้ แต่ก็มีบางเคสที่เราไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน นำมาซึ่งความสูญเสีย เช่น เคสน้องการ์ตูน ในปี พ.ศ.2556 หรือน้องชมพู่ ในปี พ.ศ. 2563

ที่มา : https://thaiamber.org/
ลูกถูกลักพาตัว โดนตีสนิทจากชื่อ ปักชื่อนักเรียน บนเสื้อ
ลูกถูกลักพาตัว โดนตีสนิทจากชื่อ ปักชื่อนักเรียน บนเสื้อ

10 บทเรียนลักพาตัวเด็ก จากสถิติร้องเรียนเด็กหายปี 2546 – 2564 โดยมูลนิธิกระจกเงา

  1. ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ลักเด็กเพื่อกระทำทางเพศ
  2. วัตถุประสงค์รองลงมาเพื่อนำไปเลี้ยงดูด้วยความเสน่หา
  3. เด็กถูกลักพาตัวมีตั้งแต่อายุแรกเกิดถึง 12 ปี
  4. กลุ่มเสี่ยงที่สุดคือเด็ก ช่วงอายุ 3-8 ปีทั้งชายและหญิง
  5. ไม่พบการลักพาตัวในลักษณะกลุ่มแก๊งค์ขบวนการ
  6. ไม่พบการลักพาตัวในลักษณะแก๊งค์รถตู้
  7. ไม่พบการลักพาตัวในลักษณะลักพาเพื่อนำเด็กไปขายต่อ
  8. ผู้ก่อเหตุมีได้ทั้งคนที่เด็กรู้จักและคนแปลกหน้า
  9. จุดที่เด็กถูกลักพาตัวมากที่สุด คือ บริเวณใกล้บ้านที่เด็กวิ่งเล่นลำพัง
  10. หลายคดีตอนเกิดเหตุ ประเมินว่าเป็นการลักพาตัวเด็ก แต่พอข้อเท็จจริงปรากฏอาจเป็นเรื่องอื่น เช่น เด็กพลัดหลงด้วยตัวเอง, ปกปิดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวหรือสร้างการสถานการณ์

อ่านต่อ>> วิธีสอนให้ลูกรู้เท่าทัน คนแปลกหน้า และเทคนิคแก้ปัญหาปักชื่อนักเรียนฉบับคนญี่ปุ่น คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up