วิธีสอนให้ลูกรู้เท่าทัน คนแปลกหน้า
สอนทักษะในการรู้เท่าทันกับคนแปลกหน้า โดยทักษะนี้สามารถสอนได้ตั้งแต่ 2-3 ขวบ
- สอนให้รู้จักความหมายของ “คนแปลกหน้า” ที่มีเจตนาไม่ดี ไม่ใช่สอนให้เขากลัว แต่สอนให้รู้จักระวังตัว ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน การกลัวคนแปลกหน้า ที่ไม่คุ้นเคย แต่ไม่ได้มีเจตนาร้ายนั้น จะทำให้เด็กขาดทักษะการเข้าสังคม แต่ต้องฝึกให้ลูกรู้จักแยกแยะว่าแบบไหนที่ควรระวัง ไม่ใช่ให้เขาหนีกับสิ่งน่ากลัวนั้น งานวิจัยเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กได้ระบุว่าการสั่งให้เด็กไม่คุยกับคนแปลกหน้า เป็นวิธีที่ไมได้ช่วยทำให้เด็กแยกแยะคนร้าย กับคนไม่คุ้นเคยได้ การสอนเพียงแค่คำว่า อย่าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้า เพียงเท่านี้แต่ไม่ได้สอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราห์ว่าแบบไหน ที่ควรระวังตัว หรือการหลอกล่อแบบใดที่ลูกควรระวัง เมื่อคนร้ายที่เป็นคนแปลกหน้ามาตีสนิท เช่น เรียกชื่อลูกได้ถูกต้อง หรือให้ขนมดูใจดี เพียงเท่านี้เด็กก็ไม่นับว่าคนนี้เป็นคนแปลกหน้าอีกต่อไป
- สอนให้ลูกรู้จักหวงแหนสิทธิในร่างกายตนเอง ไม่ให้ใครมาจับ หรือบังคับให้ไปทำในสิ่งที่ตนเองไม่แน่ใจ และไม่อยากไป
- ให้ลูกรู้ว่าเมื่อมีความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัย จะสามารถขอความช่วยเหลือใครได้บ้าง เช่น คุณครู ตำรวจ เจ้าหน้าที่ร้านค้าในโรงเรียน เป็นต้น
- ในเด็กเล็ก ควรให้ลูกจำชื่อ นามสกุลจริงของตัวเองให้ได้ จำเบอร์โทรศัพท์ของคุณพ่อคุณแม่ให้ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเกิดเหตุการณ์พลัดหลงกัน
- ในกรณีที่อยู่ในที่คนพลุกพล่าน นอกจากจะสอนให้ลูกรู้จุดนัดพบที่ปลอดภัย ให้มาหาเมื่อหลงกันแล้ว การเขียนรายละเอียดสำคัญใส่ในกระดาษ แล้วเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกงของลูก เช่น ชื่อจริง นามสกุลจริง เบอร์โทรศัพท์คุณพ่อคุณแม่ ที่อยู่ แล้วให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกว่า หากเกิดการพลัดหลงกัน แล้วให้หยิบกระดาษใบนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ (ที่แต่งตัวแบบนี้) แล้วเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ตามคุณพ่อคุณแม่มารับเอง เป็นต้น
- ซักซ้อมแผนการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ กับลูกอยู่เสมอ เช่น หากหลงกันขึ้นมา ควรทำอย่างไร ติดต่อแม่ได้เบอร์ไหน หรือหากไม่สามารถทำได้ควรวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง เป็นต้น
- คอยพูดคุยกับลูกในลักษณะจำลองสถานการณ์ หรือสมมติเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วถามลูกว่าในสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เขาควรจะทำอย่างไร เช่น ถ้ามีคนแปลกหน้ามาชวนไปซื้อของเล่น ไปซื้อขนมลูกจะทำยังไง เป็นต้น
- การวิจัยของอเมริกาได้แสดงให้เห็นว่าในกรณีเหล่านี้จำนวนมาก เด็ก ๆ สามารถหลบหนีจากการถูกลักพาตัวได้ด้วยการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรสอนลูกให้ปฎิบัติตัว โดยการต่อต้านด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าแล้ว
- พยายามฝืนให้มากที่สุด
- พยายามดิ้นให้หลุดพ้น และวิ่งหนีให้เร็วที่สุด
- ตะโกนให้ดังที่สุด และขอความช่วยเหลือเพื่อดึงดูดความสนใจ
- หมั่นพูดคุยกับลูกถึงกิจกรรมประจำวันของเขา เรื่องราวต่าง ๆ ที่ลูกเจอในแต่ละวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เช่น ที่โรงเรียน ที่สนามเด็กเล่น เพื่อเช็กว่ามีใครแอบมาทำตัวตีสนิทกับลูกหรือไม่
การหมั่นตั้งคำถามสมมติเหตุการณ์ให้แก่ลูก ฝึกคิดคำตอบ เป็นการฝึก “วิจารณญาณ” คือการฝึกคิดไตร่ตรอง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับลูกได้ดี นับเป็นทักษะที่ดี ที่เด็กในยุคใหม่ควรมี เป็นความฉลาดเผชิญปัญหา (AQ : Adversity Quotient) วิจารณญาณนี้จะช่วยให้ลูกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รู้ว่าเขาควรทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง และลูกจะสามารถแยกแยะได้ว่า คนแปลกหน้าคนไหนมาดี คนไหนมาร้าย ได้อย่างถูกต้องแม่นยำเทียบเท่าผู้ใหญ่ โดยมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าหากเด็กได้รับการฝึกฝนที่ดี เด็ก 7 ขวบสามารถมีวิจารณญาณเทียบเท่าผู้ใหญ่ได้
เทคนิคน่ารักของคนญี่ปุ่นต่อปัญหา ปักชื่อนักเรียนบนเสื้อ
ประเทศญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงการใช้ข้อมูลส่วนตัวของเด็กมากระทำความผิด เช่น ชื่อและนามสกุลของเด็กที่ปักอยู่บนเสื้อนักเรียน หรือข้าวของเครื่องใช้ ทำให้เกิดมาตราการการป้องกันข้อมูลเหล่านั้นจากมิจฉาชีพไม่ให้ได้ไปง่าย ๆ หรือแสดงข้อมูลเหล่านั้นในที่สาธารณะได้ ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปใช้ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเกิดวิธีแก้ปัญหาต่อเรื่องป้ายชื่อนักเรียน ดังต่อไปนี้
- นักเรียนญี่ปุ่นทุกคนต้องมีป้ายชื่อ ติดเสื้อไว้เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น แต่ละห้องมีจุดให้วางรวมป้ายชื่อ เมื่อมาโรงเรียนจึงติดป้ายชื่อนั้นไว้ที่เสื้อ เพื่อที่จะได้รู้ว่าใครเป็นใคร และเมื่อออกจากโรงเรียน ก็ถอดป้ายชื่อนั้นไว้ที่ห้องเรียน
- บางโรงเรียนให้นักเรียนเป็นฝ่ายเก็บรักษาเอง นักเรียนทุกคนมีป้ายชื่อ ระหว่างเดินทางมาโรงเรียนไม่ต้องติดป้ายชื่อ มาติดที่โรงเรียน และเก็บเข้ากระเป๋ากลับบ้านเวลาออกจากโรงเรียน
- อีกแบบหนึ่งที่ใช้กัน คือ การทำป้ายชื่อที่ติดได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นชื่อ อีกด้านเป็นรูปภาพ เช่น ภาพกราฟฟิคนักเรียน เป็นต้น เมื่อมาถึงโรงเรียนก็พลิกป้ายเป็นชื่อนักเรียน ออกนอกโรงเรียนก็กลับป้ายเป็นด้านรูปภาพ
จะเห็นได้ว่า ปัญหาการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลในปัจจุบันมีความสำคัญมาก เพราะความที่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถเก็บรวบรวมไว้ในโลกอินเตอร์เนต แถมยังบันทึกไว้ได้นานไม่ลบเลือนอีกด้วย ดังนั้นผู้ใหญ่ควรหันมาใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ และทำระเบียบข้อปฎิบัติแต่เดิมที่มีมาให้เข้ากับยุค เข้ากับวิถีชีวิตในสมัยปัจจุบัน ก็นับว่าเป็นการดีกว่า การป้องกันก่อนเกิดเหตุร้ายย่อมดีกว่าการมานั่งแก้ปัญหาจากผลของเหตุร้ายนั้นมิใช่หรือ
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.marumura.com/www.trueplookpanya.com/www.se-edlearning.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่