แชร์ อุทาหรณ์ เตือนใจให้ลูกกินยาผิดทำให้ชีวิตลูก และคุณต้องทุกข์ทรมาน เพียงเพราะความประมาทไม่ว่าจะจากใคร แต่คุณแม่สามารถหยุดเหตุร้ายได้แค่ทำตามสิ่งเหล่านี้
4 อุทาหรณ์ !ป้อนยาลูกผิด พร้อมวิธีสังเกตอาการหลังป้อน
ขึ้นชื่อว่า ยา แล้วพ่อแม่หลายคนคงวางใจว่า เมื่อลูกป่วยไม่สบาย พอได้รับยามารับประทานแล้ว คงวางใจได้อีกไม่นานก็จะหายดี แต่รู้หรือไม่ว่า ยานอกจากมีคุณอนันต์ ช่วยรักษาโรคให้แก่เราแล้ว หากเราใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี ไม่ถูกขนาด ไม่ถูกโรค ก็อาจเป็นโทษมหันต์ได้เช่นกัน
วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK ขอรวบรวมอุทาหรณ์ เคสตัวอย่างเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องการได้รับยาผิดให้ลูกกิน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับยาผิดขนาด ได้รับยาไม่ถูกกับโรค การใช้ยาผิดวิธี หรือยาหมดอายุ จะไม่ว่าเป็นกรณีไหนก็ตาม ทุกกรณีก็เกิดจากความประมาทของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น ส่วนผลที่ตามมาจะเป็นฝันร้ายของเด็ก หรือลูก ๆ ของเราที่ต้องมาทนทุกข์ทรมานกับอาการไม่พึงประสงค์จากการรับประทานยาผิด เรียกได้ว่า แค่กินยาผิดชีวิตเปลี่ยนกันเลยทีเดียว จากที่เคยคิดว่าจะหายทรมานจากอาการป่วย กับได้รับโรคอื่นเพิ่มอีกต่างหาก
ตัวอย่างอุทาหรณ์กินยาผิด ชีวิตเปลี่ยน
เคสที่ 1 แม่พาลูกไปรักษาอาการโรคปอดบวม ได้พ่นยา 2 ครั้ง พร้อมให้ยากลับไปกินที่บ้าน พบว่ามียาที่ต้องกินก่อนนอนอยู่ 3 ตัว และ 1 ในนั้นก็คือ ยาขยายหลอดลม ที่ทางโรงพยาบาลติดสติ๊กเกอร์ระบุให้กินค่อนช้อนชา เช้า เย็น ก่อนนอน หลังจากที่เธอป้อนยาตัวนี้ให้ลูกชายทาน ปรากฏว่าลูกชายของเธอก็ตัวสั่น ในตอนนั้นเธอเริ่มสังเกตรู้สึกว่ายานี้กลิ่นแปลก ๆ จึงลองชิมดู และพบว่ารสชาติกับกลิ่นนั้นเหมือนไม่ใช่ยาสำหรับเด็กวัยไม่ถึง 1 ขวบ จึงลองฉีกสติ๊กเกอร์ที่โรงพยาบาลติดที่ขวดออก และเมื่อได้อ่านฉลากยาที่มากับขวดแล้วก็ต้องตกใจมาก เพราะยาที่ทางโรงพยาบาลให้ลูกชายของเธอกิน จริง ๆ แล้วเป็นยาคาลามายด์ แก้อาการผดผื่น คัน ลมพิษ ซึ่งเป็นยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน แล้วจากนี้เธอควรจะทำอย่างไรต่อไป
เคสที่ 2 คุณแม่พาลูกสาววัย 10 เดือน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม เนื่องจากมีอาการตาแดง โดยหมอให้ยาหยอดตาแล้วให้กลับบ้าน ปรากฏว่าเมื่อหยอดตาไปแล้ว อาการของเด็กกลับหนักขึ้น ถึงกับมีเลือดออกในตา ตาบวมปูดเขียวช้ำ ผู้เป็นแม่จึงรีบพาไปหาหมออีกครั้ง ซึ่งหมอเปลี่ยนยาหยอดตาให้แต่ผลก็เหมือนเดิม มีเลือดผสมกับน้ำเหลืองไหลออกมาจึงรีบพาไปหาหมอคลินิกแห่งหนึ่งในตัวเมือง พร้อมกับนำยาที่โรงพยาบาลให้เอาไปให้แพทย์คลินิกดูด้วย แพทย์คลินิกเมื่อดูยาแล้วบอกกับตนเองว่า ยา 2 ตัวนี้ เป็นยาที่ใช้สำหรับหยอดผู้ใหญ่ไม่ใช่หยอดให้เด็ก เพราะตาของเด็กมีความอ่อนไหวมากกว่าของผู้ใหญ่ จึงทำให้ยาเข้าไปกัดลูกตาและมีเลือดออกมา
เคสที่ 3 เป็นกรณีตัวอย่างจากทางลำปาง โดยคุณแม่ได้โพสลงในโซเซียลระบุว่าลูกชายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ในอาการต่อมทอนซิลอักเสบ และได้รับยามารับประทานที่บ้าน แต่เมื่อจะกินยา 3 เม็ดสุดท้ายซึ่งเป็นยาตัดแบ่งจากแผง สังเกตว่าขนาดยา และซองห่อยานั้นแตกต่างจากยาแผงแรกเล็กน้อย จึงนำไปให้ อสม.ในหมู่บ้านดู พบว่าเป็นยาสลายไขมันในเลือด จึงออกมาโพสเตือนภัยให้คนอื่นได้ระวัง
เคสที่ 4 เป็นการจ่ายยาลดไข้สำหรับเด็ก โดยยาลดไข้แบบน้ำเชื่อมชนิดนี้จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ สำหรับเด็กเล็ก และสำหรับเด็กโต สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสองแบบคือ ปริมาณยาต่อโดส คุณแม่ท่านนี้สังเกตเห็นว่าปริมาณยาที่ต้องให้ลูกทานไม่เหมือนเดิม จึงสงสัยแกะฉลากที่ติดไว้ดูจึงพบว่าหากทานยาตามขนาดที่ระบุไว้ในฉลาก จะทำให้ลูกได้รับยาเกินขนาด เพราะฉลากระบุเป็นปริมาณยาของโดสเด็กเล็ก แต่ขวดยาจริงนั้นเป็นยาแบบโดสเด็กโต ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กเล็ก
จากกรณีอุทาหรณ์ต่าง ๆ ที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เป็นเพียงการเล่าให้ทราบถึงความประมาทที่เกี่ยวกับยา ที่ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อเด็กที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องอาศัยการดูแล เอาใจใส่จากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือผู้ที่มีหน้าที่จ่ายยาก็ตาม แต่มิได้เป็นการบอกว่ากรณีต่างๆ นั้นใครเป็นผู้ผิด หรือเหตุการณ์แท้จริงเป็นเช่นไรคงต้องติดตามการสอบสวนต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราพ่อแม่สามารถทำได้เลยในทันทีนั่นคือ การสังเกต ระมัดระวังในการใช้ยา เพราะปัจจุบันเพียงแค่อ่านฉลากยาตามขวดคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือลูกของเราที่ไม่สามารถนำมาเสี่ยงได้อย่างแน่นอน
วิธีสังเกตอาการผิดปกติหลังป้อนยา
การกินยาผิดนั้น หมายรวมไปถึง การกินยาเกินขนาด การกินยาไม่ตรงกับโรคที่เป็น ยาเสื่อมสภาพ และใช้ยาผิดวิธี ผิดปริมาณ แล้วเราจะรับรู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับยาผิด ลองใช้วิธีสังเกตดังต่อไปนี้
- หากกินยาในปริมาณน้อยไป ปริมาณยาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มักจะได้รับกันผิด บางครั้งพ่อแม่ยึดในปริมาณยาเดิมที่ลูกเคยทาน ในขณะที่ลูกโตขึ้น ปริมาณยาก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หากลูกได้รับยาในปริมาณน้อยไป สิ่งที่เราสามารถสังเกตได้ คือ อาการป่วยของลูกจะ ไม่ดีขึ้น แม้จะกินยาไปเกือบหมดแล้วก็ตาม
- หากกินยาเกินขนาดในปริมาณที่มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย เรามักจะพบอาการได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง ท้องเสีย
- ตัวเย็นและมีเหงื่อออก หรือตัวร้อนและผิวแห้ง
- ง่วงซึม หมดสติ
- สับสน กระสับกระส่าย ก้าวร้าว
- รูม่านตาขยาย
- สัญญาณชีพผิดปกติ โดยมีอุณหภูมิร่างกาย ชีพจร ความดันโลหิต และอัตราการหายใจเปลี่ยนแปลงไป
- มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจไม่อิ่ม หายใจถี่ หรือหายใจช้า เป็นต้น
- มีอาการหลงผิดหรือเห็นภาพหลอน
- เดินลำบาก ตัวสั่น หรือชัก
หากกินยาเกินขนาดในปริมาณที่มากเกิน มักไม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน เพราะสารในยาอาจตกค้างในร่างกายจนเกิดอันตราย สิ่งแรกเมื่อไปถึงโรงพยาบาลคุณหมอจะคอยสังเกตอาการ หากชนิดยาที่รับประทานเข้าไป รวมถึงปริมาณยาไม่มากพอที่จะเป็นอันตราย ก็ไม่เป็นไร แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และหากเป็นอันตรายต้องทำการล้างท้อง ให้ถ่านกัมมันต์ ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ช่วยการดูดซับยาที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร การที่ยิ่งรักษาเร็วขึ้นก็จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย
อ่านต่อ Kids Safety วิธีปฐมพยาบาลเมื่อพบเด็กกินยาเกินขนาด
- หากกินยาผิด ไม่ตรงกับโรคที่เป็น ไม่ว่าจะด้วยความประมาทใดก็ตาม หากลูกได้รับยาผิด ไม่ตรงกับโรคแล้ว อาการที่แสดงออกจะขึ้นอยู่กับชนิดของยา และปริมาณที่รับประทานเข้าไป เช่น ในกรณีเคสตัวอย่างที่เด็กได้รับยาคาลามายด์ ยาที่ใช้ทาภายนอกแทนยาทานขยายหลอดลม ทำให้เด็กมีอาการตัวสั่น จนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอได้อธิบายไว้ว่า ถึงแม้จะเป็นยาทาภายนอก แต่เด็กได้รับในปริมาณไม่มาก และคารามายด์ก็มีสารอันตรายต่อร่างกายน้อยมาก จึงทำให้ไม่มีอันตราย และอาการที่แสดงออกมาก ซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถรู้เองได้ว่ายาชนิดไหนเป็นอันตรายหรือไม่ ดังนั้นเมื่อทราบว่าลูกได้รับยาผิด ไม่ตรงกับโรค ทางที่ดีที่สุดควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ และนำยาที่ได้รับประทานผิดไปด้วย เพื่อความรวดเร็วในการวินิจฉัย
จากอุทาหรณ์ข้างต้นทำให้เห็นแล้วว่า อันตรายจากการทานยาผิดไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเพิ่มความใส่ใจ ลดความประมาท โดยเริ่มที่ตัวเราเองจะดีที่สุด เพราะว่าแม้ความผิดพลาดจะเกิดจากผู้อื่น แต่ถ้าพ่อแม่คอยระมัดระวังเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะนำยาเข้าปากลูกแล้วละก็ อันตรายใด ๆ ก็ไม่สามารถทำร้ายลูกน้อยของเราได้ วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้พ่อแม่สามารถระมัดระวังความผิดพลาดในเรื่องยาได้ นั่นคือ การหาข้อมูลความรู้ความเข้าใจในเรื่องยาต่าง ๆ เช่น ปริมาณยาที่ลูกควรได้รับ ลักษณะยา ชื่อยารักษาโรคที่ลูกเป็น หรือวิธีการป้อนยาให้ถูกวิธี การไม่เบื่อหน่ายในขั้นตอนการซักถามชื่อ และอาการของโรคจากเภสัชกรก่อนรับยาจากทางโรงพยาบาล รวมถึงการเช็คความถูกต้องของยาที่ได้รับจากคุณหมออีกทางหนึ่ง เป็นต้น เป็นวิธีที่ไม่ยากเลยกันใช่ไหม เพียงแค่เพิ่มความใส่ใจกันอีกสักนิด เพียงเท่านี้ลูกของคุณก็ไม่ต้องมาเสี่ยงกับอันตรายจากยาที่เกิดจากความประมาทอีกต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Kapook.com /Workpointtoday.com/Thairath.co.th/Pantip.com /Poppad.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
มือ เท้า ปาก หน้าฝน ระบาดหนัก! เจอ 8 อาการนี้ต้องพาลูกไปหาหมอ
โรคไหลตายในทารก SIDS สาเหตุสำคัญ พร้อมวิธีป้องกันทารกหลับไม่ตื่น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่