ล่วงละเมิด ลวนลาม เด็กเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด เปิดสถิติน่าตกใจที่ผ่านมา พร้อมวิธีสอนลูกป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เกิด
อย่ารอให้เกิดก่อน! เทคนิคสอนลูกไม่ให้ถูก ล่วงละเมิด
ข่าวลวนลาม ล่วงละเมิด เด็กในปัจจุบันเป็นที่พบเห็นกันมากขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
สถิติการล่วงละเมิดเด็ก 2563
วันที่ 28 ธันวาคม 2563 มติชน รายงานว่า นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี จังหวัดปทุมธานีแถลงผลการดำเนินงาน และสถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมูลนิธิฯ ประจำปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 – 25 ธันวาคม 2563 รวมรับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น 10,147 ราย
ทั้งนี้มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้จำแนกเป็นปัญหาต่าง ๆ ซึ่งปัญหาอันดับ 1 ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ การข่มขืนและทำอนาจาร จำนวน 863 ราย จัดเป็นประเภทปัญหาที่ต้องความสำคัญและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พบว่า ปี 2563 มีผู้มาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือเพิ่มมากกว่าปี 2562 (786 ราย) ถึง 77 ราย ร้องทุกข์เฉลี่ยวันละ 2.40 ราย เปรียบเทียบกับปี 2562 จำนวน 786 ราย เพิ่มขึ้น 9.80 % พบว่า
- อันดับ 1 ผู้ที่ข่มขืนเป็นคนรู้จัก/แฟน/เพื่อน 340 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 43.26%
- อันดับที่ 2 ผู้ที่ข่มขืนเป็นญาติ/คนในครอบครัว/พ่อเลี้ยง 241 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 30.6%
- อันดับ 3 ผู้ที่ข่มขืนเป็นคนข้างบ้าน 44 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 5.60% ข่มขืน
จากสถิติที่นำเสนอมาให้เห็นนั้น จะพบว่า คนร้ายที่ทำการ ล่วงละเมิด เด็กนั้น ล้วนเป็นคนใกล้ตัว คนรู้จักของเด็กแทบทั้งสิ้น แต่ใช่ว่าคนร้ายที่จ้องทำมิดีมิร้ายกับลูกคุณจะมีเพียงคนใกล้ตัวเท่านั้น เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางเพจดัง Drama addict ได้มีการออกมาแจ้งเตือนให้ระวังคนร้ายที่ไล่ลวนลามเด็กนักเรียนย่านห้างดัง พบว่าก่อเหตุมาเป็นเดือนแล้ว ยังไม่สามารถจับตัวได้ จนโรงเรียนละแวกดังกล่าวต้องออกหนังสือแจ้งเตือนผู้ปกครองให้ระวังดูแลเด็กนักเรียนให้ดี
เมื่อภัยร้าย การล่วงละเมิด การลวนลาม นั้นมีอยู่รอบตัวลูกมากมายเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่คงหนักใจว่าแล้วเราจะป้องกันระมัดระวังภัยให้แก่ลูกของเรากันได้อย่างไรดี เมื่อเราไม่สามารถคุ้มครอง ดูแลเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ลวนลาม ต้นตอไปสู่ปัญหาใหญ่!!
“โรคใคร่เด็ก” (Pedophilia) หนึ่งในอาการบกพร่องทางจิตประเภทหนึ่งในกลุ่มโรคกามวิปริตที่มักเกิดความต้องการทางเพศกับเด็ก ชอบเด็กหรือรักเด็กมากในลักษณะคลั่งไคล้เกินขอบเขตปกติ โดยมักจะเกิดอารมณ์เมื่อเห็นภาพเด็ก และเกิดความติดตาตรึงใจ จนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ โดยโรคใคร่เด็กมักพบได้บ่อยในเพศชายที่มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไป แต่ทั้งก็อาจเจอได้ในวัยรุ่นตอนปลายเช่นกัน ทางการแพทย์จึงมีการกำหนดว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 16 ปี ที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กอายุน้อยกว่าอย่างน้อย 5 ปี จะจัดเป็นโรคใคร่เด็ก
ลักษณะของการล่วงละเมิดทางเพศ มีรูปแบบต่างๆดังนี้
การล่วงละเมิดโดยไม่มีการสัมผัส ได้แก่
- เปิดอวัยวะเพศให้เด็กดู
- การให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอโป๊
- การสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเด็ก
- ทำกิจกรรมทางเพศให้เด็กดู
การล่วงละเมิดโดยการสัมผัส
- การสัมผัสกอดจบลูบคลำร่างกายหรืออวัยวะเพศของเด็ก
- การให้เด็กลูบคลำจับต้องอวัยวะเพศของผู้ใหญ่ หรือให้เด็กสำเร็จความใคร่ให้
- สอดใส่อวัยวะเพศ หรือสิ่งของอย่างอื่นทางช่องคลอด หรือ ทวารหนัก หรือ ทางปาก ของเด็ก
การใช้เด็กเพื่อหาผลประโยชน์
- ใช้เด็กในการถ่ายภาพหรือวิดีโอโป๊
- การใช้เด็กค้าประเวณี
หลังจากที่เราทำความรู้จักกันไปบ้างแล้ว เรามาลองดูกันบ้างว่าในทางกฎหมาย เราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร?
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต “โรคใคร่เด็ก” และอาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชผู้ทำความผิดจึงมีความผิดและรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แบ่งออกตามรูปแบบของการกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก
- ไม่มีการสัมผัสร่างกาย เช่น เปลือยกายให้เด็กดูอวัยวะเพศ แอบดูเด็กอาบน้ำ พูดจาลวนลาม ให้เด็กดูภาพ-คลิปลามกเพื่อเร่งเร้าหรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
- สัมผัสร่างกายแต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ เช่น กอด จูบ ลูบคลำอวัยวะเพศเด็กด้วยมือหรือปากให้เด็กจับอวัยวะเพศเพื่อสำเร็จความใคร่
- ล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากกระทำชำเราแล้วจะบังคับ ข่มขู่เด็ก ให้เก็บเป็นความลับและกระทำชำเราซ้ำๆ หรือทำร้ายร่างกายหรือฆ่า
ยูนิเซฟชี้!! ไทยขาดความเชี่ยวชาญการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน
วันที่ 22 เมษายน 2562 องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย องค์กรส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เผยแพร่บทความเรื่อง ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานด้านคุ้มครองเด็กในหลายด้าน เช่น การจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Centre) ในระดับจังหวัดและอำเภอ และจัดตั้งบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัดเพื่อให้การดูแลรักษาและช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางรวมทั้งเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง อีกทั้งยังจัดให้มีบริการสายด่วน 1300 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนทุกปัญหาสังคมรวมทั้งการกระทำรุนแรงต่อเด็ก
แต่ปัญหาของไทยอยู่ที่ ยังขาดบุคลากรที่ดูแลเรื่องนี้ในระดับท้องถิ่น หรือหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระดับที่มีเหตุการณ์รุนแรง หรือล่วงละเมิดเด็กมากที่สุด ปัจจุบัน อัตราส่วนของนักสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยคือราว ๆ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 207 คน หรืออังกฤษซึ่งมี 137 คนต่อประชากร 100,000 คน ในระดับท้องถิ่น คาดว่ามีการขาดแคลนนักสังคมสงเคราะห์ราว 7,000 คน
ซึ่งการขาดแคลนนักวิชาชีพเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองเด็กที่มีประสิทธิภาพ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้เด็กต้องถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนจะเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสม หรือไม่ก็อาจตกหล่นในกระบวนการส่งต่อ
อ่านต่อ >>สอนเด็กให้รู้จักภัยใกล้ตัว หากถูกล่วงละเมิด ด้วยนิทาน คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่