ไฟไหม้บ้าน คงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเตรียมพร้อมรับมือ สูญเสียเพียงทรัพย์สิน แต่ชีวิตปลอดภัย มาสอนลูกให้รู้จักเอาตัวรอดกันเถอะ
สอนลูกอย่างไรให้รอดชีวิตจาก ไฟไหม้บ้าน !!
“ป๊อก ๆ ๆ ๆ อากาศแห้งแล้ง ระวังฟืนไฟ ” สัญญาณเตือนไฟไหม้สุดแสนจะคลาสสิคที่คนสมัยก่อนคงเคยได้ยินกันบ้างยามค่ำคืน นับเป็นสัญญาณเตือนไฟไหม้รุ่นบุกเบิก แต่ก็เห็นผลกันได้อย่างดีไม่น้อยทีเดียว แม้ในสมัยปัจจุบันการเตือนภัยไฟไหม้ดังกล่าวจะค่อย ๆ จางหายไป เปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้สัญญาณจับเตือนไฟไหม้ จับควันในตัวอาคารกันแล้ว แต่ความเสียหาย สูญเสียจากเหตุเพลิงไหม้ก็ยังคงไม่ได้น้อยลง ดังคำกล่าวที่ว่า “โจรขึ้นบ้านสิบครั้งไม่เท่า ไฟไหม้บ้านครั้งเดียว”
อัคคีภัย มหัตภัยร้ายที่ไม่เพียงแต่ทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนของเราที่สะสมมาแล้ว ในบางครั้งหากโชคร้ายมากไปกว่านั้น อาจเกิดการสูญเสียชีวิตของคนในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดเป็นแน่ ดังนั้นการป้องกันการเกิดเพลิงไหม้เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้องตระหนัก และให้ความใส่ใจกัน แต่อีกซึ่งหนึ่งที่เราไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง นั่นคือ การเตรียมพร้อม เรียนรู้วิธีที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์เพลิงไหม้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างน้อยเราก็จะสามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ด้วยแล้ว การให้เข้ารู้วิธีในการช่วยเหลือตัวเองเมื่อเกิดไฟไหม้บ้านเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก ลูกจะได้รู้วิธีดูแลตัวเองได้ก่อนที่ความช่วยเหลือจะเข้ามาได้ทัน
การซ้อมหนีไฟ ไม่ใช่แค่โรงเรียนเท่านั้น
การฝึกซ้อมดับเพลิงเป็นส่วนสำคัญของความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งที่ทุกคนต้องทำเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เช่น ต้องเดินไปทางไหนจากห้องเรียนถึงจะถึงบันไดหนีไฟที่ใกล้ที่สุด เสียงกริ่งเตือนไฟไหม้เป็นแบบไหน เป็นต้น แต่ถ้าเกิดไฟไหม้ที่บ้านที่คุณอยู่ล่ะ? ลูกคุณรู้หรือไม่ว่าต้องทำอย่างไร?
การฝึกซ้อมดับเพลิงในบ้าน
นอกจากการพูดคุยเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินเวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว จะเป็นการดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากทุกคนในบ้านได้ร่วมกันฝึกซ้อมเช่นการฝึกซ้อมดับเพลิงที่โรงเรียน การฝึกซ้อมดับเพลิงที่บ้านจะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสที่จะรู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างไรในสถานการณ์จริง ในสถานที่จริง เพราะบ้านแต่ละคนมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป และไม่เหมือนกับที่โรงเรียนด้วย การให้ลูกได้ลองซ้อมหาทางหนีออกมาได้ ในกรณีฉุกเฉินเสียก่อน ก็จะทำให้คุณเห็นได้ว่าทุกคนสามารถออกจากบ้านได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยจริงหรือไม่ ติดขัดที่ส่วนใด และได้ทำการเช็คอุปกรณ์เตือนไฟไหม้ และสิ่งกีดขวางทางหนีไฟไปในตัวว่าพร้อมที่จะรับมือหากเกิดไฟไหม้บ้านขึ้นมาจริง ๆ โดยควรทำการฝึกซ้อมนี้ปีละสองครั้งทุกปี
กฎเกณฑ์ที่ดีในการดูว่าแผนหนีไฟที่วางไว้ใช้ได้หรือไม่ คือ ดูว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่อาศัยในบ้านสามารถออกมาจากบ้านได้อย่างปลอดภัย มายังจุดนัดพบหนอกอาคารบ้านได้ครบทุกคน ภายใน 3 นาทีหรือไม่ และคุณควรเพิ่มความท้าทาย โดยอาจลองใช้การจำลองรูปแบบสถานการณ์ใหม่ ๆ เพื่อดูว่าจะยังคงสามารถหนีออกมาได้ไหม เช่น แกล้งทำเป็นว่าประตูหน้าถูกปิดกั้น และไม่สามารถออกไปทางนั้นได้ เราจะมีแผนสำรองอย่างไร
แผนการหนีไฟของแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกัน เนื่องจากเด็กบางคนอาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว บางคนอาศัยอยู่ในอาคารสูง สมาชิกในบ้านแต่ละครอบครัวก็แตกต่างกัน บางบ้านมีผู้สูงอายุ บางบ้านมีเด็กอ่อน ดังนั้น คุณจะต้องพูดคุยเกี่ยวกับแผนการหลบหนีและเส้นทางหลบหนีของพวกคุณว่าบ้านเรามีแผนอย่างไรที่เหมาะสม โดยมีหลักการคร่าว ๆ ดังนี้ เริ่มกันเลย
ทางออกอยู่ไหน?
แผนการหลบหนีสามารถช่วยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวออกจากบ้านที่ไฟไหม้ได้อย่างปลอดภัย ความคิดที่จะได้รอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ภายนอกอย่างรวดเร็ว และปลอดภัยนั้น ในบางครั้งอาจเป็นเรื่องที่ช้าเกิน ดังนั้นจึงควรเรียนรู้ และจดจำทางเดินต่าง ๆ ในบ้านของคุณ ว่ามีทางออกกี่ทาง? สิ่งใดวางไว้ตำแหน่งไหน? เพราะควันจากกองไฟอาจทำให้ยากที่จะมองเห็นว่าสิ่งของต่าง ๆ อยู่ที่ไหน ทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้จริง ควันไฟอาจทำให้เราหลงในบ้านตัวเองได้หากเราไม่สามารถจำทางได้อย่างขึ้นใจ นอกจากนั้นควันไฟยังอาจทำให้คุณมองหาสมาชิกคนอื่น ๆ ได้ยาก และเป็นการเสียเวลาหากมัวแต่ตามหากันและกัน ทางที่ดีจึงควรรู้สถานการณ์เฉพาะหน้าของตนเอง และพาตัวเองออกจากห้องของคุณให้ได้ และไปเจอกันทุกจุดนัดพบนอกบ้านที่ได้กำหนดไว้ในแผน ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่ดีที่จะให้ครอบครัวของคุณวาดแผนที่แผนการหลบหนี อพยพให้ทุกคนไม่เว้นแม้แต่เด็กได้รับรู้ และลองซ้อมเดิน
ควรกำหนดทางออกเอาไว้หลายทาง เพราะอาจเป็นไปได้ว่าทางออกทางเดียวอาจถูกปิดกั้นด้วยไฟ หรือควัน ดังนั้นคุณควรหาทางสำรองทางอื่นเพิ่มด้วยว่าอยู่ที่ไหน และหากคุณอาศัยอยู่ในอาคารอพาร์ตเมนต์คุณจะต้องการทราบวิธีที่ดีที่สุดในการขึ้นบันได หรือทางออกฉุกเฉินอื่น ๆ
ระมัดระวัง และรอบคอบ คือสิ่งจำเป็น
สอนลูก และสมาชิกทุกคนไว้ว่า การมีสติ ไม่ตื่นตระหนก ระมัดระวัง และรอบคอบ คือสิ่งสำคัญในการเผชิญหน้ากับไฟ โดยเมื่อเกิดไฟไหม้บ้าน ควรทำตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
- จดจำ และนำแผนที่แผนการการหนีไฟที่ได้วางไว้มาใช้
- รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ โดยอาจมีการวางหน้าที่ กำหนดคนไว้แต่แรก และควรเลือกคนที่มีอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศํพท์ สมาร์ทโฟน ใกล้ตัว และให้สมาชิกทุกคนจดจำเบอร์โทรฉุกเฉินให้ได้ขึ้นใจ เผื่อจำเป็นก็สามารถแจ้งเหตุร้ายได้ทุกคน
- หากอยู่ในห้องที่ประตูปิด เมื่อเกิดเพลิงไหม้ และไฟฟ้าดับคุณต้องเพิ่มความรอบคอบ และระมัดระวังเพิ่มเติมบางขั้นตอนขึ้นอีกสักหน่อย
- ตรวจดูว่ามีความร้อนหรือควันเข้ามาที่รอยแตกรอบ ๆ ประตูหรือไม่ เพื่อเป็นการตรวจสอบดูว่ากำลังมีไฟอีกด้านหนึ่งของประตูหรือไม่
- หากเห็นควันไฟใต้ประตู – อย่าเปิดประตู!
- หากไม่เห็นควันให้แตะประตู หากประตูร้อน หรืออุ่นมาก อย่าเปิดประตู!
- หากไม่เห็นควัน และประตูไม่ร้อน ให้ลองใช้นิ้วแตะลูกบิดประตูเบา ๆ ก่อน อย่าจับลูกบิดประตูด้วยมือเปล่าเป็นอันขาด เพราะว่า ความร้อนระอุของมันจะทำให้มือของคุณพองไหม้ได้ทันที ดังนั้น จงใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำ และหุ้มมือก่อนจะเปิด หรือปิด หรือถ้าขณะนั้นคุณใส่รองเท้า จงใช้เท้าถีบอย่างแรงเพื่อเปิดประตูก็น่าจะดีกว่า และที่สำคัญหากลูกบิดร้อน อย่าเปิดประตู!
เพราะหากเปิดประตูที่ร้อนที่สงสัยว่าอาจมีไฟลุกโชนอยู่ด้านหลังประตู ไม่ควรเสี่ยงเปิดประตูโดยทันที เพราะเพลิงอาจโหมออกมาจากห้องอย่างทันที ทันใด และอาจกลายเป็นเจ้าชาย ที่โดนมังกรยักษ์พ่นไฟ จนตัวไหม้เกรียม! วิธีที่ถูกต้องก็คือ เปิดประตูโดยใช้ผ้าชุบน้ำที่แนะนำไว้แล้วข้างต้น โดยให้ยืนอยู่หลังประตู แล้วค่อยๆแง้มประตูเข้าหาตัว เป็นการใช้ประตูบังตัวเรา จากไฟที่อาจพุ่งโพล่งออกมา
สอนวิธีรับมือจากควัน และไฟแก่ลูก
- คลานอยู่ในระดับต่ำ สอนลูกว่าอย่าวิ่งฝ่าควันไฟ จริงอยู่ยามตกใจทุกคนคงทำไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการมีสติจึงสำคัญ 80% ของผู้ที่เสียชีวิตในกองเพลิงนั้นเกิดจากการขาดอากาศหายใจ และสำลักควัน เนื่องจากควันอันโขมงนั้น ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไอร้อน ที่จะลอยตัวอยู่ด้านบน ทำให้อากาศในระดับต่ำ ใกล้พื้นจะยังพอมีออกซิเจน ทำให้สูดควันเข้าไปได้น้อยกว่าเมื่อเราคลานอยู่ใกล้พื้น
- บอกลูกว่าอย่าซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงหรือในตู้เสื้อผ้า เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพบได้ยาก
-
สอนลูกว่า ห้ามวิ่ง! หากมีไฟติดตามตัว ตามเสื้อผ้า มิฉะนั้นไฟจะยิ่งลามตามแรงวิ่ง และแรงลม วิธีที่ถูกต้องก็คือให้หยุดทิ้งตัวลงที่พื้นใช้มือปิดหน้าแล้วม้วน วิธีนี้จะตัดอากาศและดับเปลวไฟ วิธีง่ายๆในการจำสิ่งนี้คือ หยุดวางและม้วน!
- ไฟฉายควรมีติดห้องเป็นสมบัติประจำตัวของทุกคน อันตรายเหลือเกินหากเราลุยฝ่าควันไฟในความมืด การมีไฟฉายก็เป็นตัวช่วยอย่างดีให้เรามองเห็นทางเวลาที่เจ้าหน้าที่ตัดไฟฟ้าลงยามไฟไหม้
-
หากต้องติดอยู่ในห้อง ก่อนที่ไฟจะลามเข้ามา สิ่งที่ต้องป้องกันไว้ก่อนก็คือควัน ควันไฟจะทะลักเข้ามาในห้อง จนเป็นภัยถึงแก่ชีวิตได้ดังนั้นจึงควรรีบหาทางป้องกัน หรือบรรเทาซะก่อน โดยการเอาผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หรือผ้าเช็ดตัวชุบน้ำให้เปียก แล้วอุดตามขอบประตู และตามช่องต่าง ๆ ในห้องเพื่อชะลอควันไฟ
ป้องกันก่อนเกิดไฟไหม้บ้านคือสิ่งที่ดีที่สุด
การป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่แรก เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความสูญเสียจากเพลิงไหม้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกไม่ให้เล่นกับไม้ขีดไฟ ไฟแช็ค และแหล่งอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดไฟ ควรให้เด็กอยู่ห่างจากเตาไฟ เทียน หรือสอนวิธีใช้แก่ลูกให้ใช้ด้วยความระมัดระวังมากที่สุด และควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิด
เราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ร้ายจะเกิดขึ้นในชีวิตเราเมื่อไหร่ หนทางที่ดีที่สุดในการลดโอกาสการสูญเสีย ซึ่งการสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุดคงเป็นเรื่องของชีวิตบุคคลอันเป็นที่รัก หนทางนั้นคือ การเตรียมพร้อมไม่ประมาท การรู้จักวิธีรับมือหากเหตุร้ายต่าง ๆ จะเข้ามาเยือนเรา แม้ว่าเราจะระมัดระวังอย่างดีที่สุดแล้ว การสอนเด็กในเรื่องการรับมือกับเหตุร้าย อย่างเช่น ไฟไหม้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว หากเขาสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่ความช่วยเหลือจะมาถึงก็เป็นการช่วยลดโอกาสการสูญเสียได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้เขาตระหนักถึงอันตรายของไฟ ในช่วงเวลาที่เขาได้ซ้อมหนีไฟ ทำให้รู้จักคิดยับยั้งชั่งใจเวลาอยากเล่นซุกซนอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี / kidshealth.org
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
[เคล็ดลับดูแลบ้าน] 10 ข้อเตือนใจ ป้องกันไฟไหม้บ้าน (และสถานที่ที่มีเด็กอยู่)
4 ข้อควรคำนึง เล่นกับลูก ให้สนุก-ปลอดภัย ช่วยลูกมีพัฒนาการที่ดีได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่