10 วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ พ่อแม่ต้องรู้ไว้เอาไปสอนลูก
จากเหตุการณ์ ไฟไหม้ผับชลบุรี MountainB เมาท์เทนบี เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ส่งผลให้มีนักเที่ยวเสียชีวิตมากกว่า 13 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก บางรายวิ่งออกมาจากผับทั้ง ๆ ที่ยังมีไฟลุกตามตัว หลายคนวิ่งออกมาโดยทั้งที่ยังมีไฟไหม้ตามร่างกาย น่ากลัวมากทีเดียว เราไม่รู้เลยค่ะว่า เหตุการณ์ไฟไหม้จะเกิดกับเราไหม จะเกิดเมื่อไหร่ เกิดแล้วควรทำอย่างไร ทีมบรรณาธิการ ABK ขอแนะนำ วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ ให้คุณพ่อคุณไว้เป็นข้อมูล สำหรับไปสอนลูก เพื่อเป็นความรู้และแนวทางเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดดิดค่ะ
ควรปฏิบัติอย่างไรก่อนเกิดเหตุไฟไหม้
ไม่ว่าจะเข้าพักที่ใดก็ตาม ทั้งการเช่าอยู่ห้องพักระยะยาว และระยะสั้น ควรสังเกตทางหนีไฟ และจดจำตำแหน่งเอาไว้อย่างแม่นยำ เพื่อที่เวลาเกิดเหตุ จะได้พาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุได้ทันเวลา เพราะที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ประสบภัยหลายรายไม่ได้จดจำทางหนีไฟเอาไว้ ทำให้เมื่อเกิดเหตุไม่สามารถหลบหนีได้ทันเวลา
10 วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้
แนวทางและหลักปฎิบัติ 10 วิธีเอาตัวรอด มีดังนี้
1. หากเพลิงไหม้เกิดขึ้นภายในห้อง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก
2. ดึง หรือกดสัญญานแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่กล่องแดงข้างผนังทางเดินทันทีที่พบเหตุเพลิงไหม้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
3. หากเพลิงไหม้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น พยายามดับเพลิงโดยการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารให้ได้ภายใน 2 นาที โดยเริ่มจากดึงสลักนิรภัย ออกจากคันบีบบริเวณหัวถังดับเพลิง โดยหมุนสลักจนตัวยึดขาด และดึงสลักทิ้ง ปลดสายฉีดออกจากตัวถังดับเพลิง โดยดึงจากปลายสาย และใช้มือจับสายให้มั่นคง จากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ กดคันบีบด้านบนของถังดับเพลิง เพื่อให้น้ำยาดับเพลิงพุ่งออกจากหัวฉีดไปยังต้นเพลิง ส่ายหัวฉีดของถังดับเพลิงให้ทั่วบริเวณต้นเพลิงค่ะ อย่ามัวแต่รอความช่วยเหลือจากพนักงานดับเพลิง
4. หากไม่สามารถดับเพลิงไหม้ได้ ให้ออกจากห้อง และปิดประตูให้สนิทเพื่อชะลอการลุกลามของเพลิงไหม้ จากนั้นรีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด
5. แต่หากต้นเพลิงเกิดจากส่วนอื่นของอาคาร เมื่อทราบว่ามีเหตุเพลิงไหม้ ให้ตั้งสติ มองหาอุปกรณ์ส่องสว่าง ที่จะช่วยให้สามารถออกจากอาคารในความมืดได้ เช่น ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือ
6. หาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และเพื่อป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ
7. ก่อนเปิดประตูให้แตะ หรือคลำลูกบิด หากร้อนจัดแสดงว่ามีเปลวเพลิงอยู่ด้านนอก อย่าตื่นตระหนกเปิดประตูทันทีเพราะจะถูกเปลวไฟพุ่งเข้าหาตัวได
8. ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด เพราะหากติดอยู่ในลิฟต์ มีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตจากควันไฟ ให้ใช้บันไดหนีไฟ
9. หากติดอยู่ในกลุ่มควันไฟ ให้ก้มตัวลงต่ำ และคลานไปกับพื้น เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ ควันไฟเป็นเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเปลวไฟถึง 3 เท่าตัว
10. กรณีที่ไม่สามารถออกจากห้องได้ เนื่องจากมีเปลวไฟอยู่บริเวณภายนอกห้อง ให้อยู่ภายในห้องพัก และปิดประตู ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู และให้ขอความช่วยเหลือที่หน้าต่างหรือระเบียง
การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุการณ์จากสถานการณ์ไฟไหม้
นอกจากวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดไฟไหม้แล้ว วิธีปฐมพยาบาลผู้ประสบเหตุไฟไหม้ก็เป็นอีกเรื่อง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบไว้เช่นกัน อ. นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำไว้ ต้องทำอย่างไรบ้างมาดูกันค่ะ
- หากอยู่ในสถานการณ์คับขันให้รีบพาผู้ประสบภัยออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
- หากเพลิงไหม้สงบลงแล้ว การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ควรดูแลเรื่องกระดูกต้นคอเป็นหลัก โดยการขนย้ายด้วยเปลหรือเบาะ อย่าหิ้วแขน หรือยกศีรษะห้อยลงในขณะเคลื่อนย้าย เพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อนได้
- กรณีที่ผู้ประสบภัยถูกไฟครอกจนเสียหายรุนแรง หลังช่วยเหลือออกจากที่เกิดเหตุได้แล้ว ให้รีบถอดหรือตัดเสื้อผ้าออกจากร่างกายผู้ประสบภัย เพราะเสื้อผ้าจะอมความร้อนเอาไว้มาก แต่อย่าใช้วิธีกระชาก เพราะเนื้อผ้าบางส่วนอาจติดที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกมาด้วย
- ถอดเครื่องประดับ เช่น นาฬิกาข้อมือ กำไล ต่างหู ออกจากตัวผู้ประสบภัย เพราะของเหล่านี้อมความร้อนจะทำให้เกิดการพอง
- ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ รดตัวผู้ประสบภัย เพื่อลดความร้อนให้กับร่างกาย
- ใช้ผ้าชุบน้ำห่มตัวผู้ประสบภัยไว้ก่อน แล้วนำผ้าบางคลุมอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
- หากที่เกิดเหตุ และโรงพยาบาลอยู่ไกล ให้ผู้ประสบภัยดื่มน้ำก่อน เพราะผู้ประสบภัยมักจะมีภาวะขาดน้ำ แต่ถ้าโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุมากนัก ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- รีบเปิดทางเดินหายใจให้ผู้ประสบภัยหลังนำตัวออกมาจากที่เกิดเหตุ
วิธีป้องกันการเกิดเหตุไฟไหม้
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบ้าน มีข้อควรปฏิบัติดังนี้ค่ะ
- ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน และสายไฟ ว่ามีการชำรุดหรือไม่
- เลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- ถอดปลั๊กออกทุกครั้งหลังจากที่ใช้งานเสร็จ
- ตรวจเช็คเตา และก๊าซหุงต้ม ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ และควรปิดวาลว์ทุกครั้งหลังจากที่ใช้งานเสร็จ
- เก็บวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงให้ห่างจากความร้อน
ขอบคุณข้อมูลจาก
workpoint today, Rama Channel,คมชัดลึก, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก