นอกจากโรคติดต่ออย่างไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ล่าสุดมีผลวิจัยของเกาหลีที่กำลังจะตีพิมพ์ในปี 2559 เผยถึงอาการติดโทรศัพท์มือถือของเด็กเกาหลีใต้ ว่ากันว่าคนเอเชียกำลังติดกันมากและผู้เป็นโรคนี้ก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ นักจิตวิทยาเรียกอาการของโรคนี้ว่า “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia)
โนโมโฟเบีย คือความหวาดกลัวว่าตัวเองจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือ จากการสำรวจนักเรียนเกาหลีใต้เกือบ 1,000 คน พบว่าเด็กๆ ใช้มือถือกันตั้งแต่อายุ 11-12 ปี ใช้เวลาอยู่กับมัน 5.4 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่าเด็กเกาหลีใต้ถึง 25 % เข้าข่ายเสพติดมือถือเสียแล้ว
- ในเอเชียมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือราว 2,500 ล้านคน
- มีอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากการไม่ระวังขณะใช้โทรศัพท์มือถือเกิดขึ้นมาก เช่น ตกท่าเรือ ตกรถเมล์
ในสิงคโปร์ ที่มียอดประชากรเสพติดเทคโนโลยีมากถึงขึ้นต้องมีคลินิกบำบัดอาการติดเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกตัวอย่างเช่น คุณครูในโรงเรียนบางแห่งสั่งการบ้านผ่าน WhatsApp ทำให้เด็กๆ ก็ต้องพลอยมีโทรศัพท์มือถือไปด้วย
ในขณะที่จีนเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ระบุว่าโรคเสพติดอินเตอร์เน็ตถือเป็นโรคทางคลินิก ได้มีคลินิกเพื่อบำบัดโรคเสพติดสื่อออนไลน์ใหม่ๆ โดยมีจิตแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด
นายโทมัส ลี จิตแพทย์ที่ปรึกษา ได้กล่าวว่า ประเทศอื่นๆ ในเอเชียควรจะจัดให้โรคติดโทรศัพท์มือถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับการติดการพนันหรือเสพติดเซ็กส์ เพราะผู้เสพติดแล้วเมื่อพยายามเลิกจะมีอาการลงแดงเหมือนกัน เช่น กระสับกระส่าย นั่งไม่ติดที่ วิตกจริต โกรธ โมโห
ลองมาตรวจสอบตัวเองกันว่าคุณเข้าข่ายมีอาการติดโทรศัพท์มือถือหรือยัง?
– กดมือถือเช็คโน่นเช็คนี่โดยไม่มีเหตุผล
– รู้สึกกระวนกระวาย นั่งไม่ติด เพียงแค่คิดว่าไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้
– เลี่ยงการไปสังสรรค์กับผู้อื่น เพียงเพื่อจะได้ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือ
– ตื่นขึ้นมาตอนดึก ๆ และมากดโทรศัพท์มือถือดู
– ผลการเรียนหรือการทำงานแย่ลง เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์มือถือ
– วอกแวกได้ง่าย ๆ เพียงแค่เห็นอีเมล์หรือข้อความจากแอปพลิเคชัน
เรียบเรียงข้อมูลจาก https://www.facebook.com/BBCThai
ภาพ : Shutterstock