Q : จากข่าวคดีเด็ก 4 ขวบที่ถูกลักพาตัวไปตั้งแต่แรกเกิด ปัจจุบันคุณแม่ตัวจริงตามหาเจอและอยากรับกลับไปเลี้ยง แต่ติดตรงที่ว่าเด็กคนนี้เกิดความผูกพันกับบ้านที่ลักพาตัวไปแล้ว กรณีนี้ควรทำอย่างไร เมื่อลูกถูกลักพาตัว นานจนไม่ผูกพันผู้ให้กำเนิด เพื่อไม่ได้เด็กได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และเรื่องนี้สามารถเป็นอุทาหรณ์ให้กับครอบครัวอื่นๆ อย่างไรได้บ้าง เช่น พ่อแม่ฝากลูกให้ตายายเลี้ยง แต่ไม่ค่อยมาหาลูก แต่วันหนึ่งจะรับลูกกลับไปเลี้ยงเอง เป็นต้น
“สำหรับเด็กที่ถูกลักพาตัวไป การส่งคืนเขาให้แก่ครอบครัวเดิมโดยไม่เตรียมตัวให้ดีอาจจะเท่ากับการลักพาตัวครั้งที่สอง” เขียนไว้ในเอกสาร The Crime of Family Abduction: A Child’s and Parent’s Perspective เผยแพร่โดยกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา
อย่าลืมว่านับจากวันที่เด็กถูกลักพาและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีโดยพ่อแม่ใหม่เป็นเวลาหลายปี เด็กได้ปรับตัวเข้ากับพ่อแม่ใหม่รวมทั้งญาติพี่น้องและโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว เขาอาจจะลืมหรือไม่ลืมพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด แต่เขาไม่ผูกพันเพราะความผูกพันนั้นสร้างขึ้นจากการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเป็นวันเวลาที่สำคัญที่สุด ด้านพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ส่วนใหญ่แล้วจะจำลูกได้ในวันที่เขาหายไปหรือก่อนหน้านั้น หากเด็กหายไปตั้งแต่แรกเกิดพ่อแม่จำลูกได้ในสภาพของทารก การเข้าหาเด็ก “อีกคน” หนึ่งที่โตแล้วจะส่งผลให้พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดทำตัวไม่ถูกและทำให้เด็กหวั่นวิตกได้
กระบวนการเข้าหาเด็กในวันที่ 1 ไม่ควรครึกโครม ห้ามเด็ดขาดคือการเข้าจับกุมพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูต่อหน้าเด็ก ที่ควรทำคือมีนักจิตวิทยาเข้าประเมินเด็ก ให้โอกาสเด็กปรับตัวกับข่าวที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงรอบตัว หากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูถูกจับกุมคุมขัง เด็กมีสิทธิเลือกอยู่ในสถานที่ที่เขาคุ้นเคย และเลือกอยู่กับคนที่เขาคิดว่าปลอดภัยก่อนไปถึงขั้นตอนแนะนำพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดแก่เขา เด็กที่ถูกลักพาหลายคนเขียนบันทึกว่า เขาเสียใจและโกรธแค้นที่พ่อแม่ (คนที่เลี้ยงดูเขามา) ถูกจับกุม และใส่กุญแจมือ อย่าลืมว่าในความเป็นจริงเด็กที่ถูกลักพาได้รับข้อมูลจากพ่อแม่ที่เลี้ยงดูใหม่ทั้งหมดมาหลายปีแล้ว ในหลายกรณีเด็กรับรู้ว่าพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าเป็นคนไม่ดี
ภาพภายนอกอาจจะมีหลายคนดีใจ แต่สำหรับเด็ก นี่เป็นปรากฏการณ์ Separation ครั้งที่สองซึ่งจะสร้างความบาดเจ็บและบาดแผลในใจอย่างมากอันจะส่งผลต่ออนาคต กระบวนการ Separation หมายถึงกลไกทางจิตที่เด็กจะแยกตัวเป็นบุคคลอิสระจากพ่อแม่ที่เขาสร้าง attachment หรือสายสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว กระบวนการนี้ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายคือพ่อแม่ การสร้างสายสัมพันธ์กับเป้าหมายคือพ่อแม่ ก่อนที่จะแยกตัวตนคือ self ของตนเองออกมาเป็นปัจเจกบุคคลคือ individual อีกคนหนึ่ง กระบวนการนี้หากกระทำด้วยความไม่เหมาะสม เราเรียกว่า “การพลัดพราก” หากกระทำอย่างเหมาะสม มีการเตรียมพร้อม และเด็กมีความพร้อม เราเรียกว่า “การแยกตัว” ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกัน
การพลัดพรากครั้งนี้จะเป็นการพลัดพรากครั้งที่สองในชีวิตซึ่งมักจะรุนแรงกว่าครั้งที่ 1 เด็กจะรู้สึกกลัว โกรธ อับอาย สับสน รู้สึกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อไป รู้สึกสูญเสียคือ Loss คำว่า Loss ในที่นี้มิใช่การทำของหาย แต่เป็นการทำจิตใจบางส่วนหายไปเลย