“ยุคนี้วัยรุ่นพกมือถือ ก็เพื่อความเก๋เท่ อวดประชันขันแข่งกัน แถมชอบเม้าท์แตกกันจนเกินจำเป็น จนมือถือกลายเป็นสิ่งเสพติด เหมือนวัยรุ่นในยุคหนึ่งที่เสพติดบุหรี่จนงอมแงม”
คลื่นโทรศัพท์มือถือเป็นคลื่นวิทยุ (radiofrequency) จัดเป็นคลื่นประเภทไม่ทำให้อิเลคตรอนแตกตัว (non-inonizing) คลื่นนี้อาจสัมผัสร่างกายได้สองทางคือการใช้โดยตรงของผู้ใช้ โดยเอาโทรศัพท์มาแนบหูไว้ หรือสัมผัสจากคลื่นวิทยุที่อยู่ทั่วไปในอากาศ
ส่วนในด้านความเสี่ยงที่จะทำอันตรายต่อสุขภาพนั้น…นับวันแต่จะหนาหูขึ้นทุกวัน ในบางการศึกษากับสัตว์ทดลองพบว่าคลื่นโทรศัพท์มือถือ สามารถทำอันตรายแก่ DNA และเซลล์ ของสิ่งมีชีวิต โดยทำให้เกิดการเสียหายอย่างถาวรได้ ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นโทรศัพท์มือถือกับการเกิดมะเร็งสมองหรือไม่ ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดเจน
ในประเทศอังกฤษ ปี 1997 และ ประเทศออสเตรเลีย ปี 1996 มีรายงานว่าผู้อยู่ใกล้สถานีส่งคลื่นวิทยุทั้งจากสถานีวิทยุ โทรศัพท์ หรือทีวี มีอุบัติการณ์ของมะเร็งเม็ดเลือดสูงกว่าผู้อยู่ไกลออกไป อย่างไรก็ตามมีนักวิจัยที่ทำการศึกษาตามหลังในกลุ่มประชากรเดียวกันและคัดค้านผลการศึกษาของทั้งสองคน
การศึกษาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เวลากว่า 7 ปีศึกษาเรื่องของคลื่น รังสีที่แผ่ออกมาจากโทรศัพท์มือถือ ก็พบว่า อันตรายของคลื่นจากมือถือมันมาจากการสะสมอันตราย นั่นคือการใช้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งการคุยจ้อครั้งละนานๆ ความเสี่ยงของมันคือ อาจเป็นโรคเนื้องอกในสมอง การศึกษาในผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วไปของ Hardell และ Lo¨nn (2004) พบความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของสมองส่วนข้าง (temporal lobe) และประสาทหู (acoustic nerve) ในผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนานกว่า 10 ปี และยังพบว่าเกิดในข้างที่มักเอาโทรศัพท์แนบหูมากกว่าอีกข้าง จริงๆแล้วในสถาบัน Lune University Hospital ประเทศสวีเดน เขามีการศึกษามาตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ซึ่งพบ ว่าคลื่นมือถือ มีโอกาสทำให้คนเราเป็นโรคอัลไซเมอร์ (ความจำเสื่อม) ได้ ตั้งแต่วัยรุ่น และ วัยเด็ก!
รายงานในประเทศออสเตรเลีย มีประเด็นที่น่าสนใจมาก นั่นคือ… ธรรมชาติของเด็กจะไวต่อการกระตุ้นจากสารเคมีต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้น เด็กจะดูดซับรังสีไมโครเวฟในอัตราที่สูงกว่าผู้ใหญ่ถึง 3 เท่า! ที่ประเทศอังกฤษนั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระก็มีความเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการป้องกันรังสีวิทยา(อังกฤษ) ว่า…เด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบไม่ควรใช้มือถือ เนื่องจากระบบประสาทยังพัฒนาไม่เต็มที่
ที่มา จากคอลัมน์ Kids’ Safety นิตยสารเรียลพาเรนติ้งฉบับเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2554
เรื่อง : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ภาพ : shutterstock