เด็กจมน้ำ ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามเด็ก ๆ สามารถเกิดได้ทั้งที่บ้านและนอกบ้าน หากมีเด็กจมน้ำ กรมควบคุมโรค เตือนว่า ห้าม ช่วยเด็กจมน้ำ ด้วยวิธีด้วยวิธีอุ้มพาดบ่า
สถิติเด็กจมน้ำ
จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2564) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 7,374 ราย เฉลี่ยปีละ 737 ราย หรือวันละ 2 ราย โดยเฉพาะปี 2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จมน้ำเสียชีวิต ถึง 219 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.3 ของการจมน้ำเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และเป็นกลุ่มเด็กที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำต่อประชากรเด็กแสนคนสูงที่สุด เท่ากับร้อยละ 6.9
นอกจากนี้ จากข้อมูลระบบรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ที่ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำของเด็ก ในปี 2564 จำนวน 232 เหตุการณ์ พบว่าขณะเด็กจมน้ำ เด็กอยู่กับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถึง ร้อยละ 35.9 ซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนั้นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กกำลังประกอบอาชีพ (ร้อยละ 50) และหลังจากช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วมีการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ผิดวิธีด้วยการอุ้มพาดบ่ามากถึงร้อยละ 27.6
เตือน! ช่วยเด็กจมน้ำ อย่าอุ้มพาดบ่า พร้อมแนะวิธีที่ถูกต้อง
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการ ช่วยเด็กจมน้ำ ด้วยวิธีด้วยการอุ้มพาดบ่า ว่า เป็นวิธีที่ผิด เมื่อช่วยเด็กจมน้ำขึ้นมาแล้ว อย่าพยายามเอาน้ำออกจากท้อง โดยการอุ้มพาดบ่าแล้วกระแทก หรือกดท้อง เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียเนื่องจากเด็กจะอาเจียนและอาจสำลักน้ำ มีผลทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น
วิธี ช่วยเด็กจมน้ำ ให้ขึ้นจากน้ำ
สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือเด็กจมน้ำให้ปฏิบัติ ดังนี้
- ยื่น ยื่นอุปกรณ์ให้ลูกจับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วง หรือไม้ตะขอ ใช้ในกรณีที่ระยะห่างระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกอยู่ไม่ไกลกันนัก
- โยน โยนอุปกรณ์ให้ลูกยึดเกาะได้ เช่น อุปกรณ์อย่างห่วงยาง ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ วิธีนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถยืนอยู่บนฝั่งหรือน้ำตื้นได้ ลดความเสี่ยงตกน้ำไปด้วย จะมีความปลอดภัยต่อคุณพ่อคุณแม่ด้วย
- พาย การใช้เรือหรือพาหนะออกไปช่วยเหลือเด็กตกน้ำ พาหนะที่ใช้นั้นควรมีขนาดใหญ่พอสมควร ลอยน้ำได้ ไม่ชำรุด ซึ่งและควรจะนำอุปกรณ์ประเภทยื่นหรือใช้โยนติดตัวไปด้วย เมื่อเข้าใกล้เด็กแล้ว จะได้ส่งอุปกรณ์เหล่านี้ไปช่วยเหลือได้ทัน ลดความเสี่ยงจะตกน้ำไปด้วย
- ลากพา หากจำเป็นต้องลุยน้ำออกไปช่วย จึงจะใช้วิธีลากพาเอาลูกกลับมาขึ้นฝั่ง โดยควรคำนึงถึงระดับน้ำ ความรุนแรงของน้ำ สถานที่ ปัจจัยแวดล้อม เช่น ต้องไม่ใช่แม่น้ำที่ลึกมาก กระแสน้ำแรง หรือคลื่นทะเลที่รุนแรงเกินไป และคุณพ่อคุณแม่ก็ควรต้องนำอุปกรณ์ช่วยเหลือติดตัวไปด้วย เช่น เชือก ห่วงยาง โฟม หรือใส่เสื้อชูชีพ เพื่อจะโยนให้ลูกยึดเกาะ จากนั้นเราจึงลากลูกเข้าฝั่ง
ควรจะทิ้งระยะห่างระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับเด็กตกน้ำประมาณ 2-3 เมตร เพราะเด็กที่ตกน้ำอาจตื่นตระหนก เกาะตัวคุณพ่อคุณแม่ไว้แน่น ซึ่งอาจพากันจมน้ำ ยกเว้นเด็กมีสติ ไม่ตื่นตระหนก สามารถว่ายน้ำได้บ้าง ก็สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ และลากพาเขาขึ้นมาที่ฝั่งได้ด้วยการดึงคอเสื้อ เกี่ยวคอ หรือดึงรักแร้ข้างเดียว เป็นต้น
วิธีปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ
- โทรศัพท์แจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ ที่หมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด
- จับลูกบนพื้นราบ แห้ง และแข็ง พร้อมตรวจดูว่าลูกรู้สึกตัวหรือไม่ หากรู้สึกตัวให้เช็ดตัวให้แห้ง ห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และนำส่งโรงพยาบาล
- หากไม่รู้สึกตัว ให้ช่วยหายใจ โดยการทำ cpr ปั๊มหัวใจโดยเริ่มกดตรงจุดตัดหัวนมกลางหน้าอก 30 ครั้ง ด้วยความเร็ว 100 – 120 ครั้ง/นาที และลึกประมาณ 5 เซนติเมตร หรือกดให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง โดยการเชยคางขึ้น บีบจมูก กดหน้าผาก และเอาปากประกบปากให้สนิท ตาดูที่หน้าอกว่าขยายหรือไม่ ถ้าเห็นอกไม่ขยาย ให้ปล่อยมือที่บีบจมูกไว้ จากนั้นเป่าลมเข้าไปใหม่ ทำซ้ำประมาณ 20 ครั้งต่อ 1 นาที ทำสลับกันไปจนกว่าลูกจะรู้สึกตัวและหายใจได้เอง หรือจนกว่ารถทีมแพทย์กู้ชีพจะมาถึง และนำส่งโรงพยาบาลทันที
วิดีโอวิธีการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ
ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้จัดทำวิดีโอเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กจมน้ำเบื้องต้นไว้ สามารถดูและปฏิบัติตามได้หากเจอเหตุไม่คาดฝันค่ะ
เด็กจมน้ำนับว่าเป็นภัยเงียบที่มีความรุนแรงและมีแนวโน้มเกิดได้ง่ายนะคะ หากุณพ่อคุณแม่พลาดสายตาจากลูกเพียงเสี้ยววินาที ลูกอาจจมน้ำได้ และก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพร้อมเรียนรู้วิธีช่วยลูกเมื่อจมน้ำ รวมทั้งศึกษาวิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกจมน้ำไว้ด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
พาลูกเรียนว่ายน้ำที่ไหนดี 10 โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็ก ฝึกทักษะเอาตัวรอด ป้องกันลูกจมน้ำ