คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านชอบจับลูก อุ้มโยนเขย่าดึงแขน ขึ้นสูงๆ แกว่งไปมาบ้าง โยกบ้าง เห็นลูกน้อยหัวเราะชอบใจก็คิดว่าชอบ แต่จริงๆ แล้วการกระทำเหล่านี้เป็นอันตรายต่อลูกน้อย คุณพ่อ คุณแม่อาจจะยังไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจทำให้ลูกบาดเจ็บขั้นรุนแรงได้
“เธอช่วยทำยังก็ได้ให้ลูกมันเงียบเสียงซะทีเถอะ”
คุณพ่อบ้านผู้กำลังคร่ำเคร่งกับกองงานตรงหน้า บ่นอย่างหงุดหงิด หลังจากทนฟังเสียงลูกน้อยวัยแบเบาะร้องไห้ลั่นแบบไม่รู้จักหยุด
“เงียบ…เงียบได้แล้ว แหกปากอยู่ได้ บอกให้…เงียบๆๆๆ”
คุณแม่ตะเบ็งเสียงอย่างสุดกลั้น พร้อมสองมือยกลูกสาวตัวน้อยลอยเหนือเบาะรองนอน และแล้วหล่อนก็เขย่าลูกอย่างสุดแรง!!! สิ่งที่ตามมาก็คือ ลูกสาวเงียบเสียงลงโดยพลัน! คุณแม่ จึงหันกลับไปทำงานบ้านต่อ คุณพ่อก้มหน้าพิมพ์งานต่อ สามชั่วโมงก็แล้ว สี่ชั่วโมงก็แล้ว ลูกน้อยก็ยังคงนอนนิ่ง ไม่ร้อง ไม่หิว
“หรือว่าเราจะเขย่าตัวลูกแรงเกินไป” คุณแม่เริ่มวิตก “แต่ไม่นะ ลูกคงร้องจนเพลียเลยหลับยาว”
เธอปลอบใจตัวเองเพื่อลดความรู้สึกผิด ส่วนคนเป็นพ่อก็ยังวุ่นอยู่กับงานที่กองสุมดั่งไม่รับรู้ใดๆ ในบ้าน
กระทั่งต้องอุ้มลูกไปโรงพยาบาล หลังจากที่คุณแม่หน้าซีดเผือดมาบอกว่า ลูกรักนอนแน่นิ่งไปกว่าหกชั่วโมงแล้ว! ทางโรงพยาบาลพบว่าเด็กมีอาการซึม ไม่สนองตอบต่อเสียง สนองตอบเล็กน้อยต่อความเจ็บ หายใจแค่สิบสี่ครั้งต่อนาที แถมชีพจรเต้นช้าเพียงหกสิบครั้งต่อนาที
คุณหมอช่วยให้ออกซิเจนผ่านทางหน้ากากและถุงลม แต่เด็กอาการไม่ดีขึ้น จึงใส่ท่อเพื่อช่วยการหายใจ คุณหมอตรวจตาพบว่าที่จอรับภาพนั้นมีเลือดออก เมื่อตรวจสมองด้วยเครื่อง MRI ก็พบว่า มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง รวมทั้งระหว่างรอยแบ่งแยกของสมอง
นี่คือสิ่งที่น่าตกใจ และน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ อีกเพียงสามวันถัดมา….ลูกน้อยเสียชีวิต สาเหตุเนื่องจากเด็กถูกจับตัว และเขย่าอย่างรุนแรงจนเลือดออกในสมอง
ภาพกรณีตัวอย่างจาก bushywood.com เมื่อลูกน้อยถูกพ่อแม่อุ้มโยน เขย่าจนเป็น Shaken baby Syndrome
คลิปกรณีตัวอย่างเมื่อลูกน้อยร้องงอแง แล้วคุณพ่อจับตัวลูกมาเขย่า
Shaken Baby Syndrome คืออะไร?
โอกาสที่เกิดขึ้นโดยส่วนมาก จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ซึ่งพบบ่อยในช่วงวัย 3 – 8 เดือน เกิดจากการเขย่าเด็กไปมาอย่างรุนแรง จนกระทบกระเทือนทางสมอง อาจทำให้ตาบอด เป็นอัมพาต ชักกระตุก ไปจนถึงเสียชีวิตได้
เด็กที่ตกอยู่ในภาวะ Shaken Baby Syndrome จำนวน 1 ใน 3 คน มักจะเสียชีวิต ที่เหลือรอดก็มีโอกาสตาบอด เป็นลมชัก หรือถ้ารอดก็มักมีปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือสติปัญญาต่อไปได้
เคยมีกรณีที่ลูกน้อยเสียชีวิตเพราะโดนเขย่าอย่างรุนแรง จนเกิดอาการชัก หยุดหายใจเป็นช่วงๆ เนื้อตัวเขียว และสิ้นใจ เมื่อทีมแพทย์ทำการผ่าชันสูตรก็พบว่าเด็กมีเลือดออกในสมองจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ภายนอกไม่มีบาดแผล หรือริ้วรอยการถูกทำร้ายเลย
จากการศึกษาในประเทศแคนาดา พบว่าในกลุ่มทารกที่รอดชีวิตหลังจากที่ถูกสั่นหรือเขย่าอย่างรุนแรงและได้รับบาดเจ็บนั้น 10 ปีต่อมาพบว่า มีเพียง 7% เท่านั้นที่มีอาการปกติ ส่วน 12% นั้นยังอยู่ในขั้นโคม่า คือไม่สามารถพูด คิดหรือเคลื่อนไหวได้ และเป็นอัมพาต อีก 60% นั้นจัดอยู่ในขั้นไร้ความสามารถ (Disability) และจากที่กล่าวมาในกลุ่มที่รอดชีวิตนั้นร้อยละ 80 ต้องพึ่งการรักษาและช่วยเหลือไปตลอดชีวิต
อ่านต่อ “ทำไมถึงอันตราย? และ 6 พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง” คลิกหน้า 2