หยุดพฤติกรรม เขย่าลูก ไม่ว่าจะเล่นหรือพลั้งเผลออาจเสียใจจนตาย - Amarin Baby & Kids
เขย่าลูก

หยุดพฤติกรรม เขย่าลูก ไม่ว่าจะเล่นหรือพลั้งเผลออาจเสียใจจนตาย

Alternative Textaccount_circle
event
เขย่าลูก
เขย่าลูก

เขย่าลูก อันตราย! อุบัติเหตุร้ายที่ใคร ๆ ไม่อยากให้เกิด ฝันร้ายของพ่อแม่ เมื่อการ เขย่าเด็ก นำมาซึ่งความสูญเสีย มาฟังคำแนะนำคุณหมอกันดีกว่า

หยุดพฤติกรรม เขย่าลูก ไม่ว่าจะเล่นหรือพลั้งเผลออาจเสียใจจนตาย!!

โศกนาฏกรรม “คุณพ่อมือใหม่” ดูแลลูกชายวัย 2 เดือนเพียงลำพัง เด็กร้องไห้จ้าไม่หยุด สุดทนจับเขย่าไม่ยั้งมือ เมียช็อก แค่ออกไปซื้อผ้าอ้อม กลับมาอีกทีลูกโคม่า

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2021 ในนิวไทเป ไต้หวัน ชายแซ่เฉินซึ่งเพิ่งกลายเป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง ในเวลานั้นภรรยาแซ่เซียวออกไปซื้อผ้าอ้อม เขาดูแลลูกชายวัย 2 เดือนอยู่เพียงลำพัง แต่เนื่องจากเด็กน้อยไม่สบายทำให้แต่ร้องไห้ไม่หยุด กระทั่งเฉินหนานรู้สึกหมดความอดทน แทนที่จะปลอบเด็กทารกอย่างนุ่มนวล เขากลับอุ้มขึ้นมาและเขย่าอย่างแรง ซึ่งส่งผลให้เกิด “Shaken Baby Syndrome”

ภรรยาของเขากลับมาจากซื้อผ้าอ้อม ก็เจอว่าร่างกายของลูกชายเป็นสีคล้ำออกม่วงๆ แล้ว ทั้งสองรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล พบว่ามีบาดเจ็บสาหัส ดังนั้นจึงถูกย้ายไปยังหออภิบาลเด็กตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมของปีเดียวกัน กระทั่งในที่สุดในวันที่ 21 ตุลาคม เด็กชายก็เสียชีวิตลง ขณะที่แม่ของเด็กก็ตัดสินใจหย่าขาดจากสามี ด้วยความเศร้าโศกเพราะอาการช็อก

ที่มา : https://www.sanook.com

แค่เขย่าจะเท่าไหร่กันเชียว??

เด็กทารกยังไม่สามารถสื่อสารกับผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่ได้ การสื่อสารของเด็กจึงยังใช้การร้องไห้ในการบอกกล่าวความรู้สึกของพวกเขา พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจ และอดทน ปลอบโยนทารก โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ที่ยังไม่สามารถปรับตัว เข้ากับสมาชิกใหม่ของครอบครัวได้ การเขย่าที่รุนแรงเกินไป โยน หมุนตัว กับเด็กทารกที่มีศีรษะค่อนข้างใหญ่ และกล้ามเนื้อคอยังไม่โต เมื่อไม่ได้รับการพยุงอย่างเหมาะสม หรือมีคนมากระทำรุนแรงในส่วนนี้ ก็อาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บสาหัส สมองได้รับการกระทบกระเทือนเลือดออกในสมอง หรือดวงตาของทารก และส่วนใหญ่จะไม่มีบาดแผลภายนอกที่ชัดเจน แม้ว่าการกระทำรุนแรงนั้นของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กจะไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์โกรธเท่านั้น แม้แต่การเล่นด้วยความเอ็นดูก็พึงระวังเช่นกัน

อุ้มลูกสูง ๆ มือ เขย่าลูก อันตรายไม่ควรทำ
อุ้มลูกสูง ๆ มือ เขย่าลูก อันตรายไม่ควรทำ

Shaken Baby Syndrome

การเขย่าเด็กอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดจากอารมณ์โกรธหงุดหงิด โมโห หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงทารก มักจะเกิดอันตรายกับเด็กเล็กได้ ถ้าไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กแบเบาะที่ยังมีกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง ไม่สามารถพยุงศีรษะตนเองได้ รวมทั้งสมองมีความอ่อน ซึ่งถ้ามีการเขย่า หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจจะทำให้เนื้อสมองไปกระทบกับกะโหลกศีรษะ เส้นเลือดรอบเนื้อสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง หรือจอประสาทตาเป็นอันตราย และมีผลตามมาได้ดังนี้

  1. ตาบอด หรือเกิดการทำลายดวงตาบางส่วนหรือทั้งหมด
  2. พัฒนาการช้าลง พัฒนาการล่าช้า ปัญหาการเรียนรู้ ปัญหาพฤติกรรม
  3. ความพิการทางสติปัญญา ปัญญาอ่อน
  4. ความผิดปกติจากการชัก
  5. สมองพิการ ความผิดปกติที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการประสานงานของกล้ามเนื้อ
  6. เป็นอัมพาต
  7. อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เล่นแบบนี้ไม่ดีนะ เลี่ยงได้ เลี่ยงนะ ..พ่อจ๋า แม่จ๋า!!

เพื่อป้องกันการเกิด Shaken Baby Syndrome คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ที่ต้องการเล่นกับเด็กทารกควรหลีกเลี่ยงการกระทำเหล่านี้

    1. จับตัวทารกเหวี่ยงไปมา การจับตัวทารกเหวี่ยงไปมาแรง ๆ จนหัวสั่นคลอน ย่อมส่งผลต่อสมองของทารก อาจก่อให้เกิดการกระทบกระเทือน และเป็นอันตรายต่อสมอง
    2. หยอกล้อลูกด้วยการจับตัวลูกโยนขึ้นสูง แล้วให้หล่นลงมาค่อยอุ้มประคอง เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การเขย่าตัวทารกแรง ๆ ก็ตาม แต่ก็ทำให้สมองของทารกกระทบกระเทือนได้เช่นเดียวกัน
    3. อุ้มลูกโดยไม่ประคองศีรษะ ขณะที่อุ้มเด็กทารกทุกครั้ง จำเป็นต้องประคองศีรษะเพื่อป้องกันศีรษะสั่นคลอนหรือหักได้
    4. เขย่าทารกเมื่องอแง คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองไม่ให้โมโหจนขาดสติ และควรหาวิธีอื่น ๆ ปลอบประโลมให้ทารกหยุดร้องไห้แทน อาจกอดเบา ๆ ร้องเพลงกล่อม
    5. ปล่อยให้ทารกล้มหงายหลัง ควรระวังไม่ให้ทารกหรือเด็กเล็ก ๆ นั่งล้มไปทางด้านหลังอย่างรุนแรง เนื่องจากจะทำให้ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Shaken Baby Syndrome

รู้หรือไม่!!

มีเด็กทารกตายจากสาเหตุ เขย่าลูก หรือ Shaken baby Syndrome มากถึง 1 ใน 3 และอีกร้อยละ 30-40 ที่ไม่สามารถรักษาหายเป็นปกติ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กรมการแพทย์ มีเด็กที่เข้ารับการรักษาจากอาการทางสมองโดนเขย่ากระทบกระเทือนถึงสมองถึง 10-15 คนต่อปี Shaken baby syndrome หรือกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า ทำให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นภาวะใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ทุกครัวเรือน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรหลานวัยต่ำกว่า 2 ปี หากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู รู้เท่าไม่ถึงการณ์เขย่าตัวลูก ไม่ว่าจะเพราะเล่น หรือโมโหที่ลูกร้องไห้ จนแพทย์ต้องทำการผ่าตัดเปิดกระโหลก ก็อาจทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตได้

เด็กร้องไห้ ตั้งสติ อย่าโกรธจน เขย่าลูก รุนแรง
เด็กร้องไห้ ตั้งสติ อย่าโกรธจน เขย่าลูก รุนแรง

ถ้าลูกร้องไห้ไม่หยุด ควรทำอย่างไร??

การให้ความรู้สำหรับผู้ปกครอง พ่อแม่ให้สามารถเข้าใจถึงอันตรายของการเขย่าทารกอย่างรุนแรง และให้คำแนะนำในการปลอบ เมื่อลูกร้องไห้ งอแงไม่หยุด จะช่วยลดอัตราการเกิดเรื่องเศร้าได้ดีขึ้น การให้พ่อแม่รู้วิธีจัดการความเครียด และรับมือเมื่อลูกร้องไห้ มีวิธีรับมือ ดังนี้

  1. พยายามปลอบ หรือหาสิ่งของมาล่อ เบี่ยงเบนความสนใจ
  2. ดึงดูดความสนใจของเด็ก
  3. หาสาเหตุที่ทำให้เด็กร้องไห้ เพราะการร้องของลูกอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยทางกาย หากไม่ทำให้หมดไป เด็กก็ยังคงไม่สบายตัว และร้องกวน
  4. หากยังไม่สามารถสงบเจ้าตัวน้อยได้ จนคุณพ่อคุณแม่เริ่มรู้สึกเครียด เกิดอาการหงุดหงิด ต้องพักสงบสติอารมณ์ของตัวเองลงบ้าง ลองใช้วิธีเหล่านี้ในการควบคุมอารมณ์ของคุณดู บางทีอาจได้ผล
    • หายใจเข้าออกลึก ๆ นับ 1-10 เพื่อสงบจิตใจ
    • เดินออกมานอกห้อง โดยแน่ใจว่าลูกอยู่ในห้องที่ปลอดภัย
    • เรียกหาคนใกล้ชิดคนอื่นมาปลอบเด็กแทน หรือช่วยดูสักครู่ เพื่อให้อารมณ์เย็นลง จึงกลับเข้าไปอีกครั้ง
  5. หากคุณหาคนอื่นมาช่วยดูแลลูกของคุณ ไม่ว่าจะเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พี่น้อง ญาติมิตร หรือปู่ย่าตายาย โปรดให้พวกเขาเหล่านั้นตระหนักถึงอันตรายของการเขย่าเด็ก ควรร้องขอผู้ช่วยในบางขณะ เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนกันดูแล

 

อ่านต่อ>> เมื่อพลาด เขย่าลูก ไปแล้ว ควรทำอย่างไรดี?? คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up