ทำไมอุ้มโยน และเขย่าถึงอันตราย?
การอุ้มโยน และเขย่าลูกน้อยอย่างรุนแรง เปรียบได้กับการขับรถพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แล้วเหยียบเบรกกะทันหัน การถูกแรงเหวี่ยงอย่างรวดเร็ว เส้นเลือดใหญ่ในสมองที่ยังไม่แข็งแรงของลูกน้อย ทำให้เส้นเลือดเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกันระหว่างเนื้อเยื่อของสมองฉีกขาด แล้วทำให้เลือดออก
ชมคลิปภาพจำลอง 3 มิติ เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ เขย่าตัวลูกน้อย เริ่มตั้งแต่นาทีที่ 1
6 พฤติกรรมที่คุณพ่อ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการอุ้มลูกน้อยขึ้นโดยจับใต้รักแร้ แล้วเขย่า หรือแกว่งไปมา
- หลีกเลี่ยงการอุ้มลูกน้อยโดยการโยน-รับ ขึ้น-ลง
- ถ้าให้ลูกน้อยนั่งบนตัก หรือนั่งบนไหล่ ต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกน้อยล้มตัวลงไปด้านหลังอย่างกะทันหัน
- หลีกเลี่ยงการกอดลูกน้อย หรืออุ้มแล้วหมุนตัวอย่างรวดเร็ว
- เวลาอุ้มลูกน้อย ต้องใช้มือประคองศีรษะลูกน้อยไว้เสมอ
- เวลานั่งรถ เดินทางไปไหนก็ควรระวัง ไม่ให้ศีรษะของลูกน้อยเหวี่ยงไปมา
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเขย่าตัวลูกน้อย และควรบอกญาติ พี่น้อง หรือคนใกล้ชิด ให้ได้ทราบถึงผลกระทบที่ตามมาด้วย ถ้าไม่ระมัดระวัง ลูกน้อยอาจมีอาการผิดปกติ เช่น ร้องไห้ไม่หยุด เซื่องซึม ชักกระตุก อาเจียน ควรรีบพบคุณหมอโดยด่วน เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด ก่อนที่จะสายเกินแก้ไข
ข้อศอกเคลื่อนจากการดึงแขนลูก
อาการข้อศอกเคลื่อนจากการดึงข้อศอกลูกพบได้ในเด็ก 2-4 ขวบ ซึ่งมักจะเป็นแขนซ้าย เกิดจากการดึงแขนขณะที่เหยียดข้อศอก และคว่ำมือ ทำให้หัวกระดูกหลุดออกมาจากเส้นเอ็นที่ยึดไว้ คุณพ่อ คุณแม่มักบอกว่าอยู่ดีๆ แขนลูกก็ไม่ขยับ อาจเป็นเพราะดึงแขนลูกเพื่อยกตัวลูกขึ้นมา จับมือกระชากให้เดิน และอุบัติเหตุหกล้ม
วิธีสังเกตลูกข้อศอกเคลื่อน
โดยปกติเด็กๆ จะไม่ปวด ไม่บวม ไม่ร้อน ยกเว้น เด็กไม่ยอมขยับแขน ไม่ยอมคว่ำหงายมือ และไม่ยอมเหยียดงอข้อศอก แขนจะอยู่ในท่างอศอกเล็กน้อย และคว่ำมือลง เด็กๆ อาจเอามือข้างหนึ่งมาพยุงข้างที่เป็น บางครั้งอาจร้องได้เพราะเจ็บ หรือกลัว

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
จัดการส่วนที่บาดเจ็บของลูกอยู่นิ่งๆ มากที่สุด แล้วรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ อย่าพยายามขยับข้อศอกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดการผิดพลาด และบาดเจ็บมากกว่าเดิมได้ ระหว่างทางที่ไปหาคุณหมอให้ประคบเย็น เพื่อรักษาสภาพข้อศอกให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
การรักษาลูกข้อศอกเคลื่อน
คุณหมอจะดึงหัวกระดูกให้เข้าที่ ส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น ยาชา หรือยาสลบ เด็กจะเจ็บมากขณะดึง แต่ถ้าเข้าที่แล้วก็จะหายเจ็บ และขยับข้อศอก ขยับมือไปมาได้ปกติ บางรายอาจต้องรอ 30 นาที โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่เป็นมานานกว่า 4 ชั่วโมง
หลังจากดึงแล้ว ถ้าลูกยังไม่ยอมเหยียดข้อศอก ไม่ยอมใช้มือ ให้ส่งเอกซเรย์ เพื่อดูว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้าปกติให้คุณหมอลองดึงอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือผ้าคล้องแขน ถ้าลูกยังเจ็บแขน ก็อาจใช้ผ้าคล้องแขนก่อนได้ แต่ถ้ามีอาการปวดมาก หรือเป็นซ้ำ นานกว่า 12 ชั่วโมง อาจต้องใส่เฝือกประมาณ 7-10 วัน
วิธีป้องกันลูกข้อศอกเคลื่อน
- อย่ายกตัวลูกโดยจับที่ข้อมือ เช่น พ่อจับแขนขวา แม่จับแขนซ้าย แล้วยกเด็กลอยขึ้น
- อย่ากระชากแขนลูก ให้เดิน ถ้าต้องจูงมือลูก ให้จับท่อนแขนส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อจะปลอดภัยกว่า
เครดิต: rak-sukapap.com, รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์, ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, วิชาการ.คอม, emedicine.medscape.com, www.rch.org.au, boringdoc.blogspot.com, www.breastfeedingthai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่