เอาตัวรอด จากเหตุร้าย เหตุกราดยิงที่ฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่กลับใกล้กว่าที่คิด วิ่ง ซ่อน สู้ 3 วิธีเอาตัวรอดทักษะที่ลูกควรรู้ยามวิกฤต
วิ่ง ซ่อน ต่อสู้ วิธี เอาตัวรอด จากเหตุการณ์กราดยิงทักษะที่ลูกควรรู้!!
เหตุการณ์กราดยิง เหตุร้ายที่พ่อแม่ไม่คิดว่าจะเกิดกับลูกได้ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดนครราชสีมาขึ้น ส่งผลให้ประชาชนทั้งประเทศตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฆาตกรได้กราดยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก คงทำให้หลาย ๆ คนเริ่มตระหนักถึงการสอนทักษะวิชาเอาตัวรอดจากเหตุร้ายให้แก่เด็ก และบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้วิธีการเอาตัวรอด เพราะแม้ว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในอดีต แต่แนวโน้มในปัจจุบันที่ผู้คนในสังคมมีความเครียดสะสม และภัยร้ายต่าง ๆ ก็มีให้เห็นไม่น้อย เช่น การปล้นร้านทองในห้างสรรพสินค้า การยิงกันกลางตลาดสด เป็นต้น
ช่องมหิดลแชนแนล ได้จัดทำคลิปวิดีโอ “3 วิธีเอาตัวรอด จากเหตุการณ์กราดยิง (วิ่ง-ซ่อน-สู้)” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์กราดยิง โดยมี ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล นักอาชญาวิทยาที่จะมาอธิบายทั้ง 3 ขั้นตอน วิ่ง ซ่อน สู้ เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากกรณีการกราดยิง
ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก mahidolchannel
เหตุการณ์กราดยิง : ความสูญเสียที่ยากจะคาดเดา
Active Shooter คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้คนในพื้นที่จำกัด และมีคนหมู่มากอยู่รวมกัน ในกรณีส่วนใหญ่ผู้ร้ายมักใช้อาวุธปืน และไม่มีรูปแบบหรือวิธีการในการเลือกเหยื่อ สถานการณ์กราดยิงนั้นคาดเดาไม่ได้ และมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปกติ การควบคุมเหตุร้ายให้ได้ในทันทีจำเป็นต้องหยุดการยิงให้ได้เร็วที่สุด จะช่วยบรรเทาอันตรายต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ถึงกระนั้น ระยะเวลาในช่วงเวลาเกิดเหตุ อย่างน้อยต้องใช้เวลากว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้อยู่ในเหตุการณ์จึงควรมีทักษะการ เอาตัวรอด และเตรียมพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจเพื่อรับมือกับสถานการณ์กราดยิงนี้
วิ่ง ซ่อน สู้!!
ไม่ใช่ชื่อหนังภาพยนตร์แต่อย่างใด แต่เป็น 3 วิธี เอาตัวรอด จากเหตุการณ์กราดยิง ที่ผู้เชี่ยวชาญของ FBI แนะนำ หากคุณได้ยินเสียงปืนในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือหากคุณเห็นคนติดอาวุธ พกปืน ยิงข่มขู่ผู้คน จงเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องชีวิตของตัวคุณเองทันที สังเกต และตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะทำอย่างไรต่อไป โดยเลือกวิธีการ เอาตัวรอด จากหลักการ RUN HIDE FIGHT : วิ่ง ซ่อน สู้
RUN : วิ่งหนี ถ้าเป็นไปได้
- หากระยะห่างระหว่างคุณกับมือปืน/ผู้ติดอาวุธมีระยะห่างพอสมควร ให้รีบอยู่ห่างจากเสียงปืน/คนถืออาวุธ หากปืน/ผู้ติดอาวุธอยู่ในอาคารของคุณ และประเมินแล้วว่า ทางที่จะพาตัวคุณออกจากอาคารสามารถทำได้อย่างปลอดภัย ให้วิ่งออกจากอาคาร และย้ายไปให้ไกลจนกว่าคุณจะอยู่ในที่หลบภัยที่ปลอดภัย
- ทิ้งข้าวของ สัมภาระของคุณไว้ข้างหลัง ทิ้งให้มากที่สุด ไม่ควรถือข้าวของพะรุงพะรังในการพาตัวหนีออกจากที่เกิดเหตุ เพื่อให้เคลื่อนไหว เคลื่อนตัวได้เร็ว
- ยกมือขึ้นเหนือหัว เมื่อผ่านพ้นจุดอันตราย และกำลังวิ่งเข้าสู่ที่ปลอดภัยที่ทางเจ้าหน้าที่จัดไว้ จงทำให้มือของคุณมองเห็นได้จากเจ้าหน้าที่ ที่ตั้งกองกำลังรายล้อมคนร้าย เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเราเป็นคนร้ายได้
- ถ้าเจอคนอื่นช่วยได้ก็ช่วย แต่ถ้าเขาไม่ไปด้วย เราไม่ต้องห่วงเขา เราต้องวิ่งต่อไป
- โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อทำได้อย่างปลอดภัย อย่าทึกทักเอาเองว่ามีผู้อื่นรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว คุณจะได้ให้ข้อมูลที่คุณรู้ในอีกมุมหนึ่งแก่เจ้าหน้าที่ ข้อมูลที่คุณให้อาจมีความสำคัญ เช่น จำนวนมือปืน คำอธิบายทางกายภาพ และการระบุตัวตน จำนวนและประเภทของอาวุธ และตำแหน่งของมือปืน
วิธีการวิ่งหนี เหตุกราดยิง
การวิ่งหนี มี 2 ลักษณะ คือ
- วิ่งทางตรง ถ้าคนร้ายกราดยิงปืนรัศมี ซ้าย – ขวา แนะนำให้วิ่งหนีเป็นเส้นตรง การวิ่งหนีขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละสถานที่
- วิ่งซิกแซก ถ้าคนร้ายยิงปืนแบบกำหนดเป้าหมาย แนะนำให้วิ่งหนีแบบสลับฟันปลา หรือวิ่งซิกแซก โอกาสรอดมีสูงกว่าการวิ่งหนีขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละสถานที่
HIDE : ซ่อนอย่างเงียบ ๆ ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด
- หากผู้ก่อเหตุอยู่ใกล้กัน และคุณไม่สามารถอพยพได้อย่างปลอดภัย ให้ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ให้พ้นสายตาคนร้าย เป็นที่ที่เหมาะต่อการซ่อน
- เลือกที่ซ่อนที่มีผนังหนา และหน้าต่างน้อย ถ้าเป็นไปได้
- พยายามหมอบ เพราะระยะการยิงส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ระดับเอว การหมอบหลังที่กำบังจึงทำให้มีโอกาสรอด
- ล็อคประตู และนำสิ่งกีดขวางมาขวางประตูไว้ เช่น ขวางด้วยเฟอร์นิเจอร์ ถ้าเป็นไปได้ เนื่องจากบ่อยครั้งที่จะเห็นว่าคนร้ายพบว่าประตูล็อคก็จะเดินผ่านไป
- พยายามซ่อนตัวกระจายกันไป อย่าไปซ่อนตัวในที่เดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเป้าหมายได้ง่าย
- ปิดไฟ ซ่อนตัว อย่าพยายามที่จะทำอะไรเสียงดังเรียกร้องความสนใจ
- ปิดเสียงโทรศัพท์ และปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
- ปิดหน้าต่าง ม่านบังตา และมู่ลี่ และหลีกเลี่ยงการถูกมองเห็นจากภายนอกห้อง ถ้าเป็นไปได้
- หากคุณอยู่กลางแจ้ง และไม่สามารถวิ่งหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย ให้หาที่ซ่อนที่จะให้การป้องกันจากเสียงปืน เช่น กำแพงอิฐ ต้นไม้ใหญ่ หรืออาคาร
- หากพบที่ซ่อนที่ปลอดภัยแล้ว ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมจนกว่าเจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
FIGHT : สู้ ขัดขวาง หรือทำให้มือปืนไร้ความสามารถ เมื่อเข้าตาจน
- เป็นทางเลือกสุดท้าย สู้ต่อเมื่อคุณไม่สามารถหนี หรือซ่อนตัวได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อชีวิตของคุณอยู่ในอันตรายที่ใกล้เข้ามา ให้เตรียมตัวสู้
- พยายามทำให้ไร้ความสามารถ ให้คนร้ายบาดเจ็บ หรือขัดขวางการกระทำของผู้ยิง โดยจุดที่โจมตีอันดับแรกให้โจมตีที่ดวงตา คอ และบริเวณระหว่างขา จะทำให้เขาหยุดชะงัก และถ้าเราสามารถซ้ำจุดเดิมได้จะทำให้คนร้ายหยุดได้
- ถ้าเป็นไปได้ ในกรณีที่จุดเกิดเหตุมีผู้ประสบเหตุหลายคน ให้ออกมาช่วยกัน อย่าสู้คนเดียว
- แสดงท่าทางก้าวร้าวต่อผู้ยิง
- ใช้สิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวของคุณ เช่น ถังดับเพลิง ก้อนหิน เหล็ก หรือเก้าอี้ มาเป็นอาวุธป้องกันตัว
- นึกภาพเส้นทางหลบหนีที่เป็นไปได้ รวมถึงเส้นทางที่เข้าถึงได้ทางกายภาพสำหรับนักเรียนและเจ้าหน้าที่ที่มีความทุพพลภาพ และคนอื่นๆ ที่มีความคล่องตัวจำกัด
อ่านต่อ>> PTSD ความผิดปกติทางจิตใจหลังภยันตราย พ่อแม่รับมืออย่างไร คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่