เฟซบุ๊ค กลุ่มคนมีลูก แชร์เรื่องราวเตือนใจคนเลี้ยงหมาในบ้าน ระวัง “เห็บหมาเข้าหูลูก” พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง
อุทาหรณ์!! เลี้ยงหมาในบ้าน ให้ระวัง “เห็บหมาเข้าหูลูก”
หลายครอบครัวรักสัตว์ เลี้ยงน้องหมา น้องแมว เสมือนเป็นลูก หรือคนสำคัญในครอบครัว แม้จะมีลูกน้อยมาเป็นสมาชิกใหม่ แต่ก็ไม่ต้องการย้ายสัตว์เลี้ยงดั้งเดิมออกจากบ้าน จนลืมระแวง”เห็บ” ปรสิตร้ายที่แฝงมากับสัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก
ล่าสุดได้มีการแชร์เรื่องเห็บสุนัขเข้าหูลูกไว้ในเฟซบุ๊ค กลุ่มคนมีลูก โดยคุณแม่ลูกแก้ว ผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ ไอติม ช็อกโกแลต ได้แชร์เหตุการณ์เกิดขึ้นกับลูกชาย น้องวอดก้า 1 ขวบ 4 เดือน เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนภัยแม่ๆ บ้านอื่นๆ ที่เลี้ยงหมาไว้ในบ้าน
“เตือนภัย!! สำหรับคนที่เลี้ยงหมาในบ้าน
เห็บตัวร้ายอันตรายจริงๆ ค่ะ แม่เอะใจทำไมหูลูกแดงผิดปกติ เอาไฟส่องดูนังเห็บตัวดีมาอยู่ที่ใบหูลูก ยังโชคดีที่อยู่แค่ด้านนอกหู ฝากแม่ๆระวังกันด้วยนะคะ”
นอกจากเคสคุณแม่ลูกแก้วแล้ว ยังพบอีกหลายเคสที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ เช่น
เคสที่ 1
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Kwang Airada Preewan ได้โพสต์รูปและข้อความเตือนภัย เรื่อง เห็บหมาเข้าหูลูก วัย 4 ขวบ 6 เดือน คุณแม่เจ้าของเรื่องเล่าว่า ลูกชายบ่นเจ็บหูมาหลายวัน อาการเหมือน ยุงกัดหู เหมือนมดกัดข้างในหู ผู้เป็นแม่จึงใช้ไฟฉายส่องดู แล้วก็ต้องตกใจที่พบกับเห็บในหูเป็นจำนวนมาก รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที แต่ด้วยความที่ไข่เห็บเยอะมาก แพทย์จึงต้องวางยาสลบ เพื่อคีบไข่เห็บออกมาให้หมด จึงฝากเตือนผู้ปกครองให้ระวังกันภัยใกล้ตัวจากเห็บหมา แม้จะไม่ได้เลี้ยงหมา ก็อาจพบเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนตนได้
Must Read >> อุทาหรณ์! แม่ช๊อคเจอ เห็บเข้าหู วางไข่ในหูลูกเป็นสัปดาห์!
เคสที่ 2
เพจเฟซบุ๊ก “PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” โพสต์เตือนภัย ว่า
“คงเคยได้ยินเกี่ยวกับเห็บเข้าหูผู้ป่วยเรื่อยๆ เช่นเดียวกับผู้ป่วยเด็กชายวัย 9 ขวบรายนี้มาหาหมอที่ไปโรงพยาบาลด้วยอาการเสียงที่หูขวาดังหึ่งมา 3 วัน จากสิ่งแปลกปลอมบางอย่าง แพทย์ตรวจพบเห็บเกาะอยู่ที่เยื่อแก้วหู และมีการอักเสบบริเวณดังกล่าว เอาออกได้ค่อนข้างลำบาก จนต้องดมยาสลบแล้วนำเข้าห้องผ่าตัด เพื่อส่องกล้องคีบเอาเจ้าเห็บสายพันธุ์ “Dermacentor variabilis” ตัวนี้ออก แพทย์ให้ยา ciprofloxacin สำหรับหยอดรักษาเยื่อแก้วหู จากนั้นอาการก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ
หากท่านชื่นชอบเลี้ยงสัตว์รวมถึงลูกๆ ที่ชอบเล่นกับสัตว์เลี้ยง ก็ต้องหมั่นดูแลสัตว์ของเราให้ปลอดจากเห็บ หรือหมัดเหล่านี้ เพื่อเราจะได้ปลอดภัยไม่เป็นเช่นผู้ป่วยรายนี้ และยังลดการติดเชื้ออื่นๆ ตามมาด้วย
เห็บเข้าหู ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรดี
แพทย์หญิง ภาณินี จารุศรีพันธุ์ ภาควิชา โสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำวิธีฐมพยาบาลเบื้องต้น หากมีแมลง เห็บ หรือ สิ่งแปลกปลอม เข้าหู ดังนี้
- รีบเอียงศีรษะข้างที่แมลงเข้าไปในหูขึ้น แล้วหยอดด้วยน้ำมันให้แมลงตาย เช่น เบบี้ออยล์ น้ำมันมะกอก น้ำมันพืช หรือยาหยอดหู ค่อย ๆ หยอดลงไป โดยดึงใบหูไปด้านหลังเพื่อให้รูหูอยู่ในแนวตรง เพื่อให้แมลงสามารถหนีขึ้นหรือลอยขึ้นมาได้
- นอนตะแคงและเอียงหูลง เพื่อให้แมลงไหลลงมา
- หากแมลงเข้าไปในหูแล้วมีอาการเจ็บภาย ไม่ควรหยอดน้ำมันใด ๆ ลงไป เพราะอาจจะทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้นิ้วมือหรือสิ่งของลงไปแคะหรือเขี่ย เพราะอาจจะทำให้แมลงยิ่งลงไปลึกกว่าเดิม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อช่วยนำออกให้
ห้ามใช้ น้ำเปล่า น้ำยาล้างจาน น้ำสบู่ และน้ำยาล้างแผล หยอดลงในหูเด็ดขาด
เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ เห็บหมัด เจ้าวายร้ายจิ๋ว
เห็บตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งเดียว แต่ปริมาณไข่นั้นมากถึง 2,000 – 4,000ฟอง โดยใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 10 วัน อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม หลังจากวางไข่แล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนที่มีเพียง 6 ขา
จากนั้นตัวอ่อนก็จะกลับขึ้นไปกินเลือดบนตัวสัตว์เลี้ยงจนตัวเต่ง ก่อนที่จะทิ้งตัวลงไปลอกคราบเป็นเห็บตัวกลางวัย 8 ขา และกลับขึ้นไปกินเลือดสัตว์เลี้ยงอีกครั้ง ก่อนที่จะทิ้งตัวลงสู่พื้นเพื่อลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย และผสมพันธุ์ตามวงจรไปเรื่อย ๆ ซึ่งวงจรชีวิตของเห็บใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน
3. ฤดูที่พบเห็บมากที่สุดคือ รอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝน
ความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะจะช่วยส่งเสริมความสมบูรณ์ของไข่ และการแพร่ขยายพันธุ์ของตัวอ่อนมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะฟักไข่ ยิ่งความชื้นสูงตัวอ่อนก็จะแพร่ขยายพันธุ์ได้มาก ดังนั้นในหน้าฝนจึงมีเห็บเยอะกว่าช่วงฤดูอื่น ยิ่งในช่วงรอยต่อของฤดูฝนที่ความชื้นกำลังพอดี คือ ประมาณช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงกรกฏาคม สิงหาคม จะที่เป็นช่วงที่ความชื้นและอุณหภูมิเหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด
Must Read >> พ่อแม่ระวัง! เห็บหมัดสุนัข และแมวช่วงหน้าฝน
วิธีกำจัดเห็บให้สิ้นซากไปจากบ้านของเรา
1.การกำจัดเห็บในบ้าน
- อย่าปล่อยให้บ้านรก เพราเป็นที่ซ่อนตัวของเห็บได้เป็นอย่างดี
- ซักเสื้อผ้าที่สกปรกมากๆ ด้วยน้ำร้อน เพราะบางครั้งเห็บจะเกาะติดอยู่กับเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หลีกเลี่ยงการทิ้งผ้าที่คิดว่ามีเห็บอยู่ไว้บนพื้น รวมทั้งห้ามนำผ้าที่คิดว่ามีเห็บไปใส่รวมกับเสื้อผ้าอื่นๆ
- ทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียด และสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากบนลงล่าง ตามซอกมุม ชั้นวางต่างๆ การใช้เครื่องดูดฝุ่นก็เป็นอีกอุปกรณ์ช่วยกำจัดเห็บเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นที่นอนของสัตว์เลี้ยง ตามโต๊ะ โซฟา เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
- พ่นสารกำจัดเห็บเพิ่มเติมจากการทำความสะอาดทั่วไป
- ดูแลสัตว์เลี้ยง เพราะอาจนำเห็บจากข้างนอกเข้ามาในตัวบ้าน โดยใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเห็บที่ได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์
2.การจำกัดเห็บนอกบ้าน
เห็บที่พบนอกตัวบ้านมักพบในพื้นที่ที่มีต้นไม้ให้ร่มเงา บริเวณที่มีความชื้น หรือแม้แต่ตามทุ่งหญ้า โดยเฉพาะที่ที่มีกวางอาศัยอยู่
- ตัดแต่งใบไม้รอบๆ บริเวณบ้านที่รกๆ เลี่ยงไม่ให้มีหญ้าสูงๆ ตัดหญ้าให้สั้น พยายามทำให้สวนหลังบ้าน สวนหน้าบ้านของคุณโล่ง และมีแสงสว่างส่องถึงเพราะเห็บไม่ชอบแสงแดด
- ล้างทำความสะอาดลานบ้าน กวาดเก็บใบไม้แห้ง ใบไม้ร่วงต่างๆ ให้เรียบร้อย เพราะที่เหล่านี้อาจเป็นที่อยู่ของเห็บได้
- ใช้ยาฆ่าแมลงที่ดูแล้วปลอดภัย
3.ป้องกันเห็บ
แม้เราจะดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี หรือบางบ้านอาจจะไม่ได้เลี้ยงเอง แต่มีเพื่อนบ้านเลี้ยง หรือมีหมาจรจัดอยู่ละแวกบ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมีเห็บนอกบ้านอพยพมาขออาศัยบ้านเราก็ได้ ดังนั้นควรป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดเรื่องจะดีกว่า
- ข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นต้องเก็บกองรวมกัน พยายามหาที่แห้งวางเพราะถ้าเป็นกองไม้ เศษไม้เก่าๆ เมื่อวางกองรวมกันแล้วอาจเป็นที่ซ่อนตัวของเห็บได้
- อย่าให้เด็กไปเล่นในบริเวณที่เราคิดว่ามีเห็บอาศัยอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีหญ้าขึ้นสูง พื้นที่รกๆ
- หมั่นตรวจสอบเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง หลังจากพวกเขาออกไปวิ่งเล่น หรือไปเดินลุยสนามหญ้าต่างๆ ว่ามีเห็บติดมาตามศีรษะ เส้นผม วงแขน ฯลฯ หรือไม่ ห้ามบีบเห็บเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค
Must Read >> ลูกโดน “เห็บกัด” อย่าชะล่าใจ อาจติดเชื้อจากโรคลายม์
การเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดภัยต่อคนในบ้าน ทำอย่างไร?
สำหรับบ้านที่มีลูกเล็ก และมีสัตว์เลี้ยงตัวโปรด ทั้งที่เลี้ยงในบ้านและนอกบ้านนอกเหนือจากการดูแลเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องระวังเพิ่มอีก ดังนี้
- ไม่ปล่อยลูกไว้กับสัตว์เลี้ยงตามลำพัง
- แบ่งแยกพื้นที่ของสัตว์เลี้ยงให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ไม่ปะปนกับลูกน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่นำสัตว์เลี้ยงนอนรวมในห้องเดียวกับลูก
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เป็นประจำ โดยใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัด ที่ปลอดภัยกับเด็ก
- ดูแลความสะอาดสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ พาไปฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า และตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรคต่างๆ
- หมั่นคอยสังเกตุดูเนื้อตัวและซอกหลืบต่างๆ ในตัวลูก เพื่อป้องกันไม่ให้มีเห็บ หมัด กัดลูก หรือทำอันตรายอื่นๆ
- ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส เล่น หรือให้อาหารสัตว์ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่คลานบนพื้นหรืออาจนำมือเข้าปาก
- ไม่ให้สัตว์เลี้ยงขึ้นบนโต๊ะอาหารหรือเข้าไปในบริเวณที่เตรียมอาหาร รวมถึงไม่ควรอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงในอ่างล้างจานหรืออ่างอาบน้ำของตนเอง
- ทำความสะอาดกรง รวมถึงบริเวณรอบ ๆ ที่อยู่ของสัตว์ และกำจัดมูลของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งไม่ควรให้เด็ก ๆ เข้าไปเล่นในบริเวณที่เป็นที่ขับถ่ายของสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการจูบ การนำปากเข้าไปใกล้ ๆ สัตว์เลี้ยง หรือการรับประทานอาหารจานเดียวกันกับสัตว์เลี้ยง เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่มักแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย
- ขณะทำความสะอาดกรงหรือที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือปิดปากและจมูกทุกครั้ง รวมทั้งขณะที่ทำความสะอาดกระบะทรายของแมว เพื่อป้องกันการหายใจเอาละอองหรือเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ควรพาสัตว์ที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ไปตรวจรักษาโรคก่อนนำมาเลี้ยงร่วมกับสัตว์ตัวอื่น ๆ และควรแยกสัตว์ป่วยออก เมื่อรักษาจนหายดีแล้วจึงนำมาเลี้ยงร่วมกันตามปกติ
Must Read >> Kid safety สอนเด็ก อย่าเล่นผิดวิธีกับสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากในการเลี้ยงสัตว์ คือ การถูกแมวหรือสุนัขกัด โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าหรือมือ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและปัญหารุนแรงอื่นๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะการถูกแมวข่วน ซึ่งจะเกิดอาการที่รุนแรงกว่าสุนัขข่วน เนื่องจากเล็บแมวมีความคมและฝังรอยเข้าไปได้ลึกกว่าเล็บสุนัข
ดังนั้น หากคุณพ่อ คุณแม่ตัดสินใจที่จะมีสัตว์เลี้ยง หรืออนุญาติให้ลูกเลี้ยงสัตว์ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในบ้าน จัดการแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน ทำความเข้าใจกับลูกถึงข้อจำกัดในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง และให้ความรู้ลูกในการจัดการดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่อย่างถูกสุขลักษณะด้วย เพื่อป้องกันอันตรายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และเป็นการเสริมสร้างให้ลูกมี HQ (Health Quotient) หนึ่งใน 10 Power BQ ความฉลาด 10 ด้าน ที่เด็กยุคใหม่ควรมี
HQ คือ ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ รอบตัว
Must Read >> เด็กยุคใหม่ ทำไมต้องมี Power BQ ติดอาวุธให้ลูกฉลาดรอบด้าน
ขอขอบคุณ amarintv, newtv, petclub , คุณแม่ลูกแก้ว
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แม่แชร์อุทาหรณ์! อันตรายจากควันบุหรี่ และกลิ่นที่ติดเสื้อ ทำลูก 2 ขวบเข้า ICU
แม่เล่าอุทาหรณ์! “ลูกสาวข้อศอกเคลื่อน” เพราะเล่นเต้นรำ ดึงแขนลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่