ภัยจากการปล่อยให้ลูกเล่นน้ำ เป็นเหตุให้ ลูกจมน้ำ
เด็กโตเข้าใจเหตุผล แต่ยังไม่รู้ความเสี่ยง
แม้ความสนใจกระตือรือร้นเรียนรู้โลก คือธรรมชาติตามวัยที่ควรจะสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ เพื่อเกิดทักษะ เพื่อพัฒนาการทั้งจิตใจ ร่างกายและสังคม แต่เรื่องของ “ความปลอดภัย” ก็ยังเป็นสิ่งที่จะต้องเอาใจใส่ให้มาก
เพราะแม้ลูกวัยนี้จะเริ่มเข้าใจเหตุและผล เข้าใจความเสี่ยงและเชื่อมโยงถึงผลการบาดเจ็บที่จะตามมาได้แล้ว รวมถึงความใกล้ชิดของการดูแลเด็กโต ที่พ่อแม่สามารถให้เขาอยู่ในระยะพ้นสายตาได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบดูแลเด็กทุก 1-2 ชั่วโมง และต้องมั่นใจว่าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใหญ่ได้จัดการความเสี่ยงไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รอบๆ ชุมชนหรือโรงเรียน
เด็กวัยนี้ในวันหยุด หรือในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ หลังเลิกเรียนมักชวนกันไปเล่นน้ำในละแวกบ้าน ไม่ว่าจะเป็น บ่อน้ำใช้ในชุมชน ลำคลอง บ่อขุด หรือ สระว่ายน้ำที่อยู่รอบๆ หมู่บ้าน อยู่รอบๆ ชุมชน ยิ่งในช่วงวันหยุดยาวๆ เช่น ช่วงปิดเทอมเล็ก (ราวเดือนตุลาคม) และ ปิดเทอมใหญ่ (เดือนเมษายน) ตัวเลขเด็กจมน้ำเสียชีวิตจะพุ่งพรวดเสมอ
♥ Must read : มาดูวิธีเลือกซื้อ ชุดว่ายน้ำ ให้เด็กผู้หญิงกันเถอะ
เหตุที่ทำให้เด็กวัยนี้เสียชีวิตเพราะจมน้ำ คือ ว่ายน้ำไม่เป็น แล้วไปเล่นใกล้น้ำ พลัดตกลงไปโดยยังไม่ได้ตั้งใจลงว่ายน้ำเล่นเลย บางคนก็ตั้งใจลงน้ำเล่นกับเพื่อนทั้งๆ ที่ว่ายไม่เป็น ตั้งใจจะเล่นตื้นๆ แต่พลัดไหลไปที่ลึก หรือ พอจะเป็นแต่ว่ายไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่มีทักษะในการช่วยคนจมน้ำ แหล่งน้ำบางแหล่งมีความเสี่ยงมาก เด็กๆ ไม่ควรลงเล่นตั้งแต่แรก เช่น น้ำไหลแรง
พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยลูกพ้นภัยจมน้ำ
ฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ ขอชวนคุณพ่อคุณแม่พาลูกอายุ 5-7 ขวบไปฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ ได้แก่
- เรียนรู้จุดเสี่ยง
- ลอยตัวในน้ำได้เกินกว่า 3 นาทีหรือ
- ว่ายน้ำได้ไกลไม่น้อยกว่า 15 เมตร
- ช่วยเพื่อนด้วยการ ตะโกน โยน ยื่น
- รู้จักใช้ชูชีพ
หมายความ ของ การ “ตะโกน-โยน-ยื่น”
- ตะโกนดังๆ เพื่อเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย
- โยนวัสดุที่ลอยน้ำได้ (ที่พอหาได้ในบริเวณนั้น เพราะเด็กจะขาดอากาศหายใจ จมน้ำตายภายใน 4 นาทีหากช่วยไม่ทัน) เช่น ลูกมะพร้าว ถังแกลลอนเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า แผ่นโฟม ฯลฯ เพื่อให้คนจะจมน้ำเกาะไว้ก่อน
- ยื่นวัสดุยาวๆ เช่น แท่งไม้ กิ่งไม้ กางเกง เสื้อ เพื่อให้คนจะจมน้ำจับ แล้วช่วยดึงเข้ามา
⇒ รวมไปถึง การเตรียมและใช้เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ไปเที่ยวทางเรือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมเสื้อชูชีพ และก่อนลงเรือต้องให้ลูกสวมไว้เสมอ
⇒ ช่วยกันจัดสิ่งแวดล้อมปลอดภัย ท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชนต้องให้ความสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อม พื้นที่เล่นให้ปลอดภัย และเด็กวัยสำรวจโลกนี้มักบาดเจ็บในเขตชุมชน ไม่ใช่ในบ้านเหมือนเด็กเล็ก ครอบครัวไม่สามารถจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ในเขตชุมชนได้เอง ไม่เหมือนพื้นที่ในบ้าน เช่นแหล่งน้ำเสี่ยง
⇒ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องปักป้ายเตือนอันตราย และห้ามลงน้ำตัวโตๆ หรือล้อมรั้วอย่างหนาแน่น ในบริเวณ เขตแหล่งน้ำเสี่ยง (เช่น มีน้ำวน น้ำลึกมาก พื้นน้ำไม่เสมอ หรือ เสี่ยงไฟดูด ฯลฯ) มิฉะนั้นเด็กก็จะกลายเป็นเหยื่ออีกเช่นเคย
อย่างไรก็ดี หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการจะหากลูกเล่นน้ำ การพาลูกน้อยไปฝึกหัดเรียนว่ยน้ำตั้งแต่ยังเล็กๆ ก็เป็นเรื่องดี หรือหากคุณพ่อคุณแม่หรือลูกยังไม้พร้อมที่จะเรียน การปล่อยให้ลูกเล่นน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคอยดูแลและระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษ เพราะถึงแม้จะมีห่วงยาง หรือเสื้อชูชีพ หรือหากลูกว่ายน้ำเป็น อันตรายหรืออุบัติเหตุทางน้ำก็เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถหายใจใต้น้ำได้นะคะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- วิธีช่วยเหลือลูกน้อย เมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงตาย
- ผลิตภัณฑ์อันตราย สำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องระวัง
- อันตราย ในบ้าน 12 สิ่งสำหรับลูกวัยใกล้ 3 ขวบ
บทความโดย : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี