โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคที่ทำให้ลูกชายของแม่ต้องผ่าตัดจมูก …
จากกรณีที่สื่อต่างประเทศได้พากันแชร์เกี่ยวกับเรื่องราวประสบการณ์ของคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ได้โพสต์เตือนคุณแม่ทุก ๆ คนให้ระวังให้ดีหากชอบปล่อยให้ลูกนอนห้องแอร์ที่อากาศเย็นมาก ๆ
โดยคุณแม่เล่าว่า สามีชอบเปิดแอร์และพัดลมให้ลูกนอน โดยเลือกที่จะเปิดแอร์ในอุณหภูมิ 16 องศา และไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ยังเปิดพัดลมเบอร์แรงที่สุดอีกด้วย
คุณแม่คอยเตือนสามีตลอดเวลา เพราะกลัวว่าลูกจะไม่สบาย แต่ทุกครั้งที่ปิด สามีก็มักที่จะโกรธ และสิ่งที่คุณแม่กังวลและเป็นห่วงก็เกิดขึ้นจริง ๆ ลูกชายของคุณแม่เริ่มเป็นโรคภูมิแพ้ น้ำมูกไหลเป็นประจำ พอโตขึ้นอาการก็เริ่มแย่ลง จนสุดท้ายพบว่าเป็น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หมอเลยแนะนำให้ทำการผ่าตัดดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ จากภาพที่เห็นนั้น เป็นภาพของกระดูกอ่อนที่อยู่ในโพรงจมูกของลูกชายคุณแม่ คุณแม่รู้เลยว่า ลูกชายนั้นต้องเจ็บปวดมากขนาดไหน ด้วยความเป็นห่วง จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้กับเด็กคนไหนอีก จึงได้ตัดสินใจแชร์เรื่องราวนี้ ไว้เป็นเพื่อเป็นอุทาหรณ์กับครอบครัวอื่น
และเพื่อให้เกิดประโยชน์ ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะขอนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มาฝากกันค่ะ
คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้คืออะไร อันตรายหรือไม่ แล้วมีอาการอย่างไร … เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปทำความรู้จักกับโรคนี้พร้อม ๆ กันค่ะ
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ คืออะไร?
โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น จนส่งผลทำให้เป็น “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” นั่นเอง
นอกเสียจากนี้ โรคดังกล่าว ยังเป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุจมูกนั้นมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่ว่านี้สามารถพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในบ้าน และที่สามารถพบได้บ่อยคือ ฝุ่นในบ้าน ตัวไรในฝุ่น เชื้อราในอากาศ แมลงสาบ ยุง แมลงวัน มด ขนสัตว์ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง เป็นต้น
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ นั้น พบได้ประมาณ 10 – 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วโลก และดูเหมือนว่าในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มจะพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง สำหรับในวัยเด็กนั้นจะพบว่า มีเด็กผู้ชายเป็นโรคนี้บ่อยกว่าเด็กผู้หญิง ส่วนในผู้ใหญ่จะพบว่าผู้หญิงเป็นมากกว่าป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย
สาเหตุของโรค
พบว่า ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่ทำให้มีประชากรเป็นโรคภูมิแพ้นี้มากขึ้นนั้นมาจาก มลพิษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในอากาศ มลพิษในอากาศและบ้าน และวิถีในการดำรงชีวิต รวมถึงข้าวของเครื่องใช้หรืออาหารการกินที่มีสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้มากขึ้น
อาการของโรค
- คันจมูก
- จามติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง
- มีน้ำมูกใส
- คัดจมูก
- คันที่ตา คอ หู หรือที่เพดานปาก
- ปวดศีรษะ
- เสียงเปลี่ยน
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- น้ำมูกไหลลงคอ
- หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู
- คันตา
- มีอาการอักเสบของผิวหนังรอบดวงตาก อันเกิดจากการขยี้ หรือมีรอยคล้ำรอบดวงตา
- เจ็บคอเรื้อรัง เป็นต้น
วิธีการรักษาและป้องกัน
- พยายามหาต้นตอหรือสาเหตุให้ได้ว่า ลูกหรือคนในครอบครัวนั้นแพ้อะไร หากทราบแล้วก็ให้หลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้หรือเป็นตัวกระตุ้นออก ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่พบบ่อยนั้นได้แก่ ฝุ่น หากทราบว่าลูกแพ้ฝุ่น ก็ให้หมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบ ๆ เป็นประจำ และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้พรม เป็นต้น
- หมั่นทำความสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนอน ห้องน้ำ เครื่องนอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่ม อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส และใช้เวลาซักอย่างนอนนาน 30 นาที
- พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- การบรรเทาอาการด้วยการใช้ยา นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว การใช้ยาก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นยาต้านฮิสทามิน หรือการใช้สเตียรอยด์พ่นจมูก เพื่อช่วยควบคุมอาการของโรค สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในเด็กที่มีอายุมากว่าหรือเท่ากับ 2 ปี และถึงแม้ว่าจะสามารถใช้ได้ ก็ต้องใช้ให้อยู่ในปริมาณที่แพทย์กำหนดด้วยนะคะ
- การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ก็เป็นการรักษาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการรักษาโดยฉีดสารที่ก่อภูมิแพ้ที่คิดว่าเป็นสาเหตุเข้าไปในร่างกายทีละน้อย และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ดีขึ้น สำหรับวิธีนี้ จะเป็นการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นมาก และไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาเท่านั้นนะคะ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าอยากให้ได้ผลดี ก็อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3 – 5 ปีเลยละค่ะ
- การผ่าตัด ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา และนิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา นั่นเอง
นอกเหนือจากนี้ การจะให้ร่างกายห่างจากโรค คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ดื่มน้ำให้มาก ๆ และพยายามทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอนะคะ
ขอบคุณที่มา: โลกของโฮ่ง และ Health Today
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
- พ่อแม่ระวัง! ลูกขยี้ตาบ่อยเสี่ยงเป็น ภูมิแพ้ขึ้นตา
- แม่เตือน! ลูกแพ้นมวัว เป็นภูมิแพ้หลบในถึงขั้นหูอักเสบ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่