รักษาโรคภูมิแพ้ ด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการแพ้ของลูกให้ดีขึ้น
รักษาโรคภูมิแพ้ ด้วยวิธีปรับภูมิคุ้มกัน
นายแพทย์จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อาจารย์แพทย์อนุสาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก สาขาวิชาอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคภูมิแพ้ ว่า สถานการณ์ของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วทั้งโลก ในเมืองไทย สถิติล่าสุดของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย ปี 2559 พบผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึง 3 – 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา
จากสถิติเผยให้เห็นว่า
- โรคภูมิแพ้ในเด็กไทยสูงถึงร้อยละ 38
- โรคภูมิแพ้ในผู้ใหญ่พบประมาณร้อยละ 20
สำหรับอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ย
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23 – 30
- โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดร้อยละ 10 – 15
- โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15
- โรคแพ้อาหารร้อยละ 5
ภูมิแพ้คืออะไร
โรคภูมิแพ้คือโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่ในภาวะปกติ แล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช และขนสัตว์ เมื่อเจอสารกระตุ้นจะเกิดการตอบสนองไวอย่างมากจนผิดปกติแตกต่างจากคนทั่วไป หลังสัมผัสกับสารกระตุ้นจะทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น โพรงจมูก หลอดลม ผิวหนัง
สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง อาทิ
- การสัมผัสทางผิวหนัง ตา หู จมูก
- การรับประทานอาหาร
- การได้รับผ่านทางระบบทางเดินหายใจ
- การฉีดหรือถูกแมลงกัดผ่านทางผิวหนัง
ตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นตัวการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่
โรคภูมิแพ้ที่สำคัญที่พบได้บ่อยและมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วย ได้แก่ โรคหืด (Asthma) โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) และโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)
มลพิษทำให้คนเป็นภูมิแพ้เพิ่มขึ้น
ในปัจจุบันมีข้อมูลว่ามลพิษ (air pollution) ที่มากขึ้น ทำให้คนเป็นโรคกลุ่มภูมิแพ้ และหลอดลมมากยิ่งขึ้น โรคภูมิแพ้ นายแพทย์จิรวัฒน์ ย้ำว่า คนที่เป็นภูมิแพ้ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น เกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืน จึงนอนอ้าปากหายใจ แล้วตื่นมาด้วยอาการปากแห้ง ทั้งยังรู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท อาจมีง่วงช่วงกลางวัน ส่วนกลุ่มโรคหืด อาจมีอาการเหนื่อยทั้งตอนกลางคืน หรือตอนออกแรงจนทำให้ต้องหยุดงาน
การรักษาโรคภูมิแพ้
การรักษาโรคภูมิแพ้เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคหืด หรือผื่นผิวหนังอักเสบให้ได้ผลดี ผู้ป่วยต้องทราบสารที่ก่อภูมิแพ้เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แล้วใช้ยาช่วยในการรักษา ทั้งยาชนิดรับประทาน ยาพ่นจมูก ยาพ่นหรือยาสูดทางปาก และหากใช้ยาแล้วผู้ป่วยยังคุมอาการไม่ได้ ปัจจุบันยังมีการรักษาด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ให้ผู้ป่วยหายแพ้ต่อสารนั้น เพื่อให้อาการของโรคดีขึ้นหรือหายได้
ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) มี 2 วิธีหลัก
- ฉีดสารที่แพ้เข้าใต้ผิวหนังและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทีละนิดทุกครั้งที่มาพบแพทย์
- ใช้สารที่ผู้ป่วยแพ้อมใต้ลิ้นทุกวัน ปัจจุบันในประเทศไทยวิธีอมใต้ลิ้น มีใช้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้ต่อไรฝุ่น
ทั้งนี้ ในการรักษาด้วยวิธีปรับภูมิคุ้มกัน (immunotherapy) ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น อาการแพ้ มีผื่น หายใจไม่ออก หรืออาจแพ้รุนแรงได้
โรคภูมิแพ้เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคหืด หากปล่อยทิ้งไว้ และยังสัมผัสต่อสารแพ้ต่อเนื่อง อาจทำให้มีผลแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ไอเรื้อรังจากเสมหะไหลลงคอ มีอาการหอบหืดเกิดเป็นโรคหืดที่คุมอาการไม่ได้ อาจถึงมีระบบหายใจล้มเหลวได้
วิธีสังเกตลูกเป็นภูมิแพ้
อ.ดร.เสริมศรี สันตติ อาจารย์พยาบาลผู้เชี่ยวชาญดูแลผู้ป่วยเด็กโรคระบบทางเดินหายใจ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะวิธีสังเกตลูกเป็นภูมิแพ้ ว่า โรคแพ้อาหารและผื่นผิวหนัง ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุ 1 ปี ส่วนการแพ้นั้นอาการมักแพ้พวกนมอาจกินแล้วมีเสียงดังครืดคราดในปอดเนื่องจากจะผลิตเสมหะเพิ่มมากขึ้น สำหรับผื่นแพ้ทางผิวหนัง อาจมีผื่นขึ้นตามตัว ข้อพับ ในร่มผ้า และมีอาการคัน หากเป็นโรคหวัดจากภูมิแพ้ ส่วนมากจะมีอาการเมื่อเจอฝุ่นหรืออากาศเย็น มักมีน้ำมูกใสไหลตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ในทารก วิธีป้องกันภูมิแพ้ที่ดีที่สุดควรให้กินนมแม่ เพราะนมแม่มีสารต้านภูมิแพ้ ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ดี และไม่ควรให้เด็กกินอาหารเสริมเร็วเกินไป เช่น ไข่ขาว ซึ่งเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย ส่งผลให้เด็กเป็นภูมิแพ้ จึงแนะนำให้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก
หากพ่อแม่พบว่าลูกมีอาการแพ้ หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคหืด ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์ เพื่อใช้ยาในการรักษาหรือหาวิธีรักษาโรคภูมิแพ้ที่เหมาะสมต่อไป
อ้างอิงข้อมูล : ryt9 และ rama.mahidol.ac.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มะเร็งที่พบบ่อยในเด็ก สัญญาณอันตรายโรคร้าย
ลูกหายใจครืดคราด สาเหตุเกิดจากอะไร 6 สาเหตุที่ทำให้เสียงหายใจลูกเป็นแบบนี้