ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่คุณแม่น้องมิกกี้เล่ามานั้น นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม (alopecia areata) มักพบในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โรคนี้พบได้บ่อย ประมาณว่าตลอดทั้งช่วงชีวิตแต่ละคนมีโอกาสร้อยละ 2 ที่จะเป็นโรคนี้
ปัจจุบันนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมหรือยีน 8ตำแหน่ง ตัวที่สำคัญที่สุดคือยีน ULBP3 ยีนกลุ่มนี้นอกจากทำให้ผมร่วงแล้วยังเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ คือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นชนิดที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
ผมร่วงแบบเป็นหย่อมนี้ปกติมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร อาจแลดูคล้ายเหรียญบาท หนังศีรษะจะเรียบปกติ ไม่มีอาการบวมแดง หรือมีสะเก็ด และไม่มีแผลเป็น ความรุนแรงของโรคสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับคือ
- Alopecia areata – จะมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ อาจมีจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้
- Alopecia tatalis – ผมร่วงมากจนทั่วทั้งศีรษะ
- Alopecia universalis – ผมร่วงทั่วทั้งตัวตั้งแต่ ศีรษะ, ขนคิ้ว, ขนตามตัว, ขนรักแร้
และพบว่าโรคนี้อาจเป็นซ้ำได้ และความเครียดบางครั้งก็อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามสาเหตุของผมร่วงก็มีหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็รักษาให้หายขาดได้ เช่น ผมร่วงจากการติดเชื้อ
√ วิธีการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม
- ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย คือเป็นเพียงแค่จุดเดียวเล็กๆ และไม่มีการลุกลามของโรค สามารถปล่อยไว้ให้ผมงอกกลับขึ้นมาเองได้ภายในระยะเวลา 2-3 เดือน แต่หากกังวลมากอาจใช้ยาทาประเภท steroid ร่วมด้วยแต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์
- ในรายที่เป็นไม่มาก แต่มีการลุกลามของโรค (มีการขยายตัวของโรค) การรักษาจะมีการฉีด steroid เข้าไปบริเวณโรคเพื่อหยุดยั้งการลุกลามของอาการผมร่วง และทำให้ผมงอกมาใหม่บริเวณที่เคยร่วงไป
- ในรายที่เป็นขั้นรุนแรง (tatalis หรือ universalis) การใช้ยาทาเฉพาะจุดจะไม่สามารถรักษาได้จะต้องใช้การรับประทานยาจำพวก steroid หรือ cyclosporix แต่ทั้งสองชนิดนี้จะต้องรักษาโดยแพทย์และต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ นพ.ประวิตร ยังกล่าวอีกว่า การรักษาผมร่วงแบบเป็นหย่อมอาจค่อนข้างยาก ในบางรายอาจเป็นซ้ำซากทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป นั่นอาจยิ่งทำให้ผมร่วงมากขึ้น โรคผมร่วงมีความสัมพันธ์กับจิตใจโดยโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อมอยู่ในกลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังโดยตัวเองอยู่แล้ว แต่ปัจจัยทางอารมณ์และความเครียดกระตุ้นให้โรคกำเริบ และยังอยู่ในกลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วยเพราะมีลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจ
ถึงแม้จะอยู่ในช่วงวัยเด็ก แต่หากเกิดปัญหาเกี่ยวข้องกับเส้นผม พ่อแม่ไม่ควรปล่อยปะละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะไม่เช่นนั้น ปล่อยเกี่ยวกับเส้นผมเพียงเล็กน้อย อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยากเหมือนกัน
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เช็กพัฒนาการตามวัยของลูก! กับคู่มือสำหรับส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด -5 ปี
- 10 เทคนิคพาเจ้าเตาะแตะไปตัดผม ให้ราบรื่น
- โกนผมไฟ ประเพณีไทยทำอย่างไรให้เป็นมงคล?
- ทำกิ๊บติดผมสุดน่ารัก แบบง่ายๆ ให้ลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 376 (www.doctor.or.th/article/detail/11022)
ขอขอบคุณ นพ.สมศักดิ์ ภักดีวงศ์ นายแพทย์ประจำนครหลวงการแพทย์ – คลีนิกรักษาผมร่วง คลินิกปลูกผม (www.xn--12cfan1gua9andn3au6hqayo84a.com/2016/06/alopecia.html)