ยาในกลุ่มจำพวกนี้ ที่ใช้กันบ่อย และนิยมใช้กันโดยมีชื่อทางการค้า ได้แก่ ยา aerius zyrtec pseudoephedrine dimetapp เป็นต้น โดยชื่อยาดังกล่าวที่หยิบยกมานี้เป็นยาที่นิยมใช้ในเด็ก เป็นยาลดน้ำมูก แก้คัดจมูก แก้แพ้ทุกตัว แล้วแบบนี้พ่อแม่จะเลือกใช้ยาตัวไหนให้ลูกกันดีละ ขออนุญาตหยิบยกคำตอบจาก รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี หรือหมอใหม่ ที่ได้ตอบคำถามจากทางบ้าน พร้อมทั้งแนะนำหลักการใช้ยาที่ถูกต้องไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวสาระดี ๆ เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้และเด็กอีกมากมาย หากคุณพ่อคุณแม่สนใจสามารถติดตามเรื่องราวสาระอื่น ๆ ได้ที่ คุยกับหมอภูมิแพ้เด็ก by Dr.Mai
กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ที่คุณแม่ทางบ้านได้หยิบยกมาถาม มี 4 ตัวอย่างที่คุณพ่อคุณแม่นิยมให้ลูกรับประทานกัน ได้แก่ aerius zyrtec dimetapp pseudoephedrine คุณหมอขอจัดกลุ่มยาทั้ง 4 ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.ยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงน้อย หรือไม่ง่วงเลย (aerius และ zyrtec)
เป็นยาแก้แพ้รุ่นใหม่ second generation antihistamine (ยา antihistamine รุ่นที่ 2) หลังจากรับประทานแล้ว ตัวยาสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้น้อย เช่น zyrtec (กลุ่มยารุ่นที่ 2 cetirizine) ผู้ที่ใช้ยาบางคนจึงมีอาการง่วงเล็กน้อย แต่บางคนก็ไม่ง่วงเลย เป็นยาแก้แพ้ที่เมื่อรับประทานแล้ว ตัวยาจะผ่านเข้าสู่สมองได้น้อยมาก จนสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นักบินใช้ได้ เช่น aerius (กลุ่มยารุ่นที่ 3 desloratadine) เพราะรับประทานแล้วไม่ง่วง
**ยาแก้แพ้รุ่นใหม่นี้ไม่มีฤทธิ์ในการลดน้ำมูกในกรณีติดเชื้อ จึงไม่ได้ใช้รักษาโรคหวัด** ดังนั้นการทานยากลุ่มนี้เวลาเป็นหวัด สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์โดยตรง
2.กลุ่มยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมาก ผสมกับยาแก้คัดจมูกในขวดเดียวกัน (dimetapp)
ยาแก้แพ้รุ่นเก่า เป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง ผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึมได้มาก เพราะหลังจากรับประทานแล้วตัวยาสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้มาก ยากลุ่มนี้จึงห้ามใช้ในผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือขับรถ ส่วนในเรื่องสรรพคุณในการลดน้ำมูกนั้น จะช่วยให้จมูกแห้ง จึงใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ในผู้ใหญ่ และเด็กโตได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้รักษาอาการหวัดในเด็กเล็ก เช่น ทารก เพราะจะทำให้เสมหะข้นเหนียว เกิดอาการไอมากขึ้น หรืออาจอุดกั้นทางเดินหายใจ และยังทำให้ซึมได้
***ในเด็กเล็ก ทารก ที่มีอาการหวัด คัดจมูก ควรใช้วิธีการรักษาด้วยการล้างจมูก ดูดน้ำมูก หรือหยดยาลดอาการจมูกบวมในช่วงสั้น ๆ ดีกว่ารับประทานยาลดน้ำมูก ***
3.ยาแก้คัดจมูก ลดจมูกบวม หูอื้อ (pseudoephedrine)
เป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ใช้รักษาอาการคัดจมูก แน่นในหู หูอื้อ จากการเป็นไข้หวัด หรือใช้ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ในช่วงที่มีอาการคัดจมูกมาก ยาซูโดเอฟีดรีน เป็นยาที่สามารถกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว มีผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ใจสั่น มือสั่น นอนไม่หลับ สับสน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และความดันโลหิตสูงได้ จึงไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้จะเป็นยาที่รักษาอาการคัดจมูกได้ดีมาก แต่สามารถใช้ได้เป็นครั้งคราว และควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษภายใต้การดูแลของแพทย์ ประกอบกับสูตรโครงสร้างของยาซูโดเอฟีดรีนใกล้เคียงกับแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เคยมีผู้นำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า ส่งผลให้ยาซูโดเอฟีดรีนจึงถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่อนุญาตให้ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน โดยเป็น “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาทประเภท 2” โดยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ ยังสามารถรับยาได้จากสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
***หากมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ต้องใช้ซูโดเอฟีดรีนติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจ หาสาเหตุของอาการคัดจมูกเรื้อรัง และรักษาที่สาเหตุนั้นๆ ดีกว่า
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดมีหรือไม่
เมื่อมีอาการ หรือป่วยเป็นโรคไข้หวัดแล้ว การดูแลตัวเองและรับประทานยาให้หายจากโรคเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในขณะที่เรายังไม่ได้รับเชื้อ การป้องกันดูแลไม่ให้ร่างกายติดเชื้อเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฎิบัติต่อเนื่อง การฉีดวัคซีนเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง โรคไข้หวัดสามารถเกิดจากไวรัสหลายชนิด การทำวัคซีนเป็นไปได้ยาก จึงยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ วัคซีนที่ควรฉีดคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ฉีดได้ทุกช่วงอายุ และควรฉีดทุกปี โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ นอกจากวัคซีนแล้วการดูแลตัวเอง และลูกน้อยให้ห่างไกลโรคก็เป็นส่วนช่วยให้หลีกหนีจากอาการที่แสนทรมานของไข้หวัด และภูมิแพ้ทางเดินหายใจได้เช่นเดียวกัน
ข้อแนะนำในการดูแลร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด
1. ทำร่างกายให้อบอุ่น โดยเฉพาะหน้าฝน ควรพกร่ม หรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ ถ้าหากเปียกฝนรีบเช็ดตัวให้แห้งเร็วที่สุด ไม่ให้โดนอากาศเย็น
2. ควรเลี่ยง ฝุ่น ควัน รวมถึงควันรถ ควันบุหรี่ด้วยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ทางเดินหายใจอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อไข้หวัดได้ง่ายขึ้น
3. ไม่ควรอยู่ในที่แออัดที่อากาศถ่ายเทไม่ดี หรืออยู่ร่วมกับคนที่เป็นไข้หวัด จะทำให้ติดไข้หวัดได้ง่าย ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยรับประทานอาหารให้เพียงพอ และถูกสัดส่วน รวมทั้งออกกำลังให้เพียงพอ
4. ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.siphhospital.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
enterovirus คือ เชื้อ โรคมือเท้าปาก ชนิดรุนแรงข่าวดีมีวัคซีนป้องกันแล้ว!!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่