ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!

event

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวอากาศจะเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน อุณหภูมิลดต่ำลงมากๆ หรือแม้แต่ช่วงเดือนมีนาคม ต้นฤดูร้อนที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจเป็นเหตุให้เด็กๆ หลายคนมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนได้ง่ายขึ้น เป็นเหตุให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ต้องรีบมาซื้อ ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก เพื่อลดอาการตัวร้อน มาติดบ้านไว้ ด้วยความเป็นกังวลในอาการไม่สบายของเด็ก

ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อ ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องการซื้อยาลดไข้ให้ลูก ก็มักจะสอบถามกับเภสัชกร ว่า เลือกใช้ยาตัวไหนดี…ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กที่มีในท้องตลาดและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป คือ ยาน้ำพาราเซตามอล (paracetamol) ยานี้จัดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงหากใช้ตามปริมาณที่กำหนด คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วไป ตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หรือแม้กระทั่งร้านขายของชำในหมู่บ้านหรือละแวกบ้าน

ขนาดของยาที่ควรใช้

การเลือกใช้ยาแต่ละประเภทและการป้อนยาให้เด็กในปริมาณเท่าไรในแต่ละครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาปริมาณการให้ยาลูกโดยดูจากคำแนะนำข้างกล่อง หรือจากฉลากของยา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะบอกโดยคร่าวๆ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 2  ปี ควรกินครั้งละ… ช้อนชา เด็กอายุประมาณ…ปีควรกินครั้งละ…ช้อนชา แต่จากคำแนะนำดังกล่าว เป็นเพียงปริมาณการให้ยาโดยเฉลี่ยกับเด็กส่วนใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กแต่ละคนย่อมมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไป แม้ว่าจะอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันก็ตาม

ดังนั้นเวลาไปซื้อยา เภสัชกรจึงมักสอบถามถึงน้ำหนักตัวลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลักก่อน เพื่อสามารถคำนวณปริมาณของตัวยาที่จะให้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยปริมาณหรือขนาดยาที่จะให้แต่ละครั้งก็คือ ตัวยาพาราเซตามอลปริมาณ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม ดังนั้นไม่ว่าเด็กจะมีอายุเท่าใด หากน้ำหนักตัวเท่าๆ กัน คือ ประมาณ 16 กิโลกรัม ก็ควรจะกินยาเท่ากันคือ ประมาณ 160-250 มิลลิกรัมต่อครั้ง

ทั้งนี้ยาน้ำลดไข้ ก็มีอยู่หลายรูปแบบทั้ง น้ำใส น้ำข้น และแบบหยด ซึ่งปัจจุบันยาน้ำลดไข้แก้ตัวร้อนสำหรับเด็ก ที่มีตัวยาหลักคือ พาราเซตามอลนั้น มีให้เลือกมากมายหลายแบบ ตั้งแต่ยาน้ำเชื่อมใสที่ใช้หยอดใส่ปากเด็ก ยาน้ำเชื่อมใสที่กินเป็นช้อนชา และยาน้ำเชื่อมชนิดข้นที่เภสัชกรเรียกว่ายาน้ำแขวนตะกอน ยาเหล่านี้ยังมีความแรงหรือความเข้มข้นของตัวยาพาราเซตามอลแตกต่างกันออกไป … แต่ที่สำคัญคือ ในการเลือกใช้ ก็ให้เลือกใช้ตามขนาดน้ำหนักตัวของเด็ก และเลือกรสชาติตามความชอบของเด็กแต่ละคน ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องเป็นคนบอกเภสัชกรที่ร้านยาให้ทราบ จะได้หยิบยาได้ถูกใจ

ส่วนผสมยาน้ำลดไข้

ยาน้ำเชื่อมทั่วไปรวมทั้งยาน้ำเชื่อมแบบหยดจะเป็นยาที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมในปริมาณสูง เพื่อช่วยในการกลบรสขมของยา จึงอาจมีผลทำให้เด็กฟันผุได้ง่ายและไม่เหมาะกับเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก และยาลดไข้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ควรมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คุณแม่สามารถขอแนะนำจากเภสัชกรให้เลือกใช้ยาน้ำสูตรไร้แอลกอฮอล์ Free Alcohol

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เวลาการให้ยา ให้อย่างไร ?

การให้ยาที่ถูกต้องคือทุกๆ 4-6 ชั่วโมง เมื่อหายไข้ให้หยุดยาได้ ตัวพาราเซตามอลเองจะออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างช้า ไข้จะลดลงภายหลังรับประทานยาประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างรอให้ยาออกฤทธิ์ ควรระมัดระวังไม่ให้ไข้ขึ้นสูงเกินขนาด ด้วยการหมั่นเช็ดตัวบ่อยๆ หากให้ยาและเช็ดตัวให้แล้วอาการไข้ของลูกยังไม่ลดลง ไม่ควรให้ยาเกิน 5 ครั้งต่อ 1 วัน หรือทำซ้ำอยู่เช่นนั้นเพื่อหวังให้ไข้ลดลง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับ และไตจนทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ในกรณีเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน

นอกจากการใช้ยาเพื่อช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อนให้แก่เด็กแล้ว ขอแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลเด็ก ควรให้เด็กได้พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ และมากๆ และกินอาหารที่มีประโยชน์ และในกรณีที่มีไข้สูง (มากกว่า 39 องศาเซลเซียส) ควรเช็ดตัวให้เด็กอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่เด็กเคยมีประวัติของโรคลมชักเมื่อไข้สูง ควรได้รับยากันชักตลอดเวลาที่เด็กมีไข้ และในกรณีที่เด็กเคยมีประวัติของโรคหืดหอบ เมื่อเป็นไข้โดยเฉพาะไข้หวัด อาจชักนำให้เด็กมีอาการจับหอบได้ จึงควรระวังในสองกรณีดังกล่าวนี้ด้วย ถ้าเด็กเป็นไข้ติดต่อกันเกินมา 3-5 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรแนะนำให้พาเด็กไปพบแพทย์

ทั้งนี้ Amarin Baby & Kids จึงแนะนำ ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกพิจารณาให้ลูกทานกันค่ะ

อ่านต่อ >> “เปรียบเทียบยาน้ำลดไข้สำหรับเด็ก ที่คุณแม่หาซื้อได้” คลิกหน้า 2

ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก

Summary
Review Date
Reviewed Item
ยาลดไข้ สำหรับเด็ก ไทลินอล , นูโรเฟน , ซาร่า , เทมปร้า , พานาดอล , โลเทมป์
Author Rating
51star1star1star1star1star

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up