คนในครอบครัวต้องปฏิบัติเป็นทิศทางเดียวกัน ถึงจะแก้ไขพฤติกรรมเด็กเล็กได้
หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ มาดูกันว่าลูกเรามีพัฒนาการอะไรดีขึ้นมาบ้าง ซึ่งหลังจากกลับจากโรงพยาบาล แล้วก็ได้รับคำแนะนำจากคุณพยาบาลมาค่ะ
คราวนี้จะเล่าว่าหลังจากได้ฟังพยาบาลสรุปพร้อมคำแนะนำมาแล้วเราทำอะไรกับลูกบ้าง อีกหนึ่งอย่างที่พยาบาลให้มาเป็นการบ้าน คือ หาสมุดมาจดว่าแต่ละวันลูกเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้เราคิดว่ายากพอๆ กับคิดหากิจกรรมมาเล่นกับลูกเลยค่ะ เพราะเราเลี้ยงลูกไปแต่ล่ะวันมันก็เหมือนกับอะไรเดิมๆ ที่เป็นกิจวัตร ตื่นมาทำกับข้าว ส่งไปโรงเรียน มาดูแลร้าน ไปรับลูก พาลูกเข้านอน มันเลยทำให้ในตอนแรกเราคิดว่าจะเขียนบันทึกอะไรส่งพี่พยาบาลดี เลยสรุปได้ว่าไหนๆ เราก็ต้องลงมาเล่นกับลูก มาฝึกลูกอยู่แล้ว ก็ขอทำเป็นตารางเลยแล้วกัน ว่าวันนี้เล่นอะไรบ้าง ผลการเล่นเป็นอย่างไร
อันดับแรกเลย คือ เราคุยกับคุณยายค่ะ อันนี้มีน้องสาวช่วยพูด เพราะเราไม่แน่ใจว่าถ้าเราพูดคนเดียวคุณยายจะรับฟังมากน้อยแค่ไหน เพราะเรากับคุณยายเลี้ยงกันแค่สองคน น้องสาวก็ไปๆ มาๆ ว่างๆ ถึงได้มาเยี่ยม ก็คุยกันว่าพยาบาลบอกมาอย่างนี้นะ ต่อไปห้ามให้หลานดูการ์ตูน คุณยายก็รับฟังดีค่ะ ขอย้อนความนิดนึงวันที่ไปพบพยาบาลครั้งแรก บอกคุณยายก่อนไปหนึ่งวันเพื่อป้องกันการถามคำถาม และการโน้มน้าวจิตใจให้ไม่ต้องพาลูกไป เราก็ตีมึนเลยค่ะ บอกเสร็จปุ๊บปั๊บ วันต่อมาพาลูกไปเลย ก็บอกคุณยายว่านอกจากงดการ์ตูนแล้ว ต้องให้ความสนใจเขามากขึ้น เรื่องตีเรื่องดุก็ต้องงด เพื่อการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกันของบ้าน ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นว่าเราสอนอย่าง คุณยายทำกับหลานอีกอย่าง เด็กสับสนค่ะ คุยกับผู้ใหญ่เสร็จคราวนี้ก็ถึงตาเด็กบ้าง สิ่งที่เราจะฝึกลูก พร้อมกิจกรรม อันนี้ขออธิบายเป็นข้อๆ เลยนะคะ
- เราปรับเรื่องการพูดของลูกก่อนเลย คือกับลูกเราฟังเขารู้เรื่อง เป็นเพราะเราอยู่กับเขาตลอด แต่พอเขาไปพูดกับคนอื่นเขาคุยไม่รู้เรื่องค่ะ พูดไม่มีตัวสะกด อันนี้พยาบาลแนะนำว่าเวลาพูดให้เขามองปากเรา ออกเสียงให้ลูกดูช้าๆ ชัดๆ คำไหนเขาออกเสียงผิดให้แก้ให้เขาพูดให้ถูก เราก็ซื้อหนังสือมาให้เขาเป็นหนังสือ กอ ไก่ เอบีซี หนังสือผลไม้ ผัก สัตว์เลี้ยง ผลปรากฏว่า คุณลูกชายถือหนังสือมาให้ท่องกอไก่ทุกเช้าเลยค่ะ แล้วก็เริ่มพูดชัดขึ้น อีกหนึ่งวิธีที่เราปรับเรื่องการพูดของเขาคือ เราพยายามคุยกับเขาให้มากที่สุด เย็นไปรับถามว่าวันนี้เรียนอะไร ลูกบอกไม่เรียนเล่น ตอนเที่ยงกินข้าวกับอะไร ลูกเราบอกไม่ๆ พอ อิ่มแล้ว คือ บางครั้งเขาก็คุย ตอบตามเรื่องตามราวของเขานะคะ หน้าที่เราคือมีอารมณ์ร่วมไปกับลูกให้เขารู้สึกว่าเราสนใจ เรารู้สึกเหมือนที่เขารู้สึก เขาก็จะอยากเล่าอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เราไม่เคยถามลูกเลย อาจเป็นเพราะที่บ้านก็ต่างคนต่างอยู่ คุยกันเมื่อจำเป็น ไม่คุยเรื่อยเปื่อย ทำให้เราติดนิสัยไม่คุยอะไรมากมาย ถามคำตอบคำ มันส่งผลมาถึงว่าเราไม่คุยกับลูก วันแรกๆ เขาก็ไม่ค่อยตอบนะคะ พอคุยไปทุกวันๆ เขาเริ่มตอบมากขึ้น เริ่มบอกได้ว่าเพื่อนชื่ออะไร อันนี้มีในแบบทดสอบซึ่งลูกเราตกค่ะ เขาบอกชื่อเพื่อนไม่ได้ คราวนี้พอเราคุย ถามเขาทุกวัน ตอนนี้บอกชื่อเพื่อนได้แล้ว ถึงแม้จะออกเสียงไม่ชัดเจนเท่าไรก็ยังพอฟังรู้เรื่อง
- งดมือถือ การ์ตูน แท็บเล็ต บ้านเรางดขาดเลยค่ะ ไม่มีการค่อยเป็นค่อยไป หักดิบเลย โชคดีที่ลูกเราก็ไม่ถามหาเลยอาจเป็นเพราะว่าพอเรางดการ์ตูนเขา เราก็ลงมาเล่นกับลูกแทน อันนี้พยาบาลก็กำชับมาเลยว่าให้เล่นกับลูก คิดหนักพอๆกับเขียนบันทึกส่งพยาบาลเลยค่ะ จะเล่นยังไง?
- จากข้อ 2 ที่บอกว่าให้เล่นกับลูก เราก็เริ่มมาคิดกิจกรรมให้ลูกล่ะ อ่ะลูกทดสอบตกข้อไหนบ้าง อย่างเช่น พยาบาลชี้รูปสัตว์แล้วลูกตอบไม่ได้ เราก็ซื้อหนังสือมาให้พาชี้ พาออกเสียงฝึกการพูดไปด้วย ฝึกลูกให้รู้จักสิ่งต่างๆ ไปด้วย อันนี้ได้สองเด้งค่ะ หนังสือเราไม่เน้นแพงนะคะ เอาให้รูปภาพน่าสนใจ และที่สำคัญดูแล้วน่าจะทนมือคุณลูกได้ด้วยค่ะ ต่อไปที่ทดสอบไม่ผ่านคือ ต่อบล็อกไม้ให้สูงค่ะ อันนี้ไม่แน่ใจว่าลูกไม่เข้าใจคำสั่งหรืออะไร ทั้งๆ ที่อยู่บ้านก็มีบล็อกไม้ อันนี้สมนาคุณจากคุณตาเมื่อนานมาแล้ว เป็นแม่ที่ไม่ลงทุนกับของเล่นลูกค่ะ เพราะคุณลูกเล่นแรง อะไรก็พัง เน้นถูกและทนไว้ก่อน วิธีฝึกคือ อธิบายคำสั่ง แล้วทำให้ดูว่าต้องทำยังไง เหมือนเป็นการติวเข้มอันไหนตกเราแก้ แต่ผลลัพธ์มันไม่ใช่แค่ลูกทดสอบผ่านแต่มันหมายถึงลูกมีสมาธิดีขึ้น นอกจากนี้ลูกเรายังบอกสีไม่ได้ค่ะ อันนี้แบบไม่ได้เลย เหมือนจะสับสนกับชื่อสีภาษาอังกฤษด้วย เนื่องจากดูการ์ตูน เราก็ให้เล่นแยกสีกระดุม ให้ดูว่าแต่ล่ะสีต่างกันนะ สีนี้เรียกว่าอะไร ตอนนี้ก็ยังมีสับสนบ้างค่ะ แต่ก็ดีขึ้น แล้วกิจกรรมที่เขาจะชอบมากคือเล่นอะไรที่ต้องออกแรง เตะบอล โยนบอล ว่ายน้ำ พวกนี้จะเล่นได้เป็นชั่วโมง กิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ให้เรากับลูกมีส่วนร่วมด้วยกัน ให้ลูกเลือกเองว่าจะเล่นอะไร เล่นแบบไหน แล้วก็พยายามให้ลูกเล่นให้ได้นานที่สุด ฝึกไปเรื่อยๆ จนตอนนี้ลูกเราเริ่มนิ่งขึ้น เริ่มฟังมากขึ้น ไม่โดดจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีปั้นแป้งโดว์ แล้วก็ให้เขาช่วยงานบ้านที่เขาพอช่วยได้นอกเหนือจากงานที่เขาได้รับผิดชอบ คือพยายามให้เขามีส่วนในทุกกิจกรรมค่ะ
- อีกข้อที่สำคัญคือ เรื่องการใช้ความรุนแรงค่ะ ยอมรับว่าตีลูกด้วยอารมณ์บ่อยมาก หลังจากพบพยาบาล อันนี้ไม่รู้ฝึกลูกหรือฝึกเรา เราก็พยายามใจเย็นกับลูกมาขึ้น ผลจากการไม่ตีลูก แต่ไม่ใช่เราไม่ดุนะคะ มีดุ มีงดของชอบ มีนั่งเข้ามุมไทม์เอ้าท์อันนี้แบบสุดๆ จริงถึงใช้ ปรากฏว่าครูที่โรงเรียนแจ้งผลว่าลูกเราไม่แกล้งเพื่อนแล้ว แต่วันนั้นไปเห็นลูกเรานั่งเล่นชิงช้าอยู่ เพื่อนเข้ามาลากลูกเราลงไปนั่งกับพื้นเลย เราก็ดูลุ้นว่าลูกจะทำยังไงต่อ เตรียมเข้าชาร์จ เพราะหนึ่งเพื่อนดึง สองเพื่อนแย่งเล่น ปกติเขาจะหวงมากอะไรเล่นอยู่ใครจะมาแย่งไม่ได้ ในใจคิดมีสวนคืนแน่ๆ แต่ปรากฏว่าลูกนั่งนิ่งเลย จนครูหันมาเห็น เขาก็ไม่ร้องนะ ไม่ตีเพื่อนคืนด้วย อันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จค่ะ
หลักๆ ที่เราฝึกลูกก็มีประมาณนี้ค่ะ ต่อไปก็จะเล่าถึงวันพบพยาบาลครั้งที่ 2
พบพยาบาลครั้งที่สอง
ครั้งนี้เราพาคุณยายไปด้วยค่ะ ตอนแรกก็มีอิดออดบ้าง แต่เราให้เหตุผลว่าเนี่ย นัดตอนบ่ายสาม ตอนนี้เที่ยงกว่าแล้วยังไม่หลับเลย ขับรถเองอีก เดี๋ยวมากวนช่วงเวลาอันตรายเลยบ่ายโมงบ่ายสอง สุดท้ายคุณยายยอมไปจนได้ คือเราอยากให้คุณยายมาเห็นว่าเราทำอะไรบ้าง กลับมาแล้วต้องทำยังไงต่อบ้าง อะไรที่เราสอนเขาผิด อะไรที่ทำแล้วดีอยู่แล้ว คือพบหมอด้านนี้ต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดไม่อย่างนั้นรักษาไปเท่าไรก็คงไม่ได้ผล
เข้าห้องพบพยาบาลคุณลูกก็นำหน้าไปเลยค่ะ จำได้ด้วยว่าห้องไหน จำได้ด้วยว่าจะมีของเล่น มีโต๊ะ คราวนี้มีของเล่นใหม่เป็นตัวตุ๊กตาเล็กๆ สิบกว่าตัว พยาบาลก็ให้เอาตุ๊กตามาต่อแถว ทำโน้นนี่นั้น ลูกก็ทำได้ ลูกก็เล่นไป พยาบาลก็ซักถามไปด้วยว่าไปทำอะไรมาบ้าง พยาบาลบอกว่าเท่าที่สังเกต(มีทดสอบซ้ำช่วงหลังช่วงแรกเป็นการให้เล่น เพื่อเช็กปฏิกิริยา ทดสอบอารมณ์ด้วยค่ะ) น้องดีขึ้น นิ่งขึ้น แต่แปลกปากเขาหัวเราะแต่ตาเขาไม่หัวเราะด้วย ไม่ใส ก็เล่นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดนึงที่ลูกกวาดตุ๊กตาตัวเล็กๆ ลงพื้น ครั้งแรกยอมเก็บขึ้นโดยดี ครั้งที่สองไม่เก็บ คุณยายก็ดุ สั่งให้เก็บ พร้อมกับพูดขึ้นว่า “เก็บเร็วลูก คนเก่ง เก็บของเล่นนะครับ” เราก็ดุซ้ำ ลูกคลานไปหายายเพราะตอนนั้นเขาเล่นที่พื้นอยู่ ก็ร้องไห้ขึ้นมาทันที เตรียมจะให้คุณยายโอ๋ ยายก็เตรียมโอ๋เลยค่ะ พยาบาลบอก คุณยายเชิญข้างนอกก่อนนะคะ พร้อมกับให้ลูกมาหาเรา เราก็บอกลูก นี่หนูโกรธใช่ไหม หนูโกรธที่แม่ดุ รู้ไหมทำไมแม่ดุเพราะหนูเทของลงพื้นแล้วไม่เก็บไงลูก เขาก็หยุดร้องแล้วเก็บของขึ้นมาไว้บนโต๊ะเหมือนเดิม รู้ไหมคะว่าคุณยายทำผิดตรงไหน ตรงที่พูดว่าคนเก่งในขณะที่หลานทำไม่ถูกค่ะ อันนี้พยาบาลอธิบายว่าทำให้เด็กสับสนว่าที่ทำอยู่ผิดหรือถูก ทำไมแม่ดุแต่ยายบอกว่าคนเก่ง เอ๊ะหรือที่ทำถูกต้องแล้ว งั้นทำต่อไปเลยแล้วกัน สิ่งที่เราต้องทำคือ บอกลูกให้ทำอะไรก็ตามให้เสร็จ ถ้ามีต้องดุก็ดุก่อนเลย เมื่อเขาทำอะไรเรียบร้อยแล้ว หรือถ้าเขาร้องไห้ก็ให้ปลอบพร้อมอธิบายก่อน เมื่อเขาทำเสร็จจึงค่อยชม ไม่ชมในขณะที่เขายังทำไม่ถูกต้อง อันนี้ข้อมูลใหม่สำหรับเราเลยค่ะ หลังจากเก็บอะไรเสร็จก็มาทดสอบกันต่อ คราวนี้ลูกเราทดสอบผ่านหลายข้อมาก ที่ยังไม่ผ่านก็อย่างเช่น บอกสี ผ่านแค่สีเดียว ยื่นยกขาหนึ่งข้างอันนี้เหมือนลูกยังไม่เข้าใจคำสั่ง นอกจากนี้ก็มีทดสอบเพิ่มเติม ให้วาดเส้นตรงๆ เหมือนตอนฝนตก ลูกเราก็วาด วาดเสร็จบอกฝนตกแล้วกลับบ้าน มุดเข้าไปใต้โต๊ะบอกฝนตก หลบฝน จินตนาการของเด็กนี่สุดยอดจริงๆ นะคะ แล้วก็มีตอบคำถาม พยาบาลถามว่าหิวข้าวให้ทำยังไง ลูกเราบอกหิวข้าว ก็อ้ำๆ ถ้าหนาวทำยังไง ลูกเราทำปากสั่นให้ดู
ผลสรุปของการพบพยาบาลครั้งที่สองคือ ลูกเราดีขึ้นเกินคาด พยาบาลบอก คุณแม่เก่งนะเนี่ยทำได้ขนาดนี้ เราเอาบันทึกให้ดู พยาบาลบอกโห้สุดยอดมาก ละเอียด คือเราไม่รู้จะจดยังไงก็ทำตารางให้จดง่ายขึ้นด้านหน้าบันทึกว่าวันนี้ลูกทำอะไร ด้านหลังบันทึกว่าวันนี้พาลูกทำอะไร
คือเราก็หายเหนื่อยขึ้นเยอะเมื่อรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันทำให้ลูกเราดีขึ้น หลายคนบอกเป็นสมาธิสั้นเทียม อันนี้เราไม่ทราบว่าเป็นยังไง แต่เพื่อความสบายใจเราเลือกพาลูกไปเช็กก่อน ครูแจ้งมาประมาณอาทิตย์หรือสองอาทิตย์เราก็พาลูกหาหมอแล้ว มันอาจจะเร็วแต่ระยะเวลาที่เขาสั่งสมมาจนถึงขั้นแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมานั้นเราไม่รู้ว่านานเท่าไร เหมือนไปขอคำแนะนำในการเลี้ยงลูกมากกว่าค่ะ
สำหรับใครที่สงสัยว่าลูกเป็นหรือไม่เป็น ขอบอกตรงนี้เลยว่า พบหมอดีที่สุดค่ะ บ้างครั้งเราก็เข้าข้างลูกบ้างล่ะ เราก็เป็นนะคะ เรื่องแบบนี้เราวิเคราะห์เองไม่ได้ทั้งหมด ต้องคนที่เขาเชี่ยวชาญจริงๆ อันนี้คือความเห็นส่วนตัวของเรา เคยเจอที่มีคนโพสต์ว่าเด็กไม่น่ารัก บางครั้งเราก็กลัวว่าหนึ่งในนั้นจะมีลูกเราอยู่หรือเปล่า แต่ก็อยากให้เข้าใจนิดนึงว่าเด็กก็คือเด็ก บางครั้งเขาทำเพราะไม่รู้แล้วบางครั้งเขาทำเพราะเขาคิดว่าเขาทำถูกแล้วเนื่องจากไม่มีใครที่จะชี้แนะเขาได้ว่าอะไรถูกหรือไม่ถูก ยอมรับว่าที่ผ่านมาละเลยลูกมากเกินไป อยากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านสนใจเขาบ้าง อย่าปล่อยจนเกิดเรื่องแบบลูกเรา ยอมรับอีกครั้งว่าเลี้ยงลูกไม่เป็น ได้แค่ทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเท่านั้น วิธีการที่ดีที่สุดของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน
สุดท้ายก็ขอจบกระทู้นี้ไว้เท่านี้ค่ะ แชร์มาให้เป็นประสบการณ์ว่าพาลูกพบจิตแพทย์มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรเท่าไร อยากให้ยอมรับกันว่าที่เด็กเป็นอย่างนี้ให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเรา เป็นเราเองหรือเปล่าที่ดูแลเขาไม่ดี เข้มงวดเกินไป ปล่อยปะละเลยเขาเกินไป จนเกิดอะไรขึ้นแบบนี้ ปัญหาเด็กทุกปัญหาสาเหตุจริงๆ ก็คงเกิดจากเราๆ ที่เป็นพ่อแม่เด็กนี่ล่ะค่ะ ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน และติดตามนะคะ หลายส่วนเป็นความคิดเห็นส่วนตัวหากไม่ถูกใจใครก็ขออภัยด้วยนะคะ
เป็นอย่างไรบ้างคะอ่านมาถึงตอนท้ายที่คุณแม่เขียนแล้ว สำหรับผู้เขียนได้ข้อคิดในการเลี้ยงลูก รวมถึงพฤติกรรมของคนในครอบครัวที่หากสื่อสารกับเด็กได้ไม่ถูกต้องเขาก็จะซึบซับเอาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปใช้ทำกับคนรอบข้างด้วยเช่นกัน ง่ายๆ ค่ะ ถ้าอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีพัฒนาการที่สมวัย พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากในการเลี้ยงดู และส่งเสริมลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ลูกไฮเปอร์ กับสมาธิสั้น แตกต่างกันอย่างไร?
พ่อแม่สูบบุหรี่ วิจัยชี้! เสี่ยงลูกมีสมาธิสั้นและมีพฤติกรรมในทางลบได้ง่าย
ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องจาก
pantip.com
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1โรคสมาธิสั้น. med.mahidol.ac.th