แม่แชร์ วิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก..Second Opinion และแนวทางการรักษา
วันนี้เราพาน้องเข้าพบหมอผู้เชี่ยวชาญด้าน ASD หรือออทิสติก เพื่อหา Second Opinion ค่ะ
การตรวจครั้งนี้ไม่แตกต่างจาก รพ.แรกมากนัก หมอจะสัมภาษณ์พ่อแม่ พี่เลี้ยงเพื่อถามพฤติกรรมของเราที่มีต่อน้อง พร้อมกับตรวจประเมินพฤติกรรมน้องไปพร้อมๆกัน โดยใช้แบบประเมิน Denver II การตรวจครั้งนี้ใช้เวลาประเมิน 1 ชั่วโมง นิดๆครั้งนี้ก็เช่นกันที่ผลไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก คือพัฒนาการโดยรวมน้องดี บางอย่างอาจเกินอายุ แต่ส่วนที่มีปัญหามาก ๆ เลยคือด้านภาษา เพราะน้องไม่ค่อยสบตา จริง ๆ ตอนตรวจก็สบตาบ้างนะคะ แต่หมอบอกว่าเด็กปกติควรมี Eye Contact มากกว่านี้ หมออธิบายว่า ภาษา ไม่ได้หมายถึงแค่การพูด แต่หมายถึงการสื่อสาร และการปฎิสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย
หมอไม่ฟันธงว่าน้องเป็น ASD หรือไม่ แต่ขอใช้คำว่าเข้าข่าย การประเมินว่าเป็นว่าเป็นไม่เป็นต้องใช้เวลาและการติดตามผลมากกว่านี้ และถ้าหากเป็น น้องจะเป็น ASD ในรูปแบบที่เป็นน้อยมาก และเป็น ASD ประเภท High Functioning การระบุชี้ชัดไปเลยว่าเป็น ASD เหมือนกับเป็นตราที่ตีตัวติดน้องไป
ส่วน TV ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็น ASD แต่จากการวิจัยพบว่าเป็นตัวกระตุ้น หมอไม่แนะนำให้เด็กต่ำกว่า 2 ขวบดูจอทุกชนิด !!!หลังจากการประเมิน เราทำนัดฝึกน้องทันที ซึ่งต้องฝึกกิจกรรมบำบัด (หมอแนะนำให้ฝึกเดี่ยว) และฝึกการพูด และพาน้องไปสมัครเรียนเตรียมอนุบาล
นอกจากนี้ยังย้ายบ้านมาอยู่กับน้องแล้วนะคะ บ้านย่าหลัง เล็กห้องนอนก็เล็ก แต่เรารู้สึกว่าการที่เราได้ย้ายมาอยู่บ้านนี้มันเป็นบ้านหลังเล็กที่มีความสุขเหลือเกิน เมื่อคืนได้นอนกอดลูกที่บ้านย่าเป็นคืนแรก ลูกเราดูตื่นเต้นที่พ่อกับแม่มาอยู่ด้วยที่นี่ ชวนอ่านหนังสือ พร้อมกับเล่านิทานให้เราฟังหลายเรื่อง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่เราก็ตั้งใจฟัง
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้หลัก ๆ คือ
- ลูกต้องการความรักและเวลาจากพ่อแม่ ไม่ใช่เงินหรือสิ่งของ
- ของเล่นที่ดีที่สุดคือพ่อแม่
- ไม่ควรให้เด็กดูจอทุกชนิดก่อน 2 ขวบ
ขอให้เรื่องราวของเราเป็นบทเรียนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีน้องอยู่ในวัยนี้นะคะ เราเองเกือบเสียลูกไป
โชคดีที่เราตัดสินใจพาน้องไปตรวจ ไม่ทิ้งเวลาเนิ่นนานไปกว่านี้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีน้องเข้าข่าย ASD ถ้าเป็นไปได้อยากให้พาน้องไปตรวจนะคะ ถ้าเป็นน้องจะได้รับการรักษาทันที อย่าทิ้งไว้นานเกินไป การรักษาอาจจะใช้เวลานานมากกว่าปกติค่ะขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจที่ส่งให้เรากับน้องนะคะ เราเชื่อว่าน้องจะต้องดึขึ้นในเร็ววัน
และถ้ามีโอกาสและมีเวลาเราจะมาแชร์ประสบการฝึกและผลการรักษาของน้องเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่เผชิญสถานการณ์เดียวกับเรา
ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอขอบคุณคุณแม่ joley ที่อนุญาตให้นำเรื่องราวมาแชร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับแม่ ๆ ทุกท่านนะคะ ขอให้น้องดีขึ้นในเร็ววันค่ะ นอกจากนี้ ทีมงานยังมีวิธีสังเกต อาการเด็กออทิสติก เพิ่มเติมดังนี้
- ทักษะด้านการเข้าสังคม อาการเด็กออทิสติก ต่อการเข้าสังคมนั้นมักจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่คุย ไม่เล่น หรือแบ่งปันของเล่นกับเด็กคนอื่น
- ทักษะด้านการสื่อสาร อาการเด็กออทิสติก จะไม่สามารถสื่อสารผ่านการพูด อ่าน เขียน หรือเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ บางครั้งเด็กอาจลืมถ้อยคำหรือทักษะอื่น ๆ ซึ่งเด็กจะแสดงปัญหาด้านการสื่อสาร เช่น ไม่เข้าใจการสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง ขาดความรู้เรื่องทิศทาง อ่านออกแต่ไม่เข้าใจความหมายของคำ หรือที่เรียกว่าความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านคำพูด นอกจากนี้ เด็กอาจพูดเลียนแบบซ้ำไปซ้ำมาซึ่งเป็นอาการพูดเลียน พูดคุยโต้ตอบเป็นเพลง อาละวาดเพื่อแสดงความไม่พอใจ และไม่สามารถสื่อสารเพื่อบอกความต้องการของตัวเองได้
- พฤติกรรมทั่วไป ได้แก่ ไม่สามารถทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนหลายอย่าง โบกมือไปมา ทุบตี หรือกลอกตาไปมา หัวเสียง่าย ชอบอาหารเป็นบางอย่าง แสดงความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น เล่นของเล่นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของของเล่นนั้น หรือเอาแต่พูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบ
อาการเด็กออทิสติก รู้เร็ว รักษาได้ ดังนั้น หากคุณแม่สงสัยว่าลูกเข้าข่ายการเป็นออทิสติก ควรเข้ารับการประเมินและวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
14 ข้อสำคัญ เพื่อรับมือกับลูกน้อยที่เป็น “เด็กออทิสติก”
10 แบบอย่างที่ดี ที่พ่อแม่ควรทำให้ลูกเห็น
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณแม่ [email protected] / Pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่