อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเตาะแตะ ที่กำลังหัดเดินก็มักจะล้มบ้างเป็นธรรมดา แต่แม่ ๆ ก็อดห่วงไม่ได้ว่า ลูกหัวกระแทกพื้น บ่อยขนาดนี้จะเป็นอันตรายไหมนะ?
ลูกหัวกระแทกพื้น อาการแบบไหนต้องไปหาหมอ?
เอาอีกแล้วค่ะ ลูกชาย วัย 10 เดือน นั่งเล่นอยู่ดี ๆ ก็หมุนตัวจะคลานไปหาแม่ แต่กลับล้มหน้าและหัวกระแทกพื้นอย่างแรงเลยค่ะ สงสารลูกมาก หากจะคอยห้าม จำกัดพื้นที่ไม่ให้คลานหรือเดินไปไหน ก็ดูจะปิดกั้นพัฒนาการเค้าจนเกินไป ควรจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ดีคะ แล้วที่ ลูกหัวกระแทกพื้น บ่อย ๆ จะมีผลทางด้านสมองเค้าหรือเปล่า?
ปัญหาเหล่านี้ รับรองว่าจะต้องเกิดกับแม่ ๆ ทุกคนที่ลูกอยู่ในวัยหัดนั่ง หัดคลาน และหัดเดิน แน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าพอผ่านวัยนี้ไป แม่ ๆ จะหมดห่วงได้นะคะ เพราะเด็กที่เริ่มวิ่งซนได้ เมื่อได้ออกไปเล่นนอกบ้านหรือที่โรงเรียน ก็มีโอกาสที่จะวิ่งชนกับเพื่อน ๆ จนล้มได้เช่นกัน พอจะห้ามไม่ให้วิ่งไม่ให้เดินเลย ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับคำถามที่ว่า ลูกหัวกระแทกพื้น บ่อย ๆ จะเป็นอันตรายหรือไม่ ตอบได้เลยค่ะ ว่าสามารถเกิดอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน (อ่าน ลูกล้มหัวฟาดพื้น อุบัติเหตุใกล้ตัวลูกน้อย) แต่บางครั้งที่ลูกล้ม ก็ดูจะไม่ได้รุนแรงอะไรมาก จะมีวิธีสังเกตได้อย่างไรว่าอาการของลูกหลังจากที่ล้มหัวกระแทกพื้น อาการแบบไหนถือว่าอันตราย ควรที่จะไปหาหมอ? ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงมีวิธีการสังเกตว่าอาการไหนควรรีบไปพบแพทย์ ดังนี้
หลังจากลูกล้ม คุณแม่ควรคอยสังเกตและเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพื่อสังเกตุอาการที่อาจปรากฏเพิ่มเติมหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม หากพบว่าอาการที่เกิดขึ้นแย่ลงมากหรือมีอาการใด ๆ ต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดทันที
- หมดสติ ซึมลง รู้สึกง่วงงุนเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากได้รับบาดเจ็บ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง อ่อนแรงลง
- มีอาการชัก
- มีปัญหาเกี่ยวกับประสาทสัมผัส เช่น สูญเสียการได้ยิน ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน
- ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง
- มีเลือดหรือน้ำใส ๆ ไหลออกมาทางหูหรือจมูก
- มีอาการฟกช้ำบริเวณหลังหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- สูญเสียความทรงจำ เช่น ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังได้รับบาดเจ็บ
- สื่อสารลำบาก พูดไม่ชัด เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดบอกได้ยาก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหรือการอ่าน
- มีปัญหาในการทรงตัว เดินลำบาก
- สูญเสียความรู้สึกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขนขาอ่อนแรง หรือไร้ความรู้สึก
- มีสัญญาณหรืออาการของความเสียหายที่กระโหลกศีรษะหรือการทะลุจากการได้รับบาดเจ็บ
- หงุดหงิดฉุนเฉียว มีพฤติกรรมผิดปกติ หรืองอแงผิดปกติ
ทั้งนี้ หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดกับลูกอาจจะเข้าข่ายอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ก็ควรที่จะไปพบแพทย์เช่นกัน แต่หากไม่มีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรคอยสังเกตอาการจนกว่าจะครบ 24 ชั่วโมง ลูกอาจร้องไห้ออกมาเพราะรู้สึกเจ็บบ้างเป็นธรรมดา แต่อาการเจ็บมักจะค่อย ๆ ทุเลาลง จากนั้นควรหาทางปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บของลูก และหาทางป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุขึ้นอีกครั้ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่