หมอมหิดลแถลง! อันตรายจากรถหัดเดิน ไม่ช่วยให้เดินเร็วและยังอันตรายถึงชีวิต
ทางด้าน แฟนเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict เปิดเผยสรุปแถลงจากมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องรถหัดเดิน โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนี้
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการตายของทารกจากการใช้รถลูกล้อที่เรียกกันติดปากจากความเข้าใจผิดของพ่อแม่ว่า “รถหัดเดิน” ถึงสองรายจากการจมน้ำ และ ถูกรถชน อีกหนึ่งรายบาดเจ็บหนักแต่ไม่เสียชีวิต จากการถูกสุนัขรุมกัด ในความเป็นจริงยังมีการบาดเจ็บอีกจำนวนมากที่ไม่เป็นข่าวจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทารกประเภทนี้
รถพยุงตัวหรือเดิมเรียกรถหัดเดินเป็นอุปกรณ์ที่ยังคงวางขายทั่วไปในห้างสรรพสินค้าและร้านของใช้เด็ก พ่อแม่ในสังคมไทยมีความเคยชินในการใช้เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วมักจะจัดหาให้เด็กเมื่อเด็กอายุ ประมาณ 5-6 เดือน การศึกษาพบว่าพ่อแม่หาซื้อให้เด็กตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 4 เดือน
ร้อยละ 50 คิดว่าจะช่วยให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น
ร้อยละ 40 ให้เหตุผลว่าใช้เพราะผู้ดูแลไม่ว่าง ต้องทำงานบ้านจึงต้องมีที่ที่วางเด็กไว้โดยไม่ต้องดูแลเองซึ่งเป็นเหตุผลที่ตรงข้ามกับข้อควรปฏิบัติในการใช้ทั้งสิ้น
ในต่างประเทศ ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายห้ามมิให้มีการจำหน่ายรถหัดเดินแล้วในบางรัฐให้มีการจำหน่ายพร้อมคำเตือนอันตรายแก่ผู้ซื้อ
ในบ้านเราปัจจุบัน สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เรียกว่า รถพยุงตัวไม่ให้ใช้คำว่า รถหัดเดิน และให้กำกับฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ ให้ผู้ดูแลเด็กรู้ว่าอาจมีอันตราย ต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์นี และไม่ช่วยในการหัดเดิน
รถหัดเดินทำให้เด็กเดินช้าเพราะเมื่อเด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินเวลาจะเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า แต่เวลาเด็กเริ่มเดินจริง กลไกการเดินที่ถูกต้องจะใช้ส้นเท้าลงก่อน ดังนั้นเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินนานหลายชั่วโมงต่อวันเมื่อตั้งไข่ได้ดีแล้วจะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลงซึ่งจะทำให้ท่าทางการเดินทรงตัวได้ไม่ดี
โดยทั่วไปเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินหลายชั่วโมงต่อวันจะเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ประมาณ 1-3 เดือน
ในสิงคโปร์มีการวิจัยในเด็ก 185 คนพบว่าร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ แต่ที่เป็นผลเสียมากกว่านั้นคืออันตรายจากอุบัติเหตุ
จากการวิจัยพบว่าหนึ่งในสามของเด็กที่ใช้รถหัดเดินจะเคยได้รับบาดเจ็บจากรถหัดเดิน อันตรายที่รุนแรงพบได้จากการตกจากที่สูง การพลิกคว่ำจากพื้นที่มีความต่างระดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถหัดเดินในบ้านที่มีหลายชั้นหรือบ้านที่ยกระดับมีใต้ถุนบ้านแล้ว ไม่ได้ทำประตูกั้นหน้าบันได หรือทำประตูกั้นแต่เปิดได้สองทิศทางแล้วเกิดลืมใส่ล๊อคไว้ การตกจากที่สูงจะน้าไปสู่การบาดเจ็บกระดูกต้นคอ บาดเจ็บศีรษะและเลือดออกในสมองทำให้เสียชีวิตได้
การบาดเจ็บอีกชนิดหนึ่งที่รุนแรงคือการบาดเจ็บจากการเข้าสู่จุดอันตราย ความเสี่ยงรอบบ้าน เด็กบนรถหัดเดินจะเคลื่อนที่ได้ไกลและเร็ว เกิดการคลาดสายตาจากพ่อแม่ได้ง่าย เด็กจะวิ่งชนโต๊ะที่วางกาน้ำร้อนอยู่ หรือวิ่งไปพร้อมกระชากสายไฟฟ้าของกาต้มน้ำ น้ำร้อนมักจะลวกเป็นพื้นที่กว้างตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงลำตัวและแขนขา และมีโอกาสจมน้ำในแหล่งน้ำในบ้านหรือรอบ ๆ บ้าน เช่น สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ หรือเพียงแค่คว่ำในอ่างน้ำ ถังน้ำ กะละมัง ก็เป็นเหตุให้เด็กจมน้ำได้ หากเคลื่อนออกพื้นที่ถนนทำให้ถูกรถชน สุนัขกัด เพียงเวลาไม่กี่นาทีที่เด็กคว่ำหรือตกลงในภาชนะเก็บกักน้ำทั้งหลาย ก็จะนำไปสู่การขาดอากาศและเกิดภาวะสมองตาย ยากเกินกว่าการแพทย์จะช่วยแก้ไขได้
การป้องกันที่ถูกต้องคือ “งดใช้รถไม่หัดเดินชนิดมีลูกล้อแบบนี้ !” เนื่องจากหลักฐานการวิจัยที่ผ่าน มาทั้งหมดเชื่อได้ว่ารถหัดเดินจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ “มีประโยชน์น้อย ไม่ช่วยการเดิน แต่มีอันตรายมาก”
ไม่คุ้มค่าในการใช้ หรือเลือกใช้ “รถพยุงตัว ที่ไม่มีลูกล้อ” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่รูปร่างหน้าตาคล้ายกัน แต่ไม่มีลูกล้อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่ ๆ อย่างเรา ก็อยากจะมีตัวช่วยในการวางให้ลูกได้อยู่กับของเล่น โดยที่แม่สามารถไปทำธุระส่วนตัวอย่างอื่นได้บ้าง แต่สิ่งที่ควรคำนึงที่สุดในการหาซื้อตัวช่วยนั้น ๆ คือ ความปลอดภัย ดังนั้น หากต้องการซื้อรถพยุงเดิน ไม่ควรหวังผลว่าจะทำให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น ควรเลือกแบบไม่มีล้อ และไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ในรถพยุงเดินเพียงลำพังเป็นเวลานาน เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากรถพยุงเดินได้บ้าง โดยอุทาหรณ์ในบทความนี้เป็นเพียงอุบัติเหตุอีกอุบัติเหตุหนึ่งที่เกิดขึ้นจากรถหัดเดินเท่านั้น แต่ยังมี อันตรายจากรถหัดเดิน อื่น ๆ อีกมากมายที่อาจเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีที่คุณแม่คลาดสายตาได้เช่นกัน
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รถหัดเดิน อันตราย ! ลูกเดินเขย่งจนต้องทำกายภาพ
4 อุบัติเหตุไม่คาดฝันในบ้าน พ่อแม่ห้ามประมาท
จัดบ้านปลอดภัย ป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเสียชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน, Drama-Addict
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่