ขึ้นชื่อว่า อุบัติเหตุบนถนน แน่นอน ว่าคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง และคนในครอบครัว แต่หากว่าเราประมาทเลินเล่อ สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเหตุการณ์สลด ล่าสุด ที่มีคุณแม่ อุ้มลูกน้อย ขี่มอเตอร์ไซค์ มือเดียว เกิดเสียหลักควบคุมรถไม่อยู่ พุ่งชนต้นไม้ เป็นเหตุให้คุณแม่ท่านนี้เสียชีวิต ส่วนลูกได้รับบาดเจ็บสาหัส จากเหตุการณ์นี้ น่าจะเป็นข้อเตือนใจให้พ่อแม่ ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตของลูก ซึ่งการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของลูกอย่างใกล้ชิด และการให้ลูกได้ใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่เดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้สูงมากเลยละค่ะ
3ข้อเตือนใจแม่! อุบัติเหตุบนถนน ที่มักเกิดขึ้นกับลูก
เรียกว่าเป็น อุทาหรณ์ เตือนใจ อีกหนึ่งเหตุการณ์ อุบัติเหตุบนถนน จากกรณีคุณแม่ วัย 27 ปี และลูกวัย 1 ขวบ ประสบอุบัติเหตุ ขี่รถจักรยานยนต์ชนต้นไม้มีผู้เสียชีวิต จากพยานที่เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ผู้ที่เสียชีวิตชอบนำลูกนั่งด้านหน้าเวลาขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นประจำ โดยผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่าผู้เสียชีวิตใช้มือซ้ายประคองตัวเด็ก ไปพร้อมกับขี่จักรยานยนต์ แต่คาดว่าคงเกิดการเสียหลัก และไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ ก่อนที่จะพลาดท่าวิ่งไปชนกับต้นไม้อย่างจัง จนตัวเองเสียชีวิต ส่วนลูกชายถูกรถจักรยานยนต์ทับสลบหมดสติ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน
นี่ไม่ใช่อุทาหรณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้น และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เราสามารถป้องกันเหตุร้าย ไม่ให้เกิดขึ้นได้ หากเราใส่ใจที่จะระวังตัวสักหน่อย โดยเฉพาะคนที่มีลูกเล็กๆ ไปจนถึงวัยซุกซน หนึ่งในสิ่งสำคัญ ที่เราต้องมอบให้กับลูก คือ ความปลอดภัยในชีวิตของลูก เพราะลูกยังไม่รู้จักวิธีป้องกันตัวเอง จากอันตรายต่างๆ เพราะฉะนั้นเราควรพึงระลึกไว้เสมอ ว่าความปลอดภัยของลูกขึ้นอยู่กับความไม่ประมาทของเราค่ะ
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ในแต่ละปี อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และการถูกรถชน นั้น ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิต สูงเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงการจมน้ำ เท่านั้น โดยในแต่ละปี มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ย ปีละ 2,600 คน และอีกกว่า 72,000 คน ที่ต้องได้รับบาดเจ็บและกลายเป็นผู้พิการ
อุบัติเหตุ จากการใช้รถใช้ถนน ที่แม่ต้องระวัง!
1. กรณีโดยสารรถจักรยานยนต์
ความจริงแล้ว เราไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยสารรถจักรยานยนต์ เพราะเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะได้รับบาดเจ็บรุนแรง และมีผลกระทบต่อร่างกายตลอดทั้งชีวิต แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ควรใช้เป้ หรือถุงจิงโจ้ ที่สามารถรองรับน้ำหนักเด็กได้อย่างปลอดภัย พร้อมใช้มือประคองลำตัวเด็ก (กรณีคนซ้อนท้าย) แต่ต้องระวังไม่ให้ชายผ้าเกี่ยวเข้าไปซี่ล้อรถ ซึ่งผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุ 3-5 ปี เมื่อต้องโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ใหญ่ ควรให้เด็กสวมหมวกนิรภัยที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ และคาดสายรัดคางให้กระชับเสมอ นอกจากนี้ กรณีเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์เพียงสองคนกับเด็ก ควรให้เด็กนั่งอยู่หน้าผู้ใหญ่ ที่ด้านหน้าของผู้ขับขี่เท่านั้น
มีการเปิดเผยสถิติ พบว่าเด็กไทยประมาณ 1 ล้าน 3 แสนคน ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ แต่มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่สวมหมวกนิรภัยขณะโดยสารรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต และบาดเจ็บ
ทั้งนี้ งานวิจัยโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่า การสวมหมวกกันน็อกช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะในผู้ขับขี่ได้ 43 % และผู้ซ้อนท้าย 58%
2. กรณีโดยสารรถยนต์
ทุกครั้งที่ต้องพาลูกเดินทางโดยรถยนต์ คุณพ่อคุณแม่ ควรจัดหาที่นั่งนิรภัยที่มีขนาดเหมาะสมกับวัย รูปร่าง และส่วนสูงของลูก โดยยึดติดไว้บริเวณเบาะด้านหลังรถ และคาดสายรัดที่นั่งนิรภัยให้กระชับตัวลูก หากไม่มีที่นั่งนิรภัย ควรให้ลูกนั่งบริเวณเบาะหลังรถค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ที่สำคัญ ไม่ควรให้ลูกนั่งด้านหน้าข้างคนขับ เพียงลำพังโดยไม่มีอุปกรณ์นิรภัย และ ห้ามให้ลูกนั่งตักขณะขับรถ ตลอดจนไม่ควรให้ลูกคาดเข็มขัดนิรภัยเส้นเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะหากประสบอุบัติเหตุเด็กจะได้รับบาดเจ็บรุนแรง
3. กรณีพาลูกเดินข้ามถนน
บ่อยครั้งที่มักเกิดอุบัติเหตุกับเด็กขณะข้ามถนน หรือเดินบริเวณริมถนน ทำให้เด็กถูกรถชนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น เราสามารถพาลูกเดินข้ามถนน และเดินบริเวณริมถนนอย่างปลอดภัย ดังนี้
- จูงมือเด็กให้แน่น โดยให้เด็ก เดินบนทางเท้าชิดขอบหรือด้านในถนน ในลักษณะเดินเรียงเดี่ยวสวนทางกับรถที่วิ่งมา
- ไม่ให้เด็กประกอบกิจกรรมอื่นขณะอยู่บริเวณริมถนน อาทิ วิ่งเล่น หยอกล้อกัน เล่นเกม เพราะเสี่ยงต่อการถูกรถชนได้
- พาเด็กข้ามถนนในบริเวณที่ปลอดภัย อาทิ ทางม้าลาย สะพานลอย อุโมงค์ทางลอด บริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้าม หรือมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวก
- พาเด็กข้ามถนนบนฟุตบาท พร้อมมองให้รอบด้าน เมื่อรถจอดสนิทหรืออยู่ในระยะไกลจึงค่อยพาเด็กข้ามถนน โดยให้เด็กอยู่คนละฝั่งกับรถที่วิ่งมา แต่ต้องระวังรถที่ขับแซงขึ้นมา อาจทำให้เด็กถูกรถชนได้
- ไม่ให้เด็กข้ามถนนตามลำพัง เพราะเด็กไม่สามารถกะระยะห่างที่ปลอดภัย ระหว่างตัวเองกับรถที่วิ่งมา
- ไม่พาเด็กวิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด เพราะหากเด็กเสียหลักหรือสะดุดล้ม อาจทำให้ถูกรถชนได้
- ไม่พาเด็กข้ามถนนบริเวณที่มีสิ่งบดบัง อาทิ ท้ายรถประจำทาง ปากซอยที่มีรถจอดขวาง เพราะผู้ขับขี่อาจมองไม่เห็น ทำให้ถูกรถชนได้
- กรณีพาเด็กเดินหรือข้ามถนนในช่วงเวลากลางคืน หรือบริเวณเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี ควรให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าสีสว่าง พร้อมเปิดไฟฉายส่องทาง จะช่วยให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้จากระยะไกล และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินข้ามถนนและเดินบริเวณริมถนนของเด็กได้
เรื่องการระวังอุบัติเหตุต่างๆ ที่กล่าวมาทั้ง 3 กรณี ข้างต้น สำหรับ เด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป พ่อแม่อย่างเราสามารถสอนทักษะความปลอดภัยให้เขา เพื่อปลูกฝังให้ลูกรู้จักทักษะการระมัดระวังอุบัติเหตุ ด้วยตัวเอง เช่น ต้องไม่วิ่งเล่นบนถนนที่มีรถวิ่งไปมา ต้องข้ามถนนตรงทางที่กำหนดไว้ เวลานั่งรถจักรยานยนต์รับจ้าง ต้องใส่หมวกนิรภัย หรือ นั่งรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ต้องสอนให้เด็กเข้าใจเหตุผลและสามารถปฏิบัติได้ หากเราไม่สอนหรือทำตัวอย่างไม่ดี ลูกก็จะไม่ปฏิบัติตามค่ะ ทั้งนี้หากเราปลูกฝังและเป็นตัวอย่างที่ดี ลูกจะเป็นเด็กที่มีความฉลาดรอบด้านด้วย Power BQ ทั้งความฉลาดในการคิดเป็น (TQ) และ ความฉลาดดูแลรักษาสุขภาพ (HQ) สามารถป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโรค ภัย ได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.news.ch7.com,wwwthailand.savethechildren.net,www.thaihealth.or.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
4 อุบัติเหตุไม่คาดฝันในบ้าน พ่อแม่ห้ามประมาท
อุบัติเหตุบนรถไฟฟ้า ที่พ่อแม่ควรระวัง
เจ้าหนูวัย 8 ขวบ ควรระวังอุบัติเหตุจากอะไรบ้าง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่