จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกกระดูกหัก หรือไม่ อ่านต่อพร้อมวิธีการ ปฐมพยาบาล ลูกกระดูกหัก ที่พ่อแม่ต้องรู้ เผื่อเหตุฉุกเฉินจะได้รับมือได้ทัน
ลูกกระดูกหัก เรื่องใหญ่แน่หาก ปฐมพยาบาล ลูกกระดูกหัก ไม่เป็น … โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็กที่น่ารักและกำลังอยู่ในวัยซนของคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้ชาย เดี๋ยวกระโดด เดี๋ยวกลิ้ง ตีลังกา ไม่รู้ว่าจะพลาดตอนไหน แล้วถ้าหากพลาดขึ้นมาจริง ๆ จะมีวิธีการสังเกตอาการอย่างไร วันนี้เราจะไปหาคำตอบนั้นพร้อม ๆ กันค่ะ แต่ก่อนที่เราจะไปดูกันนั้น ทราบหรือยังว่า กระดูกหัก นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดด้วยกันดังนี้
- กระดูกเดาะ คือ ภาวะที่กระดูกหักเฉพาะด้านที่ได้รับการปะทะเพียงด้านเดียวเท่านั้น ส่วนอีกด้านก็จะโก่งออกไปตามแรงกด หากคุณพ่อคุณแม่นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงเวลาที่กิ่งไม้สดโดนหัก แล้วอาจจะทำให้นึกภาพออกได้มากขึ้น
- กระดูกหักแบบยู่ หรือย่นด้วยแรงอัด คือ ภาวะที่กระดูกได้รับแรงอัดจนย่นเข้าหากัน แต่ไม่มีการเคลื่อนที่ออกจากกัน
- กระดูกโก่งงอโดยไม่มีรอยหัก คือ ภาวะที่กระดูกโก่งผิดรูปไปจากเดิม โดยไม่แตก หรือไม่มีรอยหักแต่อย่างใด และจะพบได้มากในวัยรุ่นมากกว่าเด็กเล็ก
- กระดูกหักที่บริเวณส่วนปลาย คือ ภาวะกระดูกหักแตกออกเป็นสองท่อนที่แผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนบริเวณส่วนปลายหรือหัวของกระดูกทั้งสองข้างที่ยังเจริญเติบโตได้ตามวัยของเด็กค่ะ หากกระดูส่วนนี้แตกหักและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจจะส่งผลทำให้กระดูกบริเวณนั้น เจริญเติบโตช้ากว่ากระดูกส่วนอื่นในร่างกาย