ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับยุง - Amarin Baby & Kids
ชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับยุง

Alternative Textaccount_circle
event
ชิคุนกุนยา
ชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตในหน้าฝน ที่คุณแม่ต้องระวัง เพราะเป็นโรคที่มาจาก “ยุงลาย” เช่นเดียวกับ โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

โดยสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือ ชิคุนกุนยา ในปี 2563 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน พบผู้ป่วยแล้ว 1,630 ราย ต่อมาถึงวันที่ 5 กรกฎาคม พบผู้ป่วยสะสม 3,258 รายจาก 56 จังหวัด จะเห็นได้ว่า ตัวเลขผู้ป่วยจากโรคชิคุนกุนยา เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในเวลาเพียง 1 เดือน วันนี้ #ทีมแม่ABK จึงมีข้อมูลมาบอกเพื่อให้เตรียมพร้อมในการรับมือกันค่ะ

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับยุง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 3,258 ราย จาก 56 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต
คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และปัจจุบันการพบผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ สามารถพบผู้ป่วยในภาคอื่นๆ ได้เช่นกัน

  • กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 25-34 ปี (18.17%) 35-44 ปี (17.46%) และ 45-54 ปี (16.02%) ตามลำดับ
  • ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ
  • จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ จันทบุรี อุทัยธานี ลำพูน ระยอง ตราด ตามลำดับ
  • มีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และลำปาง จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา : 1 2

 

ชิคุนกุนยา
หน้าฝนต้องระวัง โรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย คืออะไร?

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส  เป็นไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ ยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นติดโรคได้ โดยยุงลายทั้งสองสายพันธุ์นี้ มักเป็นยุงที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมือง และในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามสวน เป็นยุงหากินกลางวัน มีลายขาวดำตามลำตัวและตามขา ชอบวางไข่ในน้ำสะอาด (โดยเฉพาะน้ำฝน) ที่ขังอยู่ในภาชนะต่าง ๆ เช่น กระถางต้นไม้ อ่างน้ำ โอ่งเก็บน้ำ โดยไข่จะเป็นตัวยุงภายใน 7-10 วัน ยุงพวกนี้ชอบอาศัยในบ้าน ใกล้ ๆ บ้าน ในโรงเรียน ในสถานที่ที่มีแสงแดดน้อย หรือ มีร่มเงา และมีอากาศเย็น

โรคชิคุนกุนยา
โรคชิคุนกุนยา มีพาหะจากยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน

คำว่า ชิคุนกุนยา มาจากภาษาถิ่นอาฟริกา ที่หมายความถึง อาการบิดเบี้ยวของข้อ ทั้งนี้เพราะโรคนี้ มีอาการสำคัญ คือ ข้อบวม และข้ออักเสบ จนเกิดการผิดรูป ในประเทศไทย พบว่ามักมีการระบาดในภาคใต้ โดยโรคนี้พบได้ในทุกเพศทุกวัย รวมทั้งทารกในครรภ์เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสนี้ (พบได้น้อย) ไปจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย อาการเป็นอย่างไร?

อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นอาการเฉียบพลัน เกิดภายหลังได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (ถูกยุงลายมีเชื้อกัด) ประมาณ 1-12 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ส่วนใหญ่ประมาณ 2-5 วัน โดยมีอาการหลักคล้ายกับโรคไข้เลือดออก คือ

  • มีไข้ ไข้สูงทันที (อุณหภูมิมักสูงถึง 40 องศาเซลเซียส) แต่บางคนอาจมีไข้ต่ำได้
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดข้อมาก ทยอยปวดทีละข้อ ซึ่งปวดได้หลายข้อ มักเป็นกับข้อเล็ก ๆ เกิดทั้งข้อด้านซ้ายและด้านขวา
  • มีผื่นแดงคล้ายไข้เลือดออกขึ้นในบริเวณลำตัว แต่บางครั้งอาจพบที่แขน ขา ได้ด้ว
  • ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เยื่อตาแดง ตากลัวแสง (เห็นแสงสว่างแล้วน้ำตาไหล) แต่ไม่มาก และอ่อนเพลีย

โดยทั่วไป จะมีไข้อยู่ประมาณ 2 วัน แล้วไข้ลงทันที แต่อาการอื่นๆ จะคงอยู่ต่ออีกประมาณ 5-7 วัน โดยเฉพาะอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือน หรือ บางคนเป็นปี หรือ หลาย ๆ ปี

ไข้ปวดข้อยุงลาย
อาการหลักของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ มีไข้สูง ปวดตามข้อ

โรคชิคุนกุนยา อันตรายหรือไม่?

โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลายเป็นโรครุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้ แต่การปวดข้อ และข้ออักเสบส่งผลถึงคุณภาพชีวิต เพราะอาการปวดข้อเหล่านี้ อาจเป็นอาการเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปีได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะเกิดความรุนแรงมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่น ๆ และระยะเวลาในการเจ็บป่วยจากข้ออักเสบ ก็ขึ้นกับอายุเช่นกัน โดยพบว่า ในเด็กและวัยหนุ่มสาว อาการต่าง ๆ มักหายเองได้ภายใน 5-15 วัน วัยกลางคน อาการมักหายเองได้ภายใน 1-2.5 เดือน แต่ในผู้สูงอายุ จะมีอาการอยู่นานกว่านี้ เป็นหลายเดือน หรือ เป็นปี ๆ นอกจากนี้ อาจพบผู้ป่วยบางราย (โอกาสเกิดได้น้อย) เกิดโรคสมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ หรือ เส้นประสาทอักเสบ ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงบนผิวหนัง ดวงตา ไต หัวใจ หรือระบบประสาทได้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

โรคชิคุนกุนยา มีวิธีรักษาอย่างไร?

โรคชิคุนกุนยา ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค ดังนั้นแนวทางการรักษา จะใช้หลักการเดียวกันกับ โรคไข้เลือดออก คือ การรักษาแบบประคับประคอง และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสชิคุณกุนยา โดยการรักษาประคับประคองตามอาการ คือ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนเต็มที่ โดยไม่แนะนำยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs,Non-steroidal anti-inflam matory drugs) เช่น แอสไพริน และยาลดไข้สูง ไอบูโปรเฟน (Ibruprofen) เพราะจะเพิ่มโอกาสเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ได้

วิธีการป้องกัน โรคชิคุนกุนยา

การป้องกันยุงกัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคที่เกิดจากยุง เนื่องจากโรคที่เกิดจากยุงนั้นไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับเชื้อจากยุงที่เป็นพาหะ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค คือ “ป้องกันไม่ให้ยุงกัด” โดย กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ประชาชนให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เพื่อป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า โดยมีหลัก 3 เก็บดังนี้

  1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

นอกจากนี้ ยังควรจัดหาและใช้อุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น มุ้ง มุ้งลวด เพื่อป้องกันยุงกัด และใช้ยาทากันยุง ถ้ามีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านหรือไปในที่เสี่ยงต่อยุงชุกชุม ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดอีกด้วย

ชิคุนกุนยา
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดของโรคชิคุนกุนยาคือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคชิคุนกุนยา นี้แปลเป็นภาษาไทยว่า “เจ็บจนตัวงอ” ซึ่งแสดงถึงสภาพของคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ ว่าจะได้รับความเจ็บปวดขนาดไหน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่มีเด็กเล็ก จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงพาลูกไปในที่ชุกชุม เพื่อป้องกันยุงกัด เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยลดโอกาสการเป็น โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ไปได้ส่วนหนึ่งเลยค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

เปรียบเทียบสารสำคัญในสเปรย์กันยุงและแผ่นแปะกันยุง ซื้ออย่างไร แบบไหนดี?

6 พาหะนำโรค หน้าฝนที่พ่อแม่ต้องระวังให้ดี!

ดูแลผิวลูกหน้าฝน รับมือเชื้อราและแบคทีเรีย

5 เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน พ่อแม่ที่มีลูกเล็กต้องระวัง !

มารู้จัก คำศัพท์หน้าฝน สนุกๆคุยเล่นแก้เบื่อตอนฝนตกกันดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th, haamor.com, www.chulalongkornhospital.go.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up