เด็กแต่ละวัย แรกเกิด-6 ปี ควร "ตรวจสุขภาพ" อะไรบ้าง? - Amarin Baby & Kids
ตรวจสุขภาพ

เด็กแต่ละวัย แรกเกิด-6 ปี ควร “ตรวจสุขภาพ” อะไรบ้าง?

Alternative Textaccount_circle
event
ตรวจสุขภาพ
ตรวจสุขภาพ

นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลูกน้อยคลอดออกมา คุณหมอตรวจอะไรบ้าง และเด็กแต่ละวัยควรได้รับการ “ตรวจสุขภาพ” ด้านไหน ช่วงไหนบ้าง? คุณหมอแป๊กกี้ เจ้าของเพจ Dr.Pakky หม่ามี้หมอเด็ก ได้สรุปข้อมูลการตรวจสุขภาพที่จำเป็นของเด็กแต่ละวัย ตั้งแต่แรกเกิด-6 ปีไว้ดังนี้

ตรวจสุขภาพ เด็กแรกเกิด ดูอะไรบ้าง?

1. ตรวจความสมบูรณ์ทั่วไปของอวัยวะภายนอก

น้ำหนัก ความยาว เส้นรอบศีรษะ เท้า ขา ข้อสะโพก เสียงปอด เสียงหัวใจ

2. ตรวจการได้ยิน

(ไม่ได้ตรวจทุกคนแต่ถ้าอยู่ในที่ที่สามารถตรวจการได้ยินได้ควรตรวจค่ะ) เนื่องจากในเด็กปกติจะพบมีความผิดปกติของการได้ยินได้ 1-2 คนต่อเด็ก 1000 คน

ที่แนะนำควรตรวจในกลุ่มเสี่ยงคือ

  • ตอนตั้งครรภ์ คุณแม่มีประวัติติดเชื้อไวรัส เช่น หัด ซีเอ็มวี เริม
  • มีประวัติบกพร่องทางการได้ยินในครอบครัว
  • มีความผิดปกติของรูปศีรษะ รูปหู มีติ่งหรือรูหน้าหู
  • หลังคลอดเด็กอยู่ ICU แล้วมีการใส่เครื่องช่วยหายใจ
  • มีประวัติให้ยาบางตัวที่มีพิษต่อหู
  • เด็กตัวเหลืองมากจนถึงต้องถ่ายเลือด

3. ตรวจเลือดคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และโรค PKU

2 โรคนี้ต้องตรวจทุกคนค่ะ ทุกรพ.จะตรวจเลือดให้ก่อนลูกกลับบ้านอยู่แล้วค่ะ

4. ตรวจตา

(ไม่ได้ทำทุกคน) แต่แนะนำตรวจในกลุ่มเสี่ยง เช่น คลอดก่อนกำหนด หรือมีโรคทางพันธุกรรมที่มีผลต่อตา

ตรวจสุขภาพเด็ก อายุ 9-12 เดือน

ตรวจสุขภาพทารก

1. ตรวจความสมบูรณ์ทั่วไป

น้ำหนัก ความยาว เส้นรอบศีรษะ เท้า ขา เสียงปอด เสียงหัวใจ

2. ตรวจคัดกรองพัฒนาการ, ออทิสติก

3. ตรวจเลือดคัดกรองภาวะซีดโลหิตจาง

4. ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี

เฉพาะเคสกรณีแม่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้และถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีครบแล้ว ก็มีโอกาส 4 % ที่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นและต้องฉีดวัคซีนอีกรอบค่ะ

5. ตรวจเลือดคัดกรองภาวะตะกั่วเกิน (ตรวจอายุ 9 เดือน-2 ปี)

ตรวจเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม, ในครอบครัวมีการทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับตะกั่ว เช่น เครื่องประดับ ช่างประปา สี เครื่องยนต์ หลอมตะกั่ว กระสุน

6. ตรวจฟันโดยหมอฟัน

โดยทั่วไปแนะนำเมื่ออายุ 1 ปี ค่ะ

ตรวจสุขภาพเด็ก อายุ 1-3 ปี

การตรวจสุขภาพเด็กในช่วงวัยนี้จะเป็นการตรวจน้ำหนัก ส่วนสูง และพัฒนาการทั่วไป

ตรวจสุขภาพเด็ก อายุ 3-6 ปี ดูอะไรบ้าง?

ตรวจสุขภาพเด็ก

1. ตรวจความสมบูรณ์ทั่วไป

น้ำหนัก ความยาว เส้นรอบศีรษะ ขา เท้า เสียงปอด เสียงหัวใจ

2. ตรวจคัดกรองพัฒนาการ

เรื่องกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก การเรียนรู้ สมาธิ

3. ตรวจวัดความดันโลหิต

เนื่องจากเราสามารถพบภาวะความดันโลหิตสูงในเด็กได้ 1.4-6 % โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น คลอดก่อนกำหนด , โรคหัวใจแต่กำเนิด , มีติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ , มีประวัติโรคไตในครอบครัว

4. ตรวจตา

ถ้าเป็นไปได้ แนะนำตรวจกับคุณหมอตาเด็กเมื่ออายุ 4-6 ปี แม้ไม่มีอาการอะไร คุณหมอตาจะตรวจหาภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งพบได้ 2-4% ของเด็ก ตรวจค่าสายตา ตรวจการเห็นสี กล้ามเนื้อตา แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น กะพริบตาบ่อยๆ หยีตาเวลามอง เอียงหัวเวลามอง ควรไปตรวจเลยค่ะ

5. ตรวจฟัน เป็นประจำทุกปี

 

ด้วยรัก หมอแป๊กกี้ พญ.ฐิติมา คุรุพงศ์

#ดีดีคิดส์คลินิก #คลินิกเด็กศรีราชา

ที่มา : guideline in health supervision ราชวิทยาลัยกุมารแห่งประเทศไทย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 


Heatlh Quotient ฉลาดดูแลสุขภาพ หนึ่งใน Power BQ 10 ความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี เริ่มต้นที่คุณพ่อคุณแม่ เตรียมพร้อมในการดูแลรักษาสุขภาพลูกน้อย และทุกคนในครอบครัว รวมถึง สอนให้ลูกน้อยรู้จักดูแลรักษาสุขภาพตนเอง เพราะร่างกายที่แข็งแรงเป็นต้นทุนชีวิตที่ดี สู่การเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ


ติดตามเรื่องราวน่ารู้ และมุมมองในการดูแลเด็ก กับคุณหมอแป๊กกี้

ได้ที่เพจ Dr.pakky หม่ามี้หมอเด็ก

หมอแป๊กกี้

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก มีความสำคัญอย่างไร?

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

อาการหนาวสั่นหลังคลอดลูก เกิดจากอะไร?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up