เมื่อแม่ไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตโดย ทิ้งลูกไว้ในรถ สตาร์ทรถทิ้งไว้และไม่ล๊อครถ โจรจึงเปิดประตูรถและขับออกไป และนี่คือสิ่งที่โจรทำหลังพบเด็กในรถ
โจรแจ้งตำรวจจับแม่!! โทษฐาน “ทิ้งลูกไว้ในรถ”
ทีมแม่ ABK ขอนำข่าวจากรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นอุทธาหรณ์เตือนแม่ ๆ ที่ ทิ้งลูกไว้ในรถ เพื่อไปทำธุระ ไม่ว่าธุระนั้น ๆ จะเร็วหรือนาน การ ทิ้งลูกไว้ในรถ ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เรื่องมีอยู่ว่า มีแม่คนหนึ่งได้พาลูกวัย 4 ขวบ ไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง เพื่อไปซื้อนม เนื้อสัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ คุณแม่ได้ปล่อยให้ลูกรออยู่ในรถคนเดียว และตัวเองก็เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตไป โดยสตาร์ทรถทิ้งไว้และไม่ได้ล๊อครถ เมื่อโจรขโมยรถที่แอบซุ่มดูอยู่ที่ลานจอดรถ เห็นดังนี้ จึงเข้าไปขโมยรถและขับรถออกไป เมื่อขับไปได้สักพัก ก็พบว่ามีเด็กอายุ 4 ขวบนั่งอยู่เบาะหลังของรถ โจรเห็นดังนั้นจึงเลี้ยวรถกลับไปที่เดิม พร้อมทั้งคืนลูกให้กับแม่คนนั้น แต่โจรคนนี้ไม่เพียงแต่คืนเด็กและรถเพียงอย่างเดียว โจรยังได้ดุและตำหนิแม่ถึงอันตรายของการ ทิ้งลูกไว้ในรถ คนเดียว พร้อมทั้งขู่แม่ว่าจะโทรเรียกตำรวจมาจับแม่อีกด้วย นอกจากนี้ โจรยังสั่งแม่อีกว่าให้พาลูกไปด้วยทุกครั้งที่ลงจากรถ ไม่ควรปล่อยลูกไว้แบบนี้!!
แม้ว่าข่าวนี้ยังไม่มีการสูญเสียใด ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากโจรขโมยรถคนนี้กลับใจไม่ขโมยรถแถมยังสั่งสอนแม่อีกต่างหาก แต่ถ้าลองคิดในสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ เช่น หากโจรไม่สนใจว่าเด็กจะเป็นอย่างไร จึงขับรถออกไปและทิ้งเด็กไว้ที่ไหนสักที่ ลองคิดดูว่าเด็กจะหวาดกลัวและอาจเกิดอันตรายอื่น ๆ กับเด็กคนนี้ได้ใช่หรือไม่? หรือหากไม่มีโจรมาขโมยรถคันนี้ล่ะ รถจะถูกจอดทิ้งไว้นาน ๆ จนความร้อนภายในรถเพิ่มสูงขึ้นจนเด็กเสียชีวิตหล่ะ?
ทำไมลืมลูกในรถถึงทำเด็กตายได้?
กรณีเด็กติดอยู่ในรถแล้วเสียชีวิต คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากประตูหน้าต่างปิดสนิท แต่ความจริงแล้วอากาศที่หมุนเวียนอยู่ภายในรถทำให้สามารถคนเรานอนในรถได้นานเป็นชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ที่เด็กจะเสียชีวิตเป็นเพราะสาเหตุต่อไปนี้
- แม้จะติดค้างอยู่ในรถ ก็ยังอยู่ได้นาน แต่ที่เด็กต้องตายก็เพราะความร้อนภายในรถที่สูงขึ้น (เพียง 5 นาทีหลังดับเครื่องยนต์ อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถอยู่ในรถได้) หากอยู่ในรถผ่านไป 10 นาที ร่างกายจะย่ำแย่ และ ภายใน 30นาทีก็จะถึงขั้นเสียชีวิต
- ปกติแล้วร่างกายจะรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้ที่ 37 องศาเซลเซียส เมื่อต้องติดอยู่ในรถที่ความร้อนสูงขึ้นช่วงใหม่ ๆ ร่างกายจะขับความร้อนออกมาในรูปแบบของเหงื่อ แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งร่างกายจะทนไม่ไหว ทำให้ร่างกายหยุดทำงาน เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ทำให้หยุดหายใจ และอวัยวะทุกอย่างหยุดทำงาน หากพบเจอเด็กที่ติดในรถได้เร็วจะเจอในสภาพที่เด็กตัวแดง แต่หากนานกว่านั้นเด็กจะตัวซีดและเสียชีวิตได้
- ดังนั้น จึงห้ามทิ้งลูกไว้ในรถที่จอดกลางแจ้งเป็นอันขาด (ไม่ว่าจะลืมหรือไม่ ) แม้จะอยากจะลงไปธุระนอกรถเร็วหรือช้าก็ห้ามเด็ดขาด หากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่มากับเด็กต้องลงจากรถต้องนำเด็กลงไปด้วยทุกครั้ง
- แม้แต่จะขอเปิดหน้าต่าง เหลือช่องไว้แล้วให้เด็กอยู่ภายใน ด้วยเข้าใจเองว่าการกระทำเช่นนี้เด็กจะปลอดภัย จากการขาดอากาศหายใจ เพราะสาเหตุที่เด็กเสียชีวิต ไม่ใช่เพราะขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะความร้อนต่างหาก
- การเปิดแง้มหน้าต่างรถทิ้งไว้ ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าความร้อนภายในรถจะไม่สูงขึ้นและช่วยให้เด็กปลอดภัยได้ หรือ แม้แต่การรถจอดในที่ร่มก็ใช้ว่าเด็ก ๆ จะปลอดภัยไร้กังวล เพราะความร้อนก็ขึ้นสูงปรี๊ด จนเด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นกัน (แม้อาจจะใช้เวลานานกว่ารถที่จอดกลางแจ้ง)
ป้องกันการลืมลูกไว้ในรถได้อย่างไร?
เพราะทุกความประมาท อาจเป็นหนทางสู่ความตายได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่าผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังการลืมลูกไว้ในรถที่สุด และหากลูกไม่ได้นั่งรถที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนขับ คุณพ่อคุณแม่ควรจะระมัดระวังจุดไหนบ้าง จะป้องกันการลืมลูกไว้ในรถได้ ควรปฏิบัติดังนี้
-
ห้ามทิ้งเด็กไว้ในรถโดยลำพังเด็ดขาด
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องไปทำธุระนอกรถเร็วหรือช้า ใกล้หรือไกล ก็ควรนำลูกลงจากรถไปด้วยทุกครั้ง แม้ลูกจะหลับอยู่ ก็ต้องปลุกลูกให้ตื่นเท่านั้น อย่ากังวลว่าลูกจะงอแง หรือนอนได้ไม่เต็มอิ่ม ถ้าลูกยังง่วงอยู่ เมื่อกลับมาขึ้นรถอีกครั้ง ลูกก็จะหลับต่อได้เอง คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อน การเอาลูกลงจากรถด้วยทุกครั้ง ไม่ใช่เพียงเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น แต่เป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ว่าทุกครั้งที่จอดรถ ลูกต้องลงจากรถ เมื่อลูกไปนั่งรถคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นรถโรงเรียน หรือรถคันอื่น ๆ ลูกก็จะตื่นได้เองเมื่อรถถูกดับเครื่องยนต์ค่ะ
2. แง้มหน้าต่างรถ หรือจอดรถในที่ร่มก็ไม่ได้!
ตามที่ได้ทราบกันไปแล้วว่าสาเหตุที่เด็กที่ติดอยู่ในรถเสียชีวิตนั้น ไม่ได้เป็นเพราะขาดอากาศหายใจตาย แต่เป็นเพราะความร้อน ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด จนอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายหยุดทำงาน หยุดหายใจ ดังนั้น การเปิดแง้มหน้าต่างไว้ แล้วปล่อยลูกให้อยู่ในรถ ก็สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้เช่นกัน นอกจากนี้การจอดรถทิ้งไว้ในที่ร่ม ก็ไม่ทำให้ลูกปลอดภัยได้ แม้จะไม่ได้มีความร้อนจากแดดมาช่วยให้อุณหภูมิภายในรถร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้เด็กที่อยู่ในรถคนเดียวเสียชีวิตได้ เพราะเพียง 5 นาทีหลังดับเครื่องยนต์ อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถอยู่ในรถได้ และการสตาร์ทรถทิ้งไว้โดยไม่ได้ล๊อครถ ก็ยังเป็นโอกาสให้โจรมาขโมยรถพร้อมกับขโมยลูกของเราไปได้ด้วย
3. กรณีที่ต้องให้ลูกติดรถไปกับผู้อื่น
ให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นตรวจสอบด้วยการโทรศัพท์ไปสอบถามเป็นระยะว่า ตอนนี้อยู่ที่ไหน? อย่างไร? เพราะการที่ต้องฝากลูกไว้กับผู้อื่น ซึ่งต้องเข้าใจว่าเขาไม่ได้ดูแลลูกเราเป็นประจำ อาจทำให้หลงลืมหรือเผลอเรอได้ และถ้าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกันก็ควรจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ว่าอยู่กับเด็กเล็กต้องระมัดระวังด้วย แต่ทางที่ดีไม่ควรปล่อยลูกวัยเด็กเล็กฝากไว้กับผู้อื่น ควรจะต้องมีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวประกบเด็กเล็กด้วยทุกครั้ง
4. กรณีที่เป็นรถโรงเรียน
พ่อแม่ต้องมั่นใจก่อนว่าจะตัดสินใจใช้บริการรถโรงเรียนของโรงเรียนหรือไม่ ความจริงไม่อยากแนะนำให้ลูกวัยเด็กเล็กใช้บริการรถโรงเรียน แต่ก็เข้าใจดีว่าด้วยสภาพการจราจรและวิถีชีวิตอาจทำให้ต้องตัดสินใจใช้บริการรถโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถตู้ทึบ ฉะนั้น พ่อแม่ต้องดูถึงมาตรการความปลอดภัยของรถโรงเรียนด้วย หลักการเลือกรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย มีดังนี้
- ปัจจุบันกรมขนส่งทางบก อนุญาตให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2 (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือรถตู้โดยสาร) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ ดังนี้
- กรณีเป็นรถตู้โดยสาร ต้องเป็นรถที่มีป้ายทะเบียนสีขาว ตัวหนังสือและตัวเลขสีฟ้า จัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น
- กรณีเป็นรถกระบะที่มีลักษณะเป็นที่นั่งสองแถว ต้องเป็นรถที่มีป้ายทะเบียนสีขาว ตัวหนังสือและตัวเลขสีฟ้า หากมีทางขึ้นลงอยู่ด้านท้ายรถ ต้องปรับปรุงตัวรถให้ประตูและที่กั้นกันนักเรียนตกจากตัวรถ โดยที่นั่งท้ายรถไม่ควรต่อเติมยื่นเกินขอบท้ายรถ เพราะอาจจะทำให้เด็กตกจากตัวรถได้
- รถรับส่งนักเรียนคนนั้นต้องผ่านการรับรองจากโรงเรียน โดยต้องได้รับหลักฐานการรับรองจากโรงเรียน เพื่อนำหลักฐานการรับรองไปยื่นพร้อมเอกสารอื่น ๆ ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อตรวจสภาพรถ และขอจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียน ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ใช้ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น
- ด้านหน้าและท้ายรถ ต้องติดแผ่นป้ายสีส้มสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ คำว่า “รถโรงเรียน” ความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ติดอยู่ด้านหน้า และท้ายของตัวรถให้สามารถมองเห็นข้อความได้อย่างชัดเจน
- ติดไฟสัญญาณสีเหลืองอำพัน เปิดปิดเป็นระยะ (กระพริบ) ติดไว้ที่ด้านหน้าและท้ายรถ ในขณะที่ใช้รับส่งนักเรียน
- ติดฟิล์มกรองแสงแบบโปร่งใส หรือชนิดใส ที่วัดปริมาณแสงผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เพื่อให้เห็นสภาพภายในรถได้ตลอดคัน
- คนขับรถส่งนักเรียนต้องได้รับอนุญาตส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และไม่เคยมีประวัติเสียหายจากการขับรถมาก่อน
- จัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น ติดตั้งเก็บไว้ในที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ หรือมีเหตุฉุกเฉินขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาใช้งานได้โดยสะดวก พร้อมใช้งานได้ทุกขณะ
- ภายในรถรับส่งนักเรียน ต้องไม่มีส่วนแหลมคม ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง
- จัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน
และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องดูถึงเรื่อง ผู้ที่ต้องเป็นคนไปรับส่งลูกว่ามีใครบ้าง คนขับรถเป็นอย่างไร คนที่ติดรถเป็นคุณครูระดับปฐมวัย มีความเข้าใจเรื่องเด็กเล็กไหม เวลารับส่งเด็กขึ้นรถลงรถมีการเช็คชื่อเด็กหรือไม่ แล้วมาตรการของโรงเรียนเป็นอย่างไร เมื่อเด็กถึงโรงเรียนแล้วมีการดับเบิ้ลเช็คอีกครั้งหรือไม่
จากข่าวโจรขโมยรถที่กลับใจ นำรถมาคืนเพราะแม่ ทิ้งลูกไว้ในรถ ได้ทำให้เราตระหนักถึงอันตรายของการปล่อยลูกให้อยู่เพียงลำพังในรถว่าอาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ลูกต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ด้วยคำว่า “แป๊ปเดียว เดี๋ยวมา” กันดีกว่านะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ ที่น่าสนใจ คลิก
ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท หรือไม่ ทำไมไม่ควรอุ้มเด็กนั่งในรถระหว่างเดินทาง
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.insider.com, Drama-Addict, ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่