มะเร็งในเด็ก เนื้อร้ายที่กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเด็กไทย โดยชมรมมะเร็งในเด็กได้ทำการรวบรวมสถิติข้อมูลพบว่า แต่ละปีจะมีอุบัติการณ์การมีเด็กที่เป็นโรคมะเร็งประมาณ 100 คนจากประชากรเด็กในประเทศไทย 1 ล้านคน หมายความได้ว่า ในแต่ละเดือนจะมีเด็กไทยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นประมาณ 80 คน โดยช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือเด็กเล็กอายุประมาณ 0-5 ปี และโรคมะเร็งในเด็กที่พบบ่อยที่สุดคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย มากกว่าร้อยละ 50 รองลงมาคือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมองและระบบประสาท มะเร็งชนิดก้อนของมะเร็งต่อมหมวกไต และมะเร็งไต
มะเร็งในเด็ก เด็กไทยป่วยมะเร็งเพิ่ม 80 คนต่อเดือน!
พญ.ชญามน ทักษ์ประดิษฐ์ กุมารแพทย์ด้านโรคมะเร็งและโรคเลือดในเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3 อธิบายว่า โรคมะเร็งในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเนื้อร้ายแต่ละชนิดจะมีอาการแตกต่างกัน ดังนี้
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะเฉียบพลัน เป็นโรคมะเร็งในเด็กที่พบบ่อยสุดคือประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL) และ Acute Myeloid Leukemia (AML) โดยชนิด ALL มักพบได้บ่อยกว่า AML ถึง 3 เท่า อาการแสดงได้แก่ มีไข้ ซีด อ่อนเพลีย มีจุดจ้ำเลือดตามตัว ปวดตามร่างกายหรือกระดูก หรือตรวจร่างกายพบตับโต ร่วมกับตรวจเลือด CBC พบเซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ การวินิจฉัยโรคทำได้โดยเจาะตรวจไขกระดูกเพื่อดูความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว (blast cells)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบได้บ่อยรองลงมา อาการที่แสดงได้แก่ เด็กมักมีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีก้อนแข็งใต้ผิวหนังหรือต่อมน้ำเหลืองโตตามร่างกาย การวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อจากก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองมาตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดทางพยาธิวิทยา รวมถึงต้องมีการตรวจค้นเพิ่มเติมเพื่อดูการกระจายของตัวโรค เช่น การทางรังสีวินิจฉัย และเจาะตรวจไขกระดูก
- มะเร็งสมองและระบบประสาท อาการที่แสดงจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวโรค ชนิดของเซลล์มะเร็งว่ามีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วหรือไม่ และช่วงอายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจมีอาการเดินเซ อาเจียน มีการมองเห็นผิดปกติ ปวดศีรษะ หรือชัก แต่เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์อายุ การวินิจฉัยจำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซ์เรย์เพิ่มเติมเพื่อดูตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง หลังจากนั้นต้องมีการผ่าตัดเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อจากก้อนส่งตรวจเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยา
- มะเร็งต่อมหมวกไต มักพบในเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี การเกิดโรคค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรง ผู้ป่วยมักมาด้วยก้อนในช่องท้อง ร่วมกับมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการแพร่กระจายของตัวโรค เช่น มีไข้ ซีด อ่อนแรง ปวดตามร่างกายหรือกระดูก หรือมีก้อนแข็งนูนใต้ผิวหนัง การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น เจาะตรวจไขกระดูก ร่วมกับตรวจเลือดหาค่ามะเร็ง หรือตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
ระยะของโรคมะเร็งในเด็กแต่ละชนิดมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ดังนี้
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ ยังไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มลุกลามมากขึ้น
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งโตมากขึ้น และลุกลามเข้าเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง
ระยะที่ 4 ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามรุนแรง แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
สาเหตุการเกิดของโรคมะเร็งในเด็ก
รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยาภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยถึงสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในเด็กว่า กลไกการเกิดโรคมะเร็งในเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างชัดเจน ซึ่งโรคมะเร็งในเด็กนั้นไม่ได้มีปัจจัยภายนอกมาทำให้เกิดโรคมะเร็งและสามารถเป็นได้ตั้งแต่แรกเกิด เป็นโรคที่เกิดได้จากความผิดปกติทางพันธุกรรม ขณะที่กำลังแบ่งเซลล์ออกมาเพื่อสร้างอวัยวะ จนทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง และในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคมะเร็งในเด็กได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในเด็กได้
ทั้งนี้ข้อมูลจาก นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เผยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในเด็ก ยังรวมถึงการติดเชื้อของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น เชื้อ HIV การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี ซี เป็นต้น การได้รับรังสีบางชนิดปริมาณสูงในขณะอยู่ในครรภ์ เช่น รังสีเอกซ์ (รังสีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค) รังสีแกมม่า หรือบริโภคสารก่อมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การกินผักและผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง อาหารตากแห้งที่มีความชื้นมาก การรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ใส่สารกันบูด สารปรุงแต่งรส สีสันต่าง ๆ หรือรมควัน รวมทั้งการขาดสารบางชนิดของคุณแม่ขณะที่ตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้เด็กแรกเกิดสามารถเป็นโรคมะเร็งตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่มีอัตราเกิดโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่
ชมคลิปวิดีโอให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โรคมะเร็งในเด็ก เป็นได้ตั้งแต่เกิดจริงหรือ ? จาก รศ.พญ. กลีบสไบ สรรพกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
มะเร็งในเด็ก ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว หายขาดได้
โรคมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูง ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในเด็กได้ และส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน สิ่งสำคัญที่นอกจากการดูแลสุขภาพของลูกให้มีร่างกายที่แข็งแรง คือการเอาใจใส่ สังเกตอาการ เนื่องจากอาการของโรคมะเร็งในเด็กโดยปกติมักจะไม่มีอาการเฉพาะ หรือสามารถระบุอาการต่าง ๆ ได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ อาการที่พบได้ เช่น คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในร่างกาย มีอาการไข้สูงเป็นๆ หายๆ มีจุด จ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย มีจุดเลือดตามลำตัว แขนหรือขา อาการคล้ายโรคไข้เลือดออก และอ่อนเพลียง่าย เป็นต้น เมื่อพบความผิดปกติจากอาการเหล่านี้ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงที ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดจากโรค
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคมะเร็งในเด็กนั้นมีขั้นตอนและใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับการรักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ โดยมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจวิเคราะห์เม็ดเลือด สำหรับวิธีที่ได้ผลดีและแน่นอนที่สุด คือ การเจาะ ดูด หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบทางเซลล์วิทยาหรือพยาธิวิทยา
สำหรับวิธีการรักษามะเร็งในเด็ก อาทิเช่น การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) โดยคำนวณปริมาณยาจากน้ำหนักตัวของเด็ก วิธีรังสีรักษาหรือการฉายแสง (radiation) ซึ่งจะใช้ในกรณีที่พบว่ามีความรุนแรงของโรคสูงเกิดการแพร่กระจาย ไม่สามารถผ่าตัดและมีอาการดื้อต่อเคมีบำบัด และการผ่าตัด (surgery) ร่วมกับการดูแลป้องกันเรื่องการติดเชื้ออย่างถูกต้อง ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งในเด็กให้หายขาดได้นั้นจะได้ผลดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของเด็กสามารถเจริญเติบโตและพัฒนาได้ขึ้นไปอีก หากเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดี ก็ทำให้มีโอกาสที่จะรักษาโรคมะเร็งในเด็กให้หายขาดได้สูง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง ความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก การตอบสนองต่อเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของเด็กด้วย ในกรณีที่ตัวโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีการกลับเป็นซ้ำของโรค การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อ HLA ตรงกัน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ได้เช่นกัน รวมถึงในอนาคตที่จะมีวิธีการรักษาที่ดีขึ้นตามเทคโนโลยีต่าง ๆ และสามารถรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
การปลูกถ่ายเซลล์ที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอผู้บริจาคที่มีเซลล์เหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์สามารถรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อหรือแม่ได้แล้ว รวมถึงยาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ทำให้ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน หรือติดเชื้อ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
สำหรับวิธีดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในเด็ก ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่ควรพยายามรับประทานอาหารที่ถูกหลักให้ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หรือสารก่อมะเร็งจากอาหาร การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่หรือการใช้สารเสพติด หรือการไปสัมผัสกับสารรังสีที่มีปริมาณสูง เพื่อที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งของลูกในครรภ์ลงได้ ซึ่งถ้าคุณแม่รักษาสุขภาพดีระหว่างตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดออกมาก็จะมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคมะเร็งได้นะคะ ทั้งนี้ยังรวมถึงการดูแลเอาใจใส่สุขภาพลูกน้อยในทุกช่วงวัย หากพบอาการผิดปกติควรรีบพาไปพบแพทย์ทันนีนะคะ.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.rama.mahidol.ac.th, www.sanook.com, www.phyathai.com
ข้อมูลโดย รศ. นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, พญ.ชญามน ทักษ์ประดิษฐ์ กุมารแพทย์ด้านโรคมะเร็งและโรคเลือดในเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่