ช่วงหน้าร้อน นอกจากอากาศที่ร้อนสุด ๆ แล้ว ฤดูร้อนยังนำเอาภัย และ โรคในฤดูร้อน มาทำให้เด็ก ๆ เจ็บป่วยและเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ มาดูกันว่ามีโรคและภัยไหนบ้างที่พ่อแม่ต้องระวัง
7 โรคในฤดูร้อน 3 ภัยจากอากาศร้อน ที่เด็กเล็กต้องระวัง!!
ในช่วงอากาศที่ร้อนอบอ้าวเช่นนี้ เหมาะแก่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหาร โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และในหลาย ๆ โรคหน้าร้อน ก็มีโรคที่อาจจะอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าไม่ระวัง ทีมแม่ ABK จึงขอรวบรวม 7 โรคในฤดูร้อน 3 ภัยจากอากาศร้อน มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ระวังกันค่ะ
7 โรคร้ายที่มากับหน้าร้อน
-
โรคอาหารเป็นพิษ
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษรวม 347 ราย และ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น อาจทำให้อาหารบูดหรือเน่าเสียได้ง่าย ประกอบกับพฤติกรรมการทำอาหารที่อาจสุกไม่ทั่วถึงและไม่สะอาดเพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่ทิ้งไว้นอกตู้เย็นเป็นเวลานาน หรือทิ้งค้างไว้หลังปรุงเสร็จเป็นเวลานานโดยไม่ได้อุ่นร้อนหลังจาก 2 ชั่วโมง กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาด ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์หรือพืชที่มีพิษ เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาดและมีคุณภาพ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อรับประทานร่วมกัน และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง”
จากประกาศจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ณ วันที่ 7 มีนาคม 2564 แสดงให้เห็นว่าโรคนี้เป็นโรคที่เกิดในช่วงหน้าร้อนแทบทุกปี เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย โดยอาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการดังนี้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ สำหรับการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
2. โรคบิด
โรคบิด เป็นอาการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินอาหารของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ร่วมกับการ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด ในเด็กอาจพบอาการชักร่วมด้วย โรคบิดสามารถติดต่อกันได้ผ่านเชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย โดยเมื่อเชื้อปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำ ลงไปในอาหาร หรือตกค้างอยู่ที่มือของผู้ป่วย อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ไม่เพียงเท่านั้นแมลงวันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้อีกด้วย ขณะที่ผู้ป่วยที่มีเชื้อของโรคบิดสามารถเป็นพาหะและแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาที่มีอาการ เพราะจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระทุกครั้งที่ถ่าย และเชื้อจะค่อยๆ หมดไปหลังจาก 2-3 สัปดาห์
โรคบิด เป็นอีก 1 โรคในฤดูร้อน ที่พบได้บ่อย เพราะสามารถติดต่อกันได้จากการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีเชื้อเข้าไป และยังเป็นอีก 1 โรคที่ทำให้เด็กทรมานจากการปวดบิดท้อง วิธีป้องกันโรคบิดอย่างง่าย ๆ คือ ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำสะอาด และทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกทุกครั้ง
3. โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาทที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางที่ควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด เช่น สมอง ไขสันหลัง การเคลื่อนไหว และอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 เป็นต้น คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าโรคนี้เกิดจากการโดนสุนัขกัดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว พาหะนำโรค คือ สัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น สุนัข แมว โค กระบือ สุกร หนู ลิง ชะนี กระต่าย ค้างคาว ฯลฯ
การติดเชื้อ สามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสโรคโดยรับเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคทางบาดแผลจากการถูกกัด ข่วน หรือเลีย และทางเยื่อเมือกในตาและปากเมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้ หากผู้ป่วยมีอาการของโรคแล้ว จะเสียชีวิตเกือบ 100% อย่างไรก็ตาม หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกวิธีหลังการสัมผัสโรค จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อย่างมาก
4. โรคท้องร่วง โรคอุจจาระร่วง
โรคในฤดูร้อน ส่วนมากมักจะเกิดจากอาหาร โรคท้องร่วง อุจจาระร่วงก็เช่นกัน โรคอุจจาระร่วง คือ โรคที่ทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเหลวหรือเป็นน้ำเกินกว่า 3 ครั้ง/วัน หรือมีการถ่ายอุจจาระที่มีเลือดปนอย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน และหากมีการถ่ายอุจจาระ ในลักษณะดังกล่าวนานเกิน 2 สัปดาห์ ถือว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงแบบเรื้อรัง
สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิในลำไส้ จากการรับประทานอาหาร และน้ำไม่สะอาด การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมหรือปรุงอาหาร และภาชนะสกปรก มีเชื้อโรคปะปน อันตรายจากโรคอุจจาระร่วงทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ไปพร้อมกับการถ่ายอุจจาระจำนวนมาก จนอาจทำให้ช็อก หมดสติ และถึงแก่ความตายได้ โดยเฉพาะในเด็ก
บทความที่เกี่ยวข้อง วัคซีนโรต้า จำเป็นไหม?รวมข้อมูลควรรู้ให้แม่ก่อนตัดสินใจ
5. ไข้หวัดแดด
ไข้หวัดแดด (Summer Flu) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับต้องเผชิญอากาศที่ร้อนจัด หรือ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร่างกายปรับตัว กับสภาพอากาศไม่ทัน ทำให้ร่างกายเกิดการสะสมความร้อนไว้ภายใน และด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนชื้น เชื้อโรคจึงมีชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น ไข้หวัดแดดนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เกษตรกร นักกีฬา, เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง, คนอ้วน, ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ, ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งผู้ที่ต้องเข้าออกบ่อย ๆ ระหว่างสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศและสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด
อาการของไข้หวัดแดด มีดังนี้ มีไข้ต่ำๆ (ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียล) วิงเวียน ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัวอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนนอนไม่ค่อยหลับ
หลายครั้งผู้ที่เป็นหวัดมักเกิดความสับสนระหว่าง หวัดแดด กับ ไข้หวัด เพราะอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ในความจริงแล้ว ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ร่วมด้วย ส่วนหวัดแดดจะไม่ค่อยมีน้ำมูก หรือมีน้ำมูกใสๆเพียงเล็ก น้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึก ขมปาก คอแห้ง และแสบคอแทน
โรคหวัดแดด แม้ไม่แสดงอาการที่รุนแรงแต่ความร้อนที่สะสมอยู่ภายในร่างกายย่อมส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน ดังนั้นเด็กที่เป็นไข้หวัดแดด จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายใน ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ หรืออาจทานยาลดไข้ ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้มักจะหายเป็นปกติใน 2 สัปดาห์
6. โรคไข้เลือดออก
แม้จะอยู่ในช่วงหน้าร้อน แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว อาจทำให้ในบางพื้นที่เกิดฝนตกได้ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย สาเหตุของโรคไข้เลือดออกได้ เพราะในช่วงหน้าร้อน มีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น หากลูก ๆ มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ และถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
ทั้งนี้ แนะนำให้ปฏิบัติตามหลักในการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ใช้กันในฤดูฝน ซึ่งก็คือ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
- เก็บบ้าน ให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- และ เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่
การทำตามหลักในการป้องกันโรคนี้ สามารถป้องกันได้ถึง 3 โรคด้วย คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
7. ผดร้อน โรคผิวหนังในหน้าร้อน
ยิ่งอากาศร้อน ก็มักจะมีเหงื่อเยอะ ทำให้เกิดการอับชื้น เกิดผด ผื่น และ การการระคายเคืองที่ผิวหนังได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีผิวที่บอบบาง ดังนั้น ในฤดูร้อนนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง โรคทางผิวหนัง ดังนี้
-
- ผด ผดร้อน เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้เหงื่อออกมาก เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบของรูขุมขน เกิดผดเม็ดเล็ก ๆ แดง ๆ หรือเป็นเม็ดใส ๆ พบมากในเด็กเล็กโดยที่ผดมักขึ้นรอบ ๆ คอ หน้าผาก ส่วนผู้ใหญ่มักเป็นที่คอ เนื่องจากใส่เสื้อคอปิด ใส่สร้อย จะทำให้อับเหงื่อจนเกิดอาการคัน
- กลาก และผดผื่นที่เกิดจากการอับชื้น มักพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ มีอาการคัน หากมีเชื้อราเข้ามาร่วมด้วย ผื่นจะขยายเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน มีขุย และมีอาการคันมาก
- โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษในหน้าร้อน เพราะถ้าเหงื่อออกมากจะมีผื่นคันบริเวณคอ ข้อพับ แขน ขา ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อน อับหรือมีฝุ่นละอองมาก เนื่องจากจะทำให้คันมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องประดับที่ทำจากสารนิกเกิลเพราะจะทำให้ผิวหนังอักเสบเกิดผื่นแพ้ได้
3 ภัยจากอากาศร้อน ที่เด็กเล็กต้องระวัง!!
-
Heat Stroke โรคลมแดด ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน
Heatstroke เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์อย่างแท้จริง ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถลดอุณหภูมิกายลงได้ และเป็นผลให้เกิดมีภยันตรายต่อระบบอวัยวะน้อยใหญ่ได้อย่างกว้างขวาง ผู้ที่เป็นโรคลมแดด จะมีอาการดังนี้ ผิวหนังร้อน ตัวสั่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ปวดศีรษะ พูดช้าสับสน เห็นภาพหลอน หายใจเร็วตื้น เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว มีไข้สูง หมดสติ ช็อก และหากได้รับการรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
จริงๆ ทุกคนสามารถเป็นโรคลมแดดได้ หากทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งตอนที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน แต่กับบุคคล 3 กลุ่มนี้อาจต้องให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ นั่นคือ ในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะด้วยร่างกายแล้วไม่สามารถทนกับความร้อนได้มากและนาน ทำให้ง่ายต่อการเกิดภาวะลมแดด วิธีป้องกัน คือ ดื่มน้ำบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัด ๆ ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย
2. ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน และฝุ่น
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับฝุ่น หมอก และควัน ทำให้มีความเสี่ยงเจ็บป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีวิธีการป้องกัน เช่น ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้าน สวมหน้ากากป้องกัน ไม่เผาขยะ ไม่เผาป่า ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และสังเกตหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
3. การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ
การจมน้ำยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าสาเหตุอื่นๆ ทั้งโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2563) เราสูญเสียเด็กไทยจากการจมน้ำไปแล้ว 7,794 คน เฉลี่ยปีละเกือบ 800 คนหรือวันละ 2 คน โดยเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปีมากที่สุด (ร้อยละ 39.7) รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (ร้อยละ 35.4) และกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี (ร้อยละ 24.9) โดยช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่เกิดเหตุจมน้ำสูงสุด ในปี 2563 ที่ผ่านมามีเด็กจมน้ำเท่ากับ 135 คน หรือประมาณร้อยละ 33.7 ของการจมน้ำเสียชีวิตตลอดทั้งปี ทีมแม่ ABK ขอนำคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เฝ้าระวังอันตรายจากเด็กจมน้ำ ดังนี้
-
- สอนให้ลูกรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยง และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และกฎความปลอดภัยทางน้ำ
- คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำตามลำพัง
ทั้ง โรคในฤดูร้อน และภัยที่เกิดจากอากาศร้อน ล้วนเป็นอันตรายและสร้างความทรมานให้กับเด็กเล็กทั้งสิ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าระวังและป้องกันทั้ง โรคในฤดูร้อน และภัยที่เกิดจากอากาศร้อน ในหน้าร้อนนี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับลูก ๆ นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
14 เมนูคลายร้อนทําง่าย สูตรอร่อยจากผลไม้ ลูกกินได้แถมมีประโยชน์ (เริ่มตั้งแต่ 8 m+)
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่