เด็กโรคหัวใจ ต้องดูแลอย่างไร?
เด็กที่ป่วยโรคหัวใจ อย่างที่บอกไปข้างต้นค่ะว่า มีทั้งที่ไม่รุนแรง ไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ต้องดูแลรักษาระวังสุขภาพให้มากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และเด็กอีกกลุ่มคืออาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ยังไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากอายุยังน้อยอยู่ โดยมากต้องรอให้โต และต้องมีร่างกายที่แข็งแรงพร้อมเข้ารับการผ่าตัด
แต่ระหว่างนี้เด็กทั้ง 2 กลุ่ม ควรต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำเอาคำแนะนำในการดูแลเด็กโรคหัวใจ จาก ศ.นพ.ชาลี พรพัฒน์กุล มูลนิธิเด็กโรคหัวใจแห่งประเทศ[2] มาให้ทราบกันดังนี้ค่ะ
1. ด้านโภชนาการ
ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจและไม่มีอาการ ให้การดูแลเช่นเด็กปกติ ให้อาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในเด็กที่มีอาการหัวใจวาย มีอาการหอบบวมควรให้อาหารลดเค็ม ให้น้ำพอสมควร เด็กที่เขียวควรให้อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินได้พอเพียงกับปริมาณของเม็ดเลือดแดง เพื่อป้องกันการเกิดอาการทางสมอง
2. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ไม่ว่าเด็กจะเป็นโรคหัวใจชนิดใดให้ได้เช่นเด็กปกติ แต่ควรเลือกช่วงเวลาที่เด็กสบายๆ ไม่มีการเจ็บป่วยหนักขณะนั้น
3. การออกกำลังกาย
ในกลุ่มเด็กที่ไม่มีอาการทำได้เช่นปกติ (ยกเว้นบางกรณี เช่น มีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจบางชนิด หรือลิ้นหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ถึงแม้เด็กจะไม่มีอาการเมื่ออยู่เฉยๆ แต่อาจมีอาการมากมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เมื่อออกกำลังกาย ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ให้ชัดเจนว่าสามารถออกกำลังกายได้แค่ไหน เล่นกีฬาแข่งขันได้หรือไม่ ในกลุ่มเด็กที่มีอาการส่วนใหญ่เด็กมักจะจำกัดตัวเองอยู่แล้วก็ควรปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ก็ต้องไม่ให้เด็กหักโหม
4. การป้องกันโรคแทรกซ้อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อจากฟันหรือช่องปาก ต้องดูแลสุขภาพฟันให้ดี รับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน หรือการผ่าตัดบางชนิดตามคำแนะนำของแพทย์ (ดูหัวข้อภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจและการป้องกัน) ในเด็กที่เขียวควรระวังอย่าให้เด็กเสียน้ำมากเวลามีอาการท้องเสีย อาเจียน หากมีอาการตัวเกร็งเป็นลมหมดสติควรทราบวิธีปฏิบัติดูแลเด็กก่อนพามาโรงพยาบาล
5. ควรมีความเข้าใจอย่างดียิ่งในการให้ยาทางโรคหัวใจ
ในรายที่จำเป็น เช่น ก่อนและหลังการผ่าตัด หรือในเด็กบางรายที่จำเป็นต้องได้ยาตลอดชีวิต เช่น เป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจหรือเป็นโรคหัวใจบางชนิดที่ไม่สามารถผ่าตัดให้หายขาดได้ หรือการฉีดยาทุก 3-4 สัปดาห์เป็นระยะเวลานานๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจรูห์มาติค เพื่อป้องกันการสับสน ให้ยาผิดขนาดหรือเลิกไปเองก่อนเวลาอันสมควร และควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของยาที่ใช้ด้วยโดยปรึกษากับแพทย์ผู้ให้การดูแล[2]
สุขภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก สำหรับลูกวัยทารกหากพบมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบพาไปพบคุณหมอทันที เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพต่างๆ ลงค่ะ โดยเฉพาะโรคหัวใจในเด็ก พบอาการก่อน ตรวจวินิจฉัยได้เร็ว รักษาตรงกับกลุ่มอาการของโรคหัวใจ ลูกก็มีโอกาสหายขาดได้ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ลูกปวดท้อง อย่านิ่งนอนใจ! 4 โรคร้ายที่อาจแอบแฝง
ลูกนอนกรน อย่านิ่งนอนใจ 2 โรคนี้อาจถามหา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1นายแพทย์อภิชัย คงพัฒนะโยธิน กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ. 5 อาการสังเกตเจ้าตัวน้อยหัวใจผิดปกติ
2ศ.นพ.ชาลี พรพัฒน์กุล มูลนิธิเด็กโรคหัวใจแห่งประเทศ.เด็กโรคหัวใจ ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษบ้าง?.มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ