โรคขี้เต็มท้อง ในเด็กก็เป็นได้หากปล่อยให้ ท้องผูก นานไป - Amarin Baby & Kids
โรคขี้เต็มท้อง ท้องผูก

โรคขี้เต็มท้อง ในเด็กก็เป็นได้หากปล่อยให้ ท้องผูก นานไป

Alternative Textaccount_circle
event
โรคขี้เต็มท้อง ท้องผูก
โรคขี้เต็มท้อง ท้องผูก

ท้องผูก นานไปใช่ว่าดี อย่าปล่อยให้ลูกอั้นอุจจาระเพราะอาจอุดตันจนกลายเป็นโรคขี้เต็มท้อง ถ่ายทุกวันใช่ว่าไม่เป็น สังเกตลักษณะก้อนอึบอกได้ ปรับก่อนสายเกิน

โรคขี้เต็มท้องในเด็กก็เป็นได้!! หากปล่อยให้ ท้องผูก นานไป

โรคขี้เต็มท้อง เป็นคำที่เป็นประเด็นหัวข้อในการสนทนากันมากมายในช่วงนี้ กับวลีจากคุณตุ๊กตา จมาพร นักร้องสาวเดอะวอยซ์ซีซั่น 2 ว่า “ไม่ได้อ้วน แต่ป่วยเป็นโรคขี้เต็มท้อง” พร้อมทั้งโชว์ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์แสดงให้เห็นช่วงช่องท้องสร้างความตื่นตกใจ และมีผู้ที่มีอาการเข้าข่ายเหมือนกันเป็นจำนวนมาก แต่รู้หรือไม่ว่า โรคขี้เต็มท้อง ไม่ใช่ว่าเป็นโรคเกิดใหม่ หรือโรคที่เพิ่งค้นพบแต่ประการใด แต่เรารู้จักกันดีกับ “ภาวะท้องผูก” หรือโรคท้องผูกนั่นเอง

นพ.สรวิชญ์ วิจิตรพรกุล ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดส่องกล้อง ได้อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า จริงๆ เป็นโรคธรรมชาติ สมัยก่อนเราเรียกอาการเหล่านี้ว่า “ภาวะท้องผูก” หรือ “โรคท้องผูก” ปกติในลำไส้ใหญ่มนุษย์ทุกคน จะมีอุจจาระ หรือกากอาหารอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกขับถ่ายออกทุกวัน บางคนถ่ายวันละครั้ง 2 ครั้ง หรือถ่าย 2 วันครั้ง ซึ่งตราบใดก็ตาม ที่การถ่ายอุจจาระออกมาไม่เป็นเรื่องยากลำบาก ก็จะเรียกว่าขับถ่ายเป็นปกติ แต่พอมีอุจจาระที่คั่งค้างอยู่ในลำไส้นาน มันจะถูกดูดซึมน้ำออกไปตามธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อเก็บหมักหมมมานาน แล้วไม่ได้ถ่าย ก้อนอุจจาระที่ถูกดูดน้ำออกไปทุกวันก็จะแห้งหรือแข็งขึ้น พอแข็งขึ้นปัญหาคือ ทางเดินของมันปกติมีส่วนการหล่อลื่น ที่ช่วยการกระตุ้น พอมีกากอาหารเยอะในระดับหนึ่ง มันก็กระตุ้นให้เราอยากเข้าห้องน้ำเพื่อระบายออก แต่พอเราไม่ได้ระบายออกด้วยเหตุอะไรก็ตาม ก็จะทำให้ถ่ายยาก แล้วก็จะคั่งค้างอยู่ในท้องจนที่เรียกกันว่า “ขี้เต็มลำไส้”

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก www.thairath.co.th
ท้องผูก โรคขี้เต็มท้อง
ท้องผูก โรคขี้เต็มท้อง

ท้องผูกแค่ไหนต้องกังวล!!

โดยส่วนใหญ่เรามักเข้าใจว่าท้องผูก (Constipation) คือ การที่ไม่มีการขับถ่ายหรือมีความถี่ในการขับถ่ายลดลงกว่าปกติ การมีอุจจาระที่แข็งและยากต่อการขับถ่าย ซึ่งจริง ๆ แล้วถูกต้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ภาวะท้องผูกในทางการแพทย์ยังรวมไปถึงการมีอาการใดอาการหนึ่ง ดังนี้

  • การมีอุจจาระแข็ง
  • ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระลดลงกว่าปกติ
  • ใช้เวลานานในการเบ่งถ่าย
  • มีความเจ็บปวดเวลาเบ่งถ่ายหรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
  • หลังถ่ายอุจจาระเรียบร้อยแล้วยังมีความรู้สึกถ่ายไม่หมดหรือถ่ายอุจจาระไม่สุด

ซึ่งส่วนมากแล้วภาวะท้องผูกมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และเป็นได้ในทุกช่วงอายุ โดยส่วนใหญ่พบในวัยทำงาน

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bangkokhospital.com
เด็กก็ท้องผูกได้นะ!!
 สังเกตกันไหมว่า หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยยอมรับประทานอาหาร และชอบบ่นปวดท้อง บางคนอาจมีอาการปวดท้องมากจนเดินตัวงอเหมือนเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ บางทีลูกอาจไม่ได้เป็นโรคอื่น แต่เขามีภาวะท้องผูก ซึ่งพ่อแม่ควรสังเกตอาการอื่นต่อ เช่น มีไข้ ซึ่งแสดงถึงภาวะติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วอาการปวดท้องจากท้องผูกมักไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เมื่อได้ถ่ายก็จะหายปวดได้เอง
ภาวะท้องผูกในเด็ก ไม่ใช่โรคร้ายแรง เป็นเพียงอาการหนึ่งซึ่งเกิดจากพฤติกรรม รู้หรือไม่ว่า 95% ของการท้องผูกในเด็กเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และนิสัยในการขับถ่าย เนื่องด้วยสภาพแวดล้อม แนวทางดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่เร่งรีบ ประกอบกับการเลือกรับประทานอาหารของเด็กยุคนี้ มักมีแต่อาหารฟาสต์ฟู้ด ขาดการรับประทานผัก และผลไม้ที่เพียงพอทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายแล้วเจ็บ เมื่อเจ็บก็ทำให้เด็กกลัวการขับถ่าย จึงกลั้นอุจจาระ ซึ่งถ้ากลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย อุจจาระอยู่ในร่างกายนานๆ ก็จะแข็งขึ้น ก้อนใหญ่ขึ้น จึงเกิดอาการท้องผูกตามมาในที่สุด
เด็กก็ ท้องผูก ได้นะ
เด็กก็ ท้องผูก ได้นะ

กลั้นอึไว้ไม่ดีนะ!!

การกลั้นอุจจาระ เป็นสาเหตุทางพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะท้องผูก มีอุจจาระเต็มท้องได้ หากเรากลั้นอุจจาระ หรือปล่อยให้ลูกกลั้นไว้บ่อย ๆ จะส่งผลต่อสุขภาพของร่างกายได้ ดังนี้
  • อุจจาระไม่เป็นเวลา

หากเรากลั้นอุจจาระบ่อย ๆ เวลาที่อยากถ่ายจริง ๆ ก็จะถูกเลื่อนออกไป ทำให้อุจจาระไม่เป็นเวลา และหากยังฝืนร่างกายไม่อุจจาระในเวลาที่ควรถ่าย ร่างกายจะเริ่มเข้าใจว่าเราไม่อยากถ่ายจนไม่สามารถขับอุจจาระออกมาได้ เพราะเลยเวลาที่ลำไส้ใหญ่บีบตัวเพื่อเตรียมขับถ่ายไปแล้วนั่นเอง

  • ท้องผูก

การกลั้นอุจจาระ คือการไม่ให้ร่างกายขับของเสียออกมาในเวลาที่เหมาะสม หากกลั้นอุจจาระนานจะทำให้อุจจาระร่นกลับเข้าไปค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ จนทำให้ครั้งต่อไปขับถ่ายลำบาก เพราะมีของเสียจำนวนมากที่ต้องการระบายออก และถูกอัดแน่นจนแข็ง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก หรือโรคขี้เต็มท้องได้

  • อาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดท้องบิด

หากกลั้นอุจจาระนาน ๆ จนมีก้อนอุจจาระเต็มท้องยาวไปยันความยาวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้บีบตัวไม่ได้ เบ่งก็ไม่ออก จนทำให้ปวดท้องบิดไปทั่ว หากรุนแรงมากทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหารได้ เมื่อลูกมีอาการเช่นนี้มักจะทำให้พ่อแม่กังวลใจจนพาลูกมาพบหมอ

  • ริดสีดวงทวาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่

เมื่อระบบการขับถ่ายเริ่มรวน ทำงานไม่ปกติ อุจจาระเริ่มเป็นก้อนแข็ง และบาดปากทวารหนัก หรือทำให้ด้านในของทวารหนักปลิ้นออกมาข้างนอก จะทำให้ถ่ายแล้วมีเลือดออก อาจเป็นสัญญาณของโรคริดสีดวงทวาร และยังอาจมีความเสี่ยงไปถึงมะเร็งลำไส้ในอนาคตได้เช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.vejthani.com
โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารเพิ่มกากใย ช่วยระบายท้อง
โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารเพิ่มกากใย ช่วยระบายท้อง

สังเกตอย่างไรว่าลูกท้องผูก!!

เด็กจะถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป และในขณะถ่ายท้องเด็กจะเบ่งนาน บางครั้งอาจจะมีอาการท้องอืด แน่นท้องร่วมด้วย หากปล่อยไว้ลูกจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณรูทวารหนัก อาจมีแผลปริแตกหรือบวม อุจจาระมีเลือด หากลูกต้องเบ่งอุจจาระที่มีขนาดใหญ่และแข็ง อาจทำให้ติ่งเนื้อที่ก้นฉีกขาด เมื่อมีอาการบาดเจ็บที่รูทวาร ลูกจะไม่อยากเข้าห้องน้ำอีกแล้ว ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังตามมา
เมื่อท้องผูกเรื้อรัง ลูกจะมีพฤติกรรมแปลกๆ พยายามกลั้นอุจจาระ ยืนเบ่ง ไม่กล้านั่งถ่าย เขย่งเท้า ขาเกร็ง หนีบก้นจนหน้าซีดเหงื่อออก หากจับลูกให้นั่งถ่ายก็จะร้องไห้ต่อต้านไม่อยากทำ ซึ่งหากปล่อยไว้อย่างนี้นานๆ แล้ว น้ำจะถูกดูดซึมออกจากอุจจาระมากขึ้น ทำให้แข็งและเป็นก้อนใหญ่ ถ่ายลำบาก เมื่อลำไส้ใหญ่ถูกยืดมากจนระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกที่ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเสียไป ความรู้สึกอุจจาระก็จะลดลง ต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ

อึเล็ด (Encopresis) ภาวะที่มีอึเหลวเล็ดออกมาเปื้อนกางเกง เพราะมีอึก้อนใหญ่ที่เด็กกลั้นไว้จนอึเละ ๆ ล็อตใหม่ แซงหน้าออกมาแทน พ่อแม่มักพบอึเปรอะกางเกงลูกทุกวัน และมักคิดไปเองว่าลูกท้องเสีย แต่ในความเป็นจริงนั้น คือ ลูกท้องผูกเรื้อรัง

เมื่อลูกท้องผูกเรื้อรัง…

เมื่อลูกคุณเข้าสู่ภาวะท้องผูกเรื้อรังแล้ว ควรพามาหาหมอ เพื่อรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง หมอจะทำการตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก (Anorectal Manometry) เป็นลำดับแรก เพื่อวินิจฉัยว่าอาการท้องผูกเรื้อรังเกิดจากอะไร หากเกิดจากภาวะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายขาดปมประสาทไปเป็นช่วง หรือไม่มีปมประสาทตั้งแต่กำเนิด ต้องผ่าตัดเท่านั้นจึงจะหายขาด

ลูกยืนถ่าย ไม่ยอมเบ่ง ปวดท้องบิด สังเกตพฤติกรรมแสดงถึงอาการ ท้องผูก
ลูกยืนถ่าย ไม่ยอมเบ่ง ปวดท้องบิด สังเกตพฤติกรรมแสดงถึงอาการ ท้องผูก

ป้องกันลูกท้องผูก กันไว้ดีกว่าแก้!!

  • เลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด เพิ่มผักผลไม้ หากเราไม่สามารถให้ลูกเลิกรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดได้ คุณหมอขอแนะนำไว้ ดังนี้
สมมติหนึ่งวันเราทานอาหาร 3 มื้อ มื้อเช้ากินฟาสต์ฟู้ด มื้ออื่นก็ควรหาผักหรือผลไม้กินสักหน่อย หรือถ้าวันไหนยุ่งมากๆ สิ่งที่พอช่วยเรื่องขับถ่ายได้ก็คือ นม, โยเกิร์ต เพราะมีจุลินทรีย์ รวมทั้งทานน้ำให้เพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก นพ.สรวิชญ์ วิจิตรพรกุล ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดส่องกล้อง ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
  • พฤติกรรมการเข้าห้องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด บางทีเด็กห่วงเล่น หรือไม่ชอบเข้าห้องน้ำที่โรงเรียน จึงกลั้นอุจจาระ พ่อแม่สามารถฝึกการขับถ่ายของลูก โดยให้ถ่ายอุจจาระหลังอาหารเช้าทุกมื้อ ครั้งละ 10-15 นาที และดื่มน้ำมากๆ หลังตื่นนอน เพื่อให้ติดเป็นนิสัย สอนลูกว่าถ้าปวดต้องไปเข้าห้องน้ำ การไม่กลั้นไว้เป็นผลดีต่อสุขภาพ เพราะอุจจาระที่ถูกระบายออก เป็นของเสีย การที่ปล่อยให้ของเสียคั่งค้างในร่างกายอยู่มาก ๆ ก็จะเกิดพิษแก่ร่างกาย
  • อีกทั้งควรให้ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยมากๆ เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก ส้ม เป็นต้น เพราะใยอาหารจะช่วยให้อุจจาระอ่อนและขับถ่ายได้สะดวกขึ้น หรือทานโยเกิร์ต น้ำผึ้ง น้ำมะนาว น้ำมะขาม น้ำลูกพรุน ก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน
  • ในเด็กเล็กนมกล่องที่มีโปรตีนสูงมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้ท้องผูกได้ ระวังอย่าให้ลูกรับประทานนมมากเกินปริมาณแนะนำต่อวัน
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกอึยาก ลูกอึไม่ออก ท้องผูกหลายวัน พ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร

นับวันไข่ตก ช่วยเรื่องอะไร? ต้องนับยังไง! เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสท้อง

ของเล่น เด็ก 6 ขวบ ที่ควรมีติดบ้าน ตัวช่วยเสริมพัฒนาการทั้ง IQ และ EQ

อุทาหรณ์..แม่เตือน ล้างขวดนม ผิดวิธี เสี่ยงทำลูกติดเชื้อในกระเพาะอาหารได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up