ยาแก้ไอมีกี่ชนิด
ยาแก้ไอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่
- ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะ ยากลุ่มนี้มักใช้ในอาการไอที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ บางคร้้งจะมียาขยายหลอดลมผสมอยู่ด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ยาขับเสมหะ ช่วยให้ไอและขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างของยา เช่น Guaifenesin (Glyceryl guaiacolate)
- ยาละลายเสมหะ ช่วยทำให้เสมหะละลายได้ง่ายขึ้น ลดการข้นเหนียวของเสมหะ ตัวอย่างของยา เช่น Bromhexine, Ambroxol, Acetylcysteine, Carbocysteine
- ยาแก้ไอสำหรับไอแห้ง ซึ่งจะออกฤทธิ์กดอาการไอ โดยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท จะใช้ในกรณีสาเหตุอาการไออื่น ๆ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ไม่มีเสมหะ เช่น Dextromethorphan, Codeine, Levodropropizine เป็นต้น
ส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้ยากลุ่มนี้ในเด็ก เนื่องจากบางตัวอาจทำให้เกิดการเสพติด หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
วิธีรักษาอาการไอต่าง ๆ เบื้องต้น
- จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ รักษาโดย การรักษาภูมิแพ้ เช่น หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ทานยาแก้แพ้ ใช้ยาพ่นจมูก ล้างจมูก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ไอเลย
- ไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย รักษาโดยยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้คุณหมออาจสั่งยาอื่นร่วมด้วยตามอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการเยื่อบุจมูกบวม ซึ่งคุณหมออาจสั่งในบางครั้ง ยาแก้ไอละลายเสมหะเพื่อลดความเหนียวของน้ำมูก และลดอาการคั่งค้างของน้ำมูกในโพรงไซนัส
- โรคหืด รักษาโดยยาขยายหลอดลม ยาสูดกลุ่ม steroid หรือ ยากลุ่ม montelukast ในบางรายที่มีเสมหะมาก คุณหมออาจสั่ง ยาแก้ไอละลายเสมหะให้บ้างตามอาการ
- หลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยืดเยื้อ รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจสั่ง ยาแก้ไอละลายเสมหะ ร่วมกับยาขยายหลอดลมให้ เพื่อบรรเทาอาการไอตามอาการ
- อาการไอเรื้อรังจากการอักเสบของหลอดลมตามหลังการติดเชื้อ รักษาโดยเฝ้าสังเกตอาการ ไม่ต้องทานยาใด ๆ อาการไอจะลดความรุนแรงลงเรื่อย ๆ จนหายไปได้เองในที่สุด
ส่วนสาเหตุของอาการไอเรื้อรังอื่น ๆ ที่พบได้ในเด็ก เช่น การติดเชื้อโรคบางชนิด ได้แก่ วัณโรค ไอกรน ให้ยาตามเชื้อที่เป็นสาเหตุ โรคกรดไหลย้อน ใช้ยาลดกรด ลดอาการกรดไหลย้อน การสำลักสิ่งแปลกปลอม ก็ต้องเอาสิ่งแปลกปลอมออกโดยเร็วที่สุด
อาการไอในเด็กนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเป็นหวัด และสามารถหายได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่หากว่าอาการไอนั้นเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นเรื้อรังจนรบกวนชีวิตประจำวัน รบกวนการนอน และอาจรบกวนคนรอบข้างหรือเพื่อนที่โรงเรียน ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด
ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการไอร่วมกับอาการต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอก เมื่อหายใจเข้าลึก
- ปากและใบหน้าดูซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีม่วง
- ดูซึมและเหนื่อยล้าอ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- เบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนม
- หายใจไม่ออก และพูดไม่มีเสียง
- อาเจียนติดต่อกัน
- มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไข้ไม่ลดลงแม้ใช้ยาลดไข้
เรื่อง ยาแก้ไอ สำหรับเด็ก ที่ทีมกองบรรณาธิการ ABK รวบรวมข้อมูลมาฝากนี้ คงจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่นะคะ ทั้งนี้อย่าลืมให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เมื่อมีอาการไอ รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด และกลั้วคอด้วยน้ำเกลือนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ทำความรู้จัก ไข้หวัดมะเขือเทศ หลังเด็กอินเดียติดกว่า 100 ราย
enterovirus คือ เชื้อ โรคมือเท้าปาก ชนิดรุนแรงข่าวดีมีวัคซีนป้องกันแล้ว!!
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอใหม่ รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี จากเพจ คุยกับหมอภูมิแพ้เด็ก by Dr.Mai, ผศ.พญ.อาภัสสร วัฒนาศรมศิริ จากเวบ https://www.vibhavadi.com, https://www.pobpad.com, พญ.ฐิติรัตน์ รัตนศิลา จากเวบ https://www.bangkokhospital.com, https://www.synphaet.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่