โควิด อาการ เป็นอย่างไร วิธีสังเกตสัญญาณอันตราย หากมีอาการแบบนี้ต้องรีบไปหาหมอเป็นการด่วน
โควิด อาการ เป็นแบบไหน? โรคร้ายที่ต้องระวัง
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคที่ทุกคนในครอบครัวต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก, หญิงตั้งครรภ์, ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป, คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง, คนที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือกินยากดภูมิต้านทานโรคอยู่ และคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก (คนอ้วนมาก)
ไม่ใช่แค่กลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่ต้องระวัง คนทั่วไปที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดีก็ต้องดูแลตัวเองเช่นกัน เพราะบางทีผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้นไม่แสดงอาการ แต่กลายเป็นพาหะ นำพาเชื้อโรคร้ายสู่คนในครอบครัว
ทำความรู้จักไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นตระกูลของไวรัสที่ก่อให้อาการป่วยตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงมาก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์ก่อให้เกิดอาการป่วยระบบทางเดินหายใจในคน และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ โดยเชื้อไวรัสนี้พบครั้งแรกในการระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปลายปี 2019 ตระกูลโคโรนาไวรัสเป็นสาเหตุการป่วยในคนและในสัตว์ เช่น อูฐ แมว ค้างคาว
การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 นั้น ส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ผ่านทางละอองเสมหะจากการไอ จาม น้ำมูก และน้ำลาย และต้องระวังการแพร่กระจายเชื้อผ่านทางการพื้นผิวสัมผัสที่มีไวรัส เช่น การจับสิ่งของหรือสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ แล้วมาจับใบหน้า ขยี้ตา หรือแคะจมูก หากรู้สึกไม่สบายควรปิดปากและจมูกด้วยทิชชูทุกครั้งที่ไอหรือจามและทิ้งลงถังขยะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไม่เฉพาะโควิด-19
อาการของโควิด-19
อาการสำคัญของโรคติดเชื้อโควิด-19 แบ่งออกเป็นอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย, อาการที่พบได้ไม่บ่อย และอาการรุนแรง ดังนี้
อาการทั่วไป
- มีไข้สูงกว่า 37.5 องศา
- ไอแห้ง
- อ่อนเพลีย
อาการที่พบได้ไม่บ่อย
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- เจ็บคอ
- ท้องเสีย
- ตาแดง
- ปวดศีรษะ
- สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส
- มีผื่นบนผิวหนัง หรือนิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี
อาการรุนแรง
- หายใจลำบากหรือหายใจถี่
- เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
- สูญเสียความสามารถในการพูดและเคลื่อนไหว
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า อาการที่พบมากที่สุดของโรคโควิด-19 ได้แก่
88% ไข้
68% ไอ
38% อ่อนเพลีย
19% หายใจขัด
15% ปวดข้อ/กล้ามเนื้อ
14% เจ็บคอ
14% ปวดศีรษะ
11% หนาวสั่น
5% คลื่นไส้ อาเจียน
4% คัดจมูก
4% ท้องเสีย
1% ไอเป็นเลือด
1% ตาแดงอักเสบ
สังเกตอาการวันต่อวันของโคโรนาไวรัส
อาการของโรคติดเชื้อโควิดนั้น การแสดงออกของอาการแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่จะคล้าย ๆ กันตรงที่ ในช่วงแรกมีไข้สูง ช่วงกลางคัดจมูก และช่วงท้าย ๆ จะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของอาการแบบวันต่อวันมีสถิติที่โรงพยาบาล Zhongnan จาก Wuhan University ได้ศึกษา 138 ตัวอย่าง พบว่า
วันแรก
ไข้สูง 99%
มีอาการเหนื่อยล้า 70%
ไอแห้ง 59%
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 35%
หายใจลำบาก 31%
วันที่ 5
5 วันแรกจะหายใจลำบาก
วันที่ 7
หายใจลำบากกินเวลา 12 – 13 วัน
วันที่ 8
พบอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARDS) ทำให้ปอดรับออกซิเจนได้ไม่เพียงพอ
วันที่ 10
มีอาการของรโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARDS) จากการศึกษาพบว่า หากผู้ป่วยแสดงอาการนี้ในวันที่ 10 จะมีโอกาสรอดชีวิต มากกว่าแสดงอาการในวันที่ 12
วันที่ 12
บางคนไข้สูงถึงวันที่ 12 และไอถึงวันที่ 19
วันที่ 22
อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นในช่วงเวลา 19-22 วัน หลังจากมีอาการในวันแรก ๆ แต่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย
ความอันตรายของโควิด-19 กรณีที่อาการรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดออักเสบ ไตวาย หรืออาจเสียชีวิตได้
ความแตกต่างของอาการโควิด-19 Vs ภูมิแพ้ Vs หวัด Vs ไข้หวัดใหญ่
- ภูมิแพ้ มักมีอาการจาม มีอาการน้ำตาไหล คันตา คัน/คัดจมูก อาจมีน้ำมูกไหล ไปจนถึงไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง เกิดผื่นแพ้หรือผื่นคัน
- ไข้หวัด มักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลลักษณะใส ไอมีเสมหะ จาม เจ็บคอ เสียงแหบ อาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย
- ไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการไข้สูงติดกันหลายวัน มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้ง ๆ จาม เจ็บคอบางครั้ง และมีน้ำมูก
อาการของทั้ง 3 โรคจะแตกต่างจากโควิด-19 อยู่เล็กน้อย เพราะอาการทั่วไปของโควิด ที่เริ่มจากอาการไข้ รู้สึกเมื่อยล้า มีอาการไอแห้ง ๆ หายใจได้ลำบาก บางครั้งอาจมีอาการเจ็บคอ หากมีอาการเจ็บป่วยและรีบไปพบแพทย์ จะมีการตรวจเช็คอย่างละเอียดและใช้การทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันเชื้อ
วิธีป้องกันโควิด-19
- ล้างมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอลเจลหรือด้วยน้ำและสบู่
- รักษาระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านฝอยละอองขนาดเล็กจากจมูกและลำคอซึ่งอาจมีเชื้อโรคได้
- หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
- เลี่ยงการเอามือมาจับตา จมูกและปาก เพราะมืออาจสัมผัสเชื้อโรคและส่งต่อเชื้อโรคไปยังตา จมูกและปาก
- ปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจามด้วยข้อพับของข้อศอก หรือปิดด้วยกระดาษทิชชู จากนั้นทิ้งกระดาษทิชชูทันทีและล้างมือ
- หากรู้สึกไม่สบายควรอยู่บ้านและแยกตัวเองออกจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก คนท้อง และผู้สูงอายุ
หมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกไม่สบาย มีไข้สูงกว่า 37.5 องศา ไอแห้ง และอ่อนเพลีย ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คอย่างละเอียด
อ้างอิงข้อมูล : ddc.moph.go.th , gj.mahidol.ac.th, thairath และ who.int
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ไวรัส RSV ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ อันตรายรุนแรงได้คล้ายอาการ RSV ในเด็ก