CPR คือ อะไร? เรียนรู้ไว้ กู้ภัยให้ลูกรักปลอดภัยเมื่อสำลัก - Amarin Baby & Kids
CPR คือ อะไร

CPR คือ อะไร? เรียนรู้ไว้ กู้ภัยให้ลูกรักปลอดภัยเมื่อสำลัก

Alternative Textaccount_circle
event
CPR คือ อะไร
CPR คือ อะไร

CPR คือ Cardio Pulmonary Resuscitation การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เป็นการช่วยผู้ที่กำลังจะหยุดหายใจ หรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้น ให้ปอดและหัวใจฟื้นคืนชีพขึ้นมา

CPR คือ อะไร? เรียนรู้ไว้ กู้ภัยให้ลูกรักปลอดภัยเมื่อสำลัก

ทีมกองบรรณาธิการ ABK ขอรีวิว!! วันนี้ได้มีโอกาสไปเดินงาน Amarin Baby & Kids Fair ครั้งที่ 21 Presented By Lazada มา และได้ฟังงานเสวนาเรื่อง ภารกิจพิชิตหัวใจ กู้ภัยลูกรักและคนที่รักในครอบครัวให้ปลอดภัยจากการหมดสติ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เป็นงานเสวนาที่มีประโยชน์และได้ความรู้มาก ๆ เลยค่ะ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เราสามารถช่วยเหลือลูก และคนในครอบครัวที่เรารักได้ จึงขอนำความรู้ที่ได้มาแชร์ให้แม่ ๆ ได้อ่านกันค่ะ

Workshop CPR ภารกิจพิชิตหัวใจ กู้ภัยลูกรัก
Workshop CPR ภารกิจพิชิตหัวใจ กู้ภัยลูกรัก 

CPR คือ อะไร? เรียนรู้ไว้ กู้ภัยให้ลูกรักปลอดภัยเมื่อสำลัก

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด โดยเฉพาะหากเกิดกับลูก หรือคนในครอบครัวที่เรารัก แต่หากเกิดขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติให้ดี เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง ด้วยวิธีช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในนานทีฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาการเจ็บหนัก ลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างทันท่วงที

CPR หรือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อที่จะช่วยชีวิตลูก และคนในครอบครัวเท่านั้น หากแต่ยังมีโอกาสช่วยชีวิตผู้อื่น ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

ขั้นตอนการทำ CPR

  1. นำผู้ที่หมดสติมาอยู่ในที่ ๆ ปลอดภัย จากนั้นตบแรง ๆ ที่ไหล่ หรือเรียกดัง ๆ ดูว่ามีสติ หรือมีการตอบสนองหรือไม่
  2. โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 โดยบอกรายละเอียดผู้ป่วย จำนวนผู้ป่วย สถานที่เกิดเหตุ และเบอร์โทรติดต่อกลับ หรือเปิดลำโพงโทรศัพท์ เพื่อทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  3. นำผู้ป่วยให้นอนหงายอยู่บนพื้นราบแข็ง จัดแขนให้อยู่ข้างลำตัว ไม่บิดไปมา
  4. หาตำแหน่งวางมือบนหน้าอก ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ไม่ตอบสนอง ไม่มีสัญญาณชีพ ให้วางส้นมือข้างที่ถนัดไว้ที่ครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก แล้วนำมืออีกข้างหนึ่งวางประกบด้านบน ล็อคนิ้วด้านบน และกระดกปลายนิ้วมือด้านล่างขึ้น โน้มตัวไปข้างหน้า ให้แขนตั้งฉากกับผู้ป่วย จะทำให้ส้นมือเป็นจุดที่สัมผัสกับตัวผู้ป่วยเพียงจุดเดียว ไม่วางมือลงไปบริเวณแผ่นอกทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ซี่โครงด้านซ้ายได้ ในการกดหน้าอก ให้ยกสะโพกขึ้น โน้มตัวไปด้านหน้า ให้แขนตรง ตึง จากนั้นทำการกดหน้าอกทันที แต่ระวังอย่ากดโดนกระดูกซี่โครง เพราะอาจหักได้
  5. กดหน้าอก 30 ครั้ง โดยมีเป้าหมายให้ระบบไหลเวียนเลือดยังทำงาน ถึงแม้ว่าหัวใจจะหยุดเต้นก็ตาม โดยกดให้ยุบลงอย่างน้อย 2 นิ้ว จากนั้นกดแล้วปล่อย กดแล้วปล่อย คือให้หน้าอกยกตัวขึ้นมาให้สุด แล้วจึงทำการกดครั้งต่อไป ทำติดต่อกัน 30 ครั้ง ให้ได้ความถี่ 100 – 120 ครั้ง/นาที โดยนับ 1 และ 2 และ 3 ไปจนถึง 30 และเป่าปาก 2 ครั้ง เป็น 1 รอบ โดยการเป่าปาก ให้ใช้สันมือกดที่หน้าผาก และ 2 นิ้วอีกข้างเชยคาง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ขณะทำการเป่า ประกบปากให้สนิท ใช้ 2 นิ้วบีบจมูก แล้วเป่า สังเกตให้หน้าอกของผู้ป่วยยกขึ้น ทำทั้งหมด 5 รอบ ประมาณ 2 นาที
  6. เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ด้วยการกดหน้าผากลงเบา ๆ แล้วเชยคางขึ้น
  7. กดหน้าอก 200 ครั้ง โดยทำอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 นาที พร้อมประเมินอาการของผู้ป่วย ด้วยการตบไหล่ และเรียกเสียงดัง ๆ ถ้าไม่มีคนช่วย ให้พักได้ไม่เกิน 10 วินาที จากนั้นให้ทำการกดหน้าอกต่อ จนกว่าผู้ป่วยจะมีความเคลื่อนไหว หรือไอ หรือมีผู้นำเครื่องช็อคหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED มา
  8. อีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการทำการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน คือ เครื่อง AED หรือเครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เครื่องสามารถวินิจฉัยจังหวะของการเต้นของหัวใจ และให้การรักษาด้วยการช็อคไฟฟ้า เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นได้อีกครั้ง ใครที่ได้รับการฝึกก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ ระบบอิเลคทรอนิกส์ในเครื่อง จะออกคำสั่งให้เราเป็นผู้ปฎิบัติตาม เริ่มแรกผู้ทำการช่วยเหลือจะต้องกดปุ่มเปิดเครื่อง AED แล้วดึงแผ่นนำไฟฟ้า ติดตามรูปที่แสดง แผ่นแรกจะต้องนำไปติดที่หน้าอกตอนบน ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และแผ่นที่ 2 จะต้องติดที่ใต้ราวนมซ้าย ด้านข้างลำตัว และที่สำคัญคือ จะต้องติดให้แนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วย จากนั้น เครื่อง AED จะทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งขณะนี้ ห้ามผู้ที่ช่วยเหลือสัมผัสตัวของผู้ป่วยเด็ดขาด เมื่อเครื่องวินิจฉัยเสร็จแล้ว จะขึ้นสัญญาณให้ทำการช็อคไฟฟ้า ให้ผู้ช่วยเหลือพูดดัง ๆ ว่า ชั้นถอย คุณถอย ทุกคนถอย แล้วกดปุ่มช็อค ตามสัญญาณที่ปรากฎอยู่บนตัวเครื่อง และสลับกับการทำ CPR แต่ถ้าเครื่อง AED ไม่สั่งให้ช็อค ให้เราทำ CPR อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง โดยการช่วยเหลือควรทำให้เร็วที่สุด จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น

วิธีการช่วยชีวิตกรณีเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 1 ปี สำลักนม อาหารติดคอ หมดสติ

จับบริเวณกรามเด็ก
จับบริเวณกรามเด็ก 
  1. หาที่นั่ง หรือนั่งคุกเข่า ใช้มือจับอยู่ที่บริเวณกรามของเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้กดที่คอเด็ก จับเด็กนอนคว่ำหน้าลงวางบนแขน วางแขนที่หน้าขาด้านเดียวกัน พร้อมทั้งเหยียดขาออกไป ให้ศีรษะเด็กอยู่ต่ำกว่าลำตัว ใช้แขนและลำตัวของเราหนีบขาเด็ก ใช้ 2 นิ้วดันคางเด็ก เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
  2. ใช้สันมืออีกข้างนึง ทุบที่บริเวณระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง ทุบพอประมาณ 5 ครั้ง
  3. สังเกตที่พื้นว่ามีอะไรออกมาหรือไม่ หรือเด็กเริ่มร้องหรือยัง ถ้ามีเสียงร้องแสดงว่าทางเดินหายใจเริ่มเปิดแล้ว
  4. ใช้มือข้างที่ทุบหลัง พลิกตัวเด็กให้นอนหงาย เปิดปากดูว่าเห็นสิ่งที่อุดกั้นทางเดินหายใจหรือเปล่า ถ้ามองเห็นสามารถหยิบออกได้ แต่ถ้าไม่เห็น ไม่ควรล้วง หรือควานหา เพราะสิ่งที่อุดกั้นอาจจะลงไปลึกกว่าเดิม
  5. ให้เด็กนอนศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว ใช้ 2 นิ้ว นิ้วชี้และนิ้วกลาง กดที่กระดูกหน้าอก ตรงกึ่งกลางระหว่างราวนมทั้ง 2 ข้าง จำนวน 5 ครั้ง ระหว่างนี้ สังเกตอีกครั้งว่า มีสิ่งใดตกมาที่พื้น หรือมีเสียงร้องหรือยัง สังเกตในปากว่าเห็นสิ่งใดหรือยัง ถ้าไม่เห็นก็ ห้ามล้วง ห้ามควัก ห้ามควาน
  6. ถ้าเด็กยังไม่ตอบสนอง ให้ทำซ้ำสลับไปมาระหว่างการทุบหลัง 5 ครั้ง และการใช้ 2 นิ้วกดที่หน้าอก จนกว่าจะมีทีมช่วยเหลือมา หรือเด็กมีอาการดีขึ้น คือเริ่มร้องได้ เริ่มหายใจเองได้ จึงหยุดทำ

วิธีการช่วยชีวิตเด็ก หรือผู้ใหญ่ อาหารติดคอ หมดสติ

หาจุดวางกำปั้น
หาจุดวางกำปั้น นิ้วกลางอยู่ที่สะดือ นิ้วโป้งอยู่ใต้ลิ้นปี่ กำมือบริเวณนิ้วชี้

 

รัด กระตุก
รัด กระตุก
  1. หากผู้ป่วยเอามือกุมที่คอ เมื่อสอบถามผู้ป่วยว่ามีอาหารติดคอใช่หรือไม่ ผู้ป่วยพยักหน้า ไม่สามารถพูดได้ นั่นแสดงว่ามีอาหารติดคอ ต้องรีบให้การช่วยเหลือ
  2. เข้าไปที่ด้านหลังของผู้ป่วย หากเป็นเด็กให้คุกเข่า โอบแขนทั้ง 2 ข้างไว้ใต้รักแร้ กำมือไว้ แล้ววางบริเวณเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้
  3. รัดกระตุก แรง ๆ เร็ว ๆ ขึ้นไปข้างบน ลักษณะคล้ายจะยกผู้ป่วยขึ้น
  4. ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะกว่าอาหารจะหลุดออกมา หรือจนกว่าผู้ป่วยจะหมดสติ

การไปร่วมฟังงานเสวนาของ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ในวันนี้ ได้รับความรู้เป็นอย่างมาก การเรียนรู้วิธี CPR คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์มาก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้ไว้ เผื่อวันนึงอาจสามารถช่วยชีวิตคนสำคัญของเราได้นะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

อย่าล้วงคอลูก!หาก สำลักอาหาร อาจอันตรายถึงชีวิตได้

ลูก สำลัก เรื่องเล็กที่คร่าชีวิตได้ พ่อแม่ต้องรู้วิธีช่วย

วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยชีวิตได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่

ชี้เป้า! ตารางกิจกรรมสุดสนุก งาน Amarin Baby & Kids Fair ครั้งที่ 21 “ลูกเรียนรู้เพลิน…แม่เดินช้อปฟิน”

ขอบคุณข้อมูลจาก : ทีมผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR)

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up