อาการของโรคขาดสารอาหาร
อาการแสดงของโรคมีหลายแบบซึ่งมักขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของโรค เช่น
- ถ้าเด็กขาดอาหารไม่มาก เด็กยังดูแข็งแรงดีไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่อาจมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบตามอายุ
- ถ้าเด็กขาดแคลอรีอย่างมาก มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ ผอมแห้ง หนังหุ้มกระดูก ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาลึก แก้มตอบ คล้ายมีภาวะขาดน้ำ มักเรียกโรคขาดอาหารแบบนี้ว่า มาราสมัส
- ถ้าเด็กขาดโปรตีนอย่างมาก มักพบในเด็กอายุ 1-5 ปี ซึ่งถือเป็นภาวะที่รุนแรง อาจตายด้วยโรคแทรกซ้อน เช่น ท้องเดิน ปอดอักเสบ เป็นต้น อาการแสดงของภาวะนี้เด็กจะมีอาการบวมของมือและเท้า หรืออาจบวมที่หน้าหรือบวมทั้งตัว น้ำหนักน้อยกว่าปกติ เซื่องซึม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เบื่ออาหาร ผมบางเปราะแห้งและมีสีจาง ผิวหนังมีผื่นสีกระดำกระด่าง และหลุดลอกเป็นแผลที่บริเวณก้น ขาหนีบและต้นขา อาจมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวและเป็นฟอง โรคขาดสารอาหารแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ควาชิวากอร์(kwashiorkor)
สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบเด็กจะมีน้ำหนักน้อย ผอมแห้ง หรืออาจมีอาการบวม ผมบางเปราะแห้งและมีสีจาง มีอาการซีด ลิ้นมันเลี่ยน ตับโต
ภาวะแทรกซ้อน
เด็กจะมีภูมิคุ้มกันต่ำซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ท้องเดิน ปอดอักเสบ หัด เป็นต้น เมื่อเป็นแล้วมักมีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้ง่ายๆ อย่างก็ดีพบว่าโรคขาดสารอาหาร ทำให้เด็กอาจมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติจากภาวะที่สมองเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
การรักษา
- ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลถ้าเด็กมีอาการบวม เบื่ออาหาร มีท่าทางเซื่องซึม อาจต้องป้อนอาหารทางสายยาง รักษาโรคติดเชื้อ และแก้ไขภาวะอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย
- ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกันถ้าสงสัยว่ามีโรคติดเชื้อที่รุนแรง
- หากไม่มีอาการใดๆ ให้ดูแลรักษาดังนี้
- แนะนำการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง
- ให้การรักษาตามสาเหตุของโรคที่พบร่วม เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย แผลพุพอง ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น
- ให้ยาบำรุงโลหิตหรือวิตามินรวม
การป้องกัน
- ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจนและมีลูกมากไม่ควรหย่านมบุตรเร็วเกินไป
- ให้อาหารเสริมอย่างเพียงพอและถูกต้องแก่ทารก
- ให้วัคซีนป้องกันโรคแก่เด็กเล็ก
- ควรแนะนำการเลี้ยงดูและการให้อาหารเสริมถ้าพบว่าน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ จึงควรหมั่นชั่งน้ำหนักเด็กเป็นระยะๆ หากยังไม่ได้ผลควรแนะนำให้ไปพบแพทย์
- ไม่ต้องงดของแสลงเมื่อเด็กเจ็บป่วย เช่น มีบาดแผลอักเสบ คางทูม หัด อีสุกอีใส เป็นต้น เพื่อบำรุงร่างกายเด็กจึงควรให้กินอาหารประเภทโปรตีนมากๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ และถั่วต่างๆ
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!
- อันตราย!! 8 โรค ที่แถมมาจากโรงพยาบาล ต้องระวังโรคอะไรบ้าง?
- 5 อันดับโรคยอดฮิตของเด็กไทย
- นมแม่ป้องกันโรค ช่วยลูกสุขภาพดีตั้งแต่แรกเกิด
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthcarethai.com