เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง รอบสองทำไมรุนแรงกว่ารอบแรก- Amarin Baby & Kids
เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง

เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง ซ้ำรอบสองทำไมรุนแรงกว่ารอบแรก

Alternative Textaccount_circle
event
เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง
เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง

ไข้เลือดออก โรคร้ายรุนแรงถึงชีวิตได้ เป็นแล้วยังเป็นซ้ำได้อีก จริง ๆ แล้วคนเรา เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง ทำไมไข้เลือดออก ครั้งที่ 2 ถึงรุนแรงกว่าครั้งแรก

ในหนึ่งชีวิต เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง

หน้าฝนทีไร ไข้เลือดออกระบาดทุกที เพราะยุงเป็นพาหะตัวร้ายที่นำพาโรคภัยมาสู่คนได้หลายโรค ทั้งโรคไข้ซิกาจากไวรัสซิกา โรคมาลาเรีย โรคชิคุนกุนยา (โรคไข้ปวดข้อยุงลาย) และโรคไข้เลือดออก

เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง
เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง

ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายเป็นพาหะ ความรุนแรงของโรคนี้จะยิ่งอันตราย เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ของเมืองไทย ตั้งแต่ต้นปี วันที่ 1 ม.ค.-8 ก.ค. 2563 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 25,708 ราย เสียชีวิต 15 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ภูมิภาคที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วน 5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด ประกอบด้วย

  1. ชัยภูมิ
  2. ระยอง
  3. ขอนแก่น
  4. แม่ฮ่องสอน
  5. นครราชสีมา

อาการของโรคไข้เลือดออก

  • ไข้สูงลอย 2-7 วัน
  • เลือดออกที่ผิวหนัง
  • ตับโต กดแล้วเจ็บ
  • มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

3 ระยะสำคัญต่อชีวิต

  • ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ในเด็กต้องระวังอาการชัก มีอาการหน้าแดง เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว อาจพบมีผื่น พร้อมกับเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามตัว บางคนมีเลือดกำเดาไหลหรือเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดออกในอวัยวะภายในร่างกายที่มองไม่เห็น เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้ หากอาการรุนแรงมากจะอาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดออกมาเป็นสีดำ
  • ระยะวิกฤติ/ช็อค 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น พร้อมกับไข้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อาการช็อคอาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค ถ้ามีไข้ 2 วัน หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค ถ้ามีไข้ 7 วัน ภาวะช็อก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะเสี่ยงเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังภาวะช็อก
  • ระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อค หลังจากที่ไข้ลดจะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ช็อคถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ระยะฟื้นตัวจะอยู่ที่ 2-3 วัน

ทำไมคนเราถึงมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง

โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 คนเราสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง แต่จะไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์เดิม เพราะเมื่อเราติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเด็งกี่ชนิดนั้นไปตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อชนิดอื่น ๆ ในเวลาสั้น ๆ 6-12 เดือน ทำให้หนึ่งชีวิตของเรา เป็นโรคไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง

เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง
เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง

เป็นไข้เลือดออก รอบ 2 รุนแรงกว่ารอบแรก

การป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น เลือดออก และช็อกได้ เพราะสายพันธุ์อื่นที่เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจรุนแรงถึงขั้นเลือดออก มีอาการช็อค เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หากเป็นช่วงมีประจำเดือน ก็จะมีปริมาณมากกว่าปกติ การเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงอันตราย ถึงขั้นเสียชีวิตได้

ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล นักจุลวิทยา ผู้เชี่ยวชาญไวรัสเดงกี่ อธิบายว่า คนที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และได้รับเชื้อไข้เลือดออกต่างสายพันธุ์ ในครั้งที่ 2 จะมีอาการรุนแรงขึ้น 15-80 เท่า จากการติดเชื้อครั้งแรก

สำหรับอาการช็อคของคนที่เป็นโรคไข้เลือดออกมักเกิดขึ้น 4-5 วัน หลังไข้ลด ผศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันและโรคเลือด กล่าวว่า อาการช็อคของผู้ป่วยไข้เลือดออกชนิดรุนแรง เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายต่อสู้กับไข้เลือดออก กลายเป็นผลเสียแทน

วิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลดการติดโรค

โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อโดยยุงลายบ้าน หรือยุงลายสวน หากอยู่ในชนบท เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยระยะไข้ ซึ่งมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดอยู่มาก เมื่อยุงตัวนั้นมากัดคน ก็ทำให้ติดโรคไข้เลือดออกได้ การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดจึงต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

  1. เก็บบ้านให้สะอาด ทำความสะอาดบ่อย ๆ ไม่วางของไว้รกรุงรัง เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้ หรือเอาเสื้อใส่ไม้แขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบ ซึ่งเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน พยายามไม่ให้มีภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มรอบ ๆ บ้าน ให้เทน้ำทิ้งเสมอ และคอยสำรวจรอบตัวบ้านไม่ให้มีน้ำขัง ป้องกันการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ต้องปิดฝาให้มิดชิด หมั่นล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงลายไปวางไข่

การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจะป้องกันได้ จะป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

สำหรับผู้ใหญ่ควรสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ส่วนเด็ก ๆ ควรสวมใส่เช่นกัน แต่ต้องพิถีพิถันเลือกเนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อบ เพื่อป้องกันผื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ การใช้สารไล่ยุงภายในบ้านก็ต้องระมัดระวัง เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก หรือมีสารสกัดจากธรรมชาติอย่างตะไคร้หอม เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก และโรคอื่น ๆ ที่มีเจ้ายุงลายเป็นพาหะตัวร้าย

อ้างอิงข้อมูล : nationtv.tvthairath, vibhavadi และ phyathai

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

มือ เท้า ปาก หน้าฝน ระบาดหนัก! เจอ 8 อาการนี้ต้องพาลูกไปหาหมอ

ระวัง ไข้หัดแมว ระบาด! อีกหนึ่งภัยร้าย..บ้านไหนเลี้ยงแมวควรรู้

โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63 รวมโรคเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up