อาการไข้เลือดออก vs อาการโควิด 19
สำหรับ อาการของโรคไข้เลือดออก มีรายงานจากวารสารแลนเซ็ต ที่จัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์ ระบุว่า การแยกความแตกต่างระหว่าง อาการไข้เลือดออก กับ อาการของโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก!
เนื่องจากทั้ง 2 โรค มีลักษณะทางคลินิกและห้องทดลองปฏิบัติการคล้ายคลึงกัน และหากผลตรวจเลือดออกมาเป็นบวก แพทย์มักสรุปก่อนว่าเป็น โรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่ไข้เลือดออกระบาด … ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มดังกล่าวยังให้ความเห็นอีกว่า โรคที่เกิดจากไวรัสทุกอย่างมีความคล้ายกันมาก เช่น อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ที่พบได้ทั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา หรือไข้ชิคุนกุนยา
Must read >> หมอเตือนระวัง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคที่มากับยุง
แต่ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า ไวรัสไข้เลือดออกและไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้อาการเบื้องต้นจะคล้ายกันแต่จะแยกแยะได้เมื่อมีการดำเนินโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งตรวจตามข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ป่วย
สำหรับ วิธีสังเกตอาการไข้เลือดออก และ อาการของโรคโควิด-19 มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน (ไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส) และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน
2. บางรายอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีน้ำมูกหรือไอ แต่จะเบื่ออาหารและอาเจียน
3. อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้
4. พบว่ามีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน
5. ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)
6. ส่วนใหญ่อาการไข้เลือดออกจะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และอาจเกิดภาวะช็อกได้
ส่วนอาการไข้จากโรค โควิด-19
7. แสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก มีไข้ ปวดหัว
8. ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง และมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย
9. หากป่วยในระดับความรุนแรงมาก จะมีอาการปอดบวม หายใจลำบาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
10. อาการที่พบบ่อยคือ มีไข้ (88%), ไอแห้งๆ (68%), หอบเหนื่อย (38%), หายใจลำบาก (18%), เจ็บคอ (14%)
Must read >> อาการเสี่ยงโควิด จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรู้รส?
กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยมี อาการไข้เลือดออก
กลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออก ยังเป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน อายุประมาณ 10-14 ปี แต่ในกลุ่ม อายุ 15 ปีขึ้นมีแนวโน้มของอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยภาคเหนือและภาคกลาง สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม ผู้ใหญ่ (มากกว่า 18 ปีขึ้นไป) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภารใต้สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก (น้อยกว่า 18 ปี)
กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก
ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก โรคไข้เลือดออก อยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก (0-4 ปี) และ วัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีอัตราป่วยและเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 0.28 เนื่องจากผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมักมีโรคประจําตัวเรื้อรัง ทําให้เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก ก็จะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับวาย ไตวาย ที่รักษาได้ยาก นอกจากนี้ผู้ใหญ่ส่วนมากเมื่อป่วยมักซื้อยารับประทานเองหรือไปฉีดยาลดไข้ที่คลินิก ทําให้ไม่ได้ไปตรวจหาสาเหตุของไข้ที่โรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ จึงได้รับการรักษาที่ล่าช้า
วิธีป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก
-
ป้องกันยุงลายกัด ยุงลายมักจะกัดคนในเวลากลางวัน ควรนอนในมุ้งหรือติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงเข้ามาในบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณมุมอับชื้น ทายากันยุงที่สกัดจากพืชธรรมชาติ
-
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป ยุงลายจะเพาะพันธุ์ในน้ำใส ในภาชนะที่เก็บน้ำใช้ในบ้าน เช่น โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้กันมด แจกันดอกไม้ ภาชนะนอกบ้านที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายกระทำได้โดย
- ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด
- ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ
- ทำลายภาชนะที่ไม่จำเป็น เพราะอาจมีน้ำขังได้
- ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงในภาชนะที่มีน้ำขังขนาดใหญ่ เช่น อ่างบัว
- เปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็ก ๆ เช่น แจกันทุก 7 วัน
- ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้านให้เป็นระเบียบ
- ขัดขอบภาชนะทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำเพื่อทำลายไข่ยุงลาย
และเนื่องจากยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคไข้เลือดออก การรักษาจะใช้วิธีประคับประคอง เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ และให้สารน้ำชดเชย เช่น การให้น้ำเกลือเนื่องจากผู้ป่วยมักมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากไข้สูง ถ้ามีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วยไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยหรือตัวเองมี อาการไข้เลือดออก หรือ ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์ทันที และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- ลูก 2 ขวบ ติดโควิดจากแม่ ที่กลับจากโรงพยาบาล
- โรคหน้าฝนในเด็ก ที่พ่อแม่ควรระวัง
- 6 พาหะนำโรค หน้าฝนที่พ่อแม่ต้องระวังให้ดี!
- พ่อแม่ต้องรู้!ข้อห้ามทำเมื่อลูกเจ็บป่วย
ที่มา : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 กรมควบคุมโรค
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.thairath.co.th , www.bangkokbiznews.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่